xs
xsm
sm
md
lg

อนุ ก.ก.ถ.รับลูก จ่อ “ทบทวน” บริหารจัดการภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง ประเดิมขอข้อมูล สศค.เน้นพัฒนาจัดเก็บรายได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อนุ ก.ก.ถ.วินัยการเงินการคลัง รับลูก เตรียมพิจารณา “ทบทวน” การบริหารจัดการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จ่อขอข้อมูล สศค.ประเดิม หลัง ก.ก.ถ.ชุดใหญ่ รับข้อมูล “ทบทวน” จากข้อเสนอปรับปรุงการจัดเก็บภาษี ในระยะสั้น 19 ข้อ และข้อเสนอแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. จำนวน 16 มาตรา 23 ประเด็น หลัง “มหาดไทย -คลัง” ไฟเขียว ช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนจากภาษีที่ดิน

วันนี้ (19 ธ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรการเพื่อเสริมสร้างวินัยทางการเงิน การคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มี ศาสตราจารย์ ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เป็นประธาน

เห็นชอบในหลักการให้ประสาน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง เพื่อขอข้อมูลภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อประกอบการพิจารณา “ทบทวน” การบริหารจัดการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภายหลัง ก.ก.ถ. เห็นชอบ ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

เมื่อต้นเดือน ก.ก.ถ. ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบตาม คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาการจัดเก็บรายได้ของ อปท. หลังจาก คณะทำงานเพื่อจัดทำข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดย คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงในมิติบริบทและสภาพบังคับตาม พ.ร.บ. ได้ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของ อปท.

“เห็นชอบในหลักการของข้อเสนอการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในระยะสั้น และข้อเสนอในการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562”

ทั้งนี้ อนุ ก.ก.ถ.ชุดนี้ เตรียมพิจารณา “ทบทวน” จากข้อเสนอการปรับปรุงการจัดเก็บภาษี ในระยะสั้น 19 ข้อ และ ข้อเสนอในการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ฯ จำนวน 16 มาตรา 23 ประเด็น

ที่น่าสนใจ เช่น

1) อัตราภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของให้เช่า เช่น บ้าน หอพัก อพาร์ตเมนต์ คอนโดให้เช่า ควรจัดเก็บภาษีในอัตราอื่นๆ (พาณิชย์) ไม่ใช่อัตราการใช้ ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย เนื่องจากวัตถุประสงค์คือการให้เช่า ซึ่งเป็นการพาณิชย์ เจ้าของไม่ได้ใช้เพื่ออยู่อาศัย และเดิมการให้เช่าในลักษณะนี้ก็มีการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งเป็นการจัดเก็บภาษีสำหรับการประกอบการพาณิชน์อยู่แล้ว แนวทางนี้ก็เพื่อให้ อปท. ได้มีรายได้ภาษีที่ใกล้เคียงกับภาษี โรงเรือนและที่ดินเดิม

2) ปรับปรุงอัตราภาษีจัดเก็บจริงให้มีความเหมาะสม เนื่องจากภาษีสำหรับกิจการบางประเภทลดลงจากเดิมเป็นจำนวนมาก เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า “โดยอาจเพิ่มอัตราอื่นๆ จากเริ่มที่ร้อยละ 0.3 เป็นร้อยละ 0.5 เพื่อให้เทียบเคียงกับ ฐานรายได้เดิมที่ อปท.เคยเก็บได้”

3) ควรมีการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามควรแก่สภาพให้มีความชัดเจน เพื่อลดปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษี และมิให้ที่ดินรกร้าง ปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่การเกษตรที่ไม่เป็นจริง หรือออกกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

4) ควรมีการกำหนดคุณสมบัติของเจ้าของที่ดินที่ใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรมให้ชัดเจน เพื่อลดช่องโหว่ของกฎหมายที่ถูกใช้ไปในการหลีกเลี่ยงภาษี และเกิดความเป็นธรรมกับผู้ที่เป็นเกษตรกรจริง

5) มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการโดยเฉพาะที่สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนและแก้ไขข้อมูลที่เกิดข้อผิดพลาดทางระบบแผนที่ภาษีที่ดินของ อปท. และให้มี call center เกี่ยวกับแผนที่ภาษีเป็นการเฉพาะในเวลาที่มีปัญหา

6) เพิ่มการประสานข้อมูลที่อยู่ของนิติบุคคลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

7) เสนอให้ อปท. สามารถเข้าถึงและค้นหาข้อมูลทะเบียนราษฎรได้

8) ข้อมูลที่ดินจากกรมที่ดิน ตามมาตรา 10 เสนอให้เพิ่มข้อมูลสิ่งปลูกสร้างด้วย

9) ควรกำหนดแนวเขตการปกครองให้ชัดเจนในกรณีที่มีพื้นที่ทับซ้อนกัน โดยประสานกับทางกรมการปกครอง (กรณีองค์การบริหารส่วนตำบล) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (กรณีเทศบาล)

10) ควรระบุให้ชัดเจนว่า หมู่บ้านสวัสดิการต่างๆ เช่น หมู่บ้านสวัสดิการทหารบก บ้านธนารักษ์ ต้องอยู่ในข่ายที่ถูกประเมินและเสียภาษี และบังคับให้ต้องแสดงหลักฐานการครอบครองหรือใช้ประโยชน์ต่อเจ้าพนักงาน อปท.

11) ควรออกกฎหมายกำหนดผู้รับผิดชอบในการรังวัดที่ดิน ที่มีผู้ครอบครอง/ใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐว่า เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด (เช่น อปท. สำนักงานที่ดิน หรือหน่วยงานอื่นที่ดูแลพื้นที่นั้น)

หรือเป็นหน้าที่ร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ค่าใช้จ่ายในการรังวัดเป็นความรับผิดชอบของผู้บุกรุก

12) เสนอให้กรมธนารักษ์ กำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ครอบคลุมทรัพย์สินที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีทุกประเภท ทุกแปลง ให้เป็นปัจจุบันและมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อลดการใช้ดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่

13) เสนอให้กรมธนารักษ์กำหนดหลักเกณฑ์การเทียบเคียงสิ่งปลูกสร้างแต่ละประเภทของบัญชีรายการสิ่งปลูกสร้างให้ชัดเจนมากขึ้น และต้องจำแนกประเภทละเอียดมากขึ้นตามลักษณะสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่

14) ทรัพย์สินที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทางอากาศ เฉพาะส่วนของที่ดินที่ใช้เป็นทางขึ้น-ลง อากาศยาน ทางขับ ลานจอดอากาศยาน และหลุมจอดอากาศยานระยะไกล “ปัจจุบันมีการลดภาษีอยู่ที่ร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย ควรลดการลดภาษีลงให้ต่ำกว่าร้อยละ 90”

15) ควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ปิดพักกิจการเนื่องจากประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ปัญหาเศรษฐกิจ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ เช่น กิจการโรงแรม เป็นต้น

16) เสนอให้กรมที่ดิน เพิ่มชื่อที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ (ตาม passport) ของชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน เพื่อยืนยันตัวบุคคลในการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของ อปท.

17) การคำนวณฐานภาษีของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในพื้นที่โฉนดชุมชน ให้มีการกำหนดเพิ่มเติมในประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดเก็บภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ที่มีการใช้ประโยชน์หลายประเภท โดยให้ใช้มูลค่าของที่ดินหรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเฉพาะพื้นที่รายแปลงของสมาชิกแต่ละรายมาคำนวณ เพื่อให้ได้มาซึ่งฐานภาษี

18) กำหนดการลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ร้อยละ 90 ให้กับผู้เสียภาษีที่ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรในพื้นที่โฉนดชุมชน

19) กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้มีการจัดเก็บภาษีสำหรับผู้เสียภาษีชาวต่างชาติ ให้มีอัตราภาษีที่สูงกว่าอัตราภาษีสำหรับผู้เสียภาษีที่มีสัญชาติไทย

ส่วนข้อเสนอในการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติภาษีที่ดิน และ สิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

1) มาตรา 5 ควรกำหนดนิยามของสิ่งปลูกสร้าง ให้ชัดเจน และครอบคลุมสิ่งปลูกสร้างที่เข้าข่ายจะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และครอบคลุมถึง สิ่งปลูกสร้างบางประเภทที่เคยเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน เช่น เสาสัญญาณโทรศัพท์กังหันลม แผงโซลาร์เซลล์ ฯลฯ รวมทั้ง ลานดิน และลานคอนกรีต ที่มีการใช้ประโยชน์ เป็นต้น เพื่อทำให้ อปท. มีรายได้ภาษีที่มากขึ้นใกล้เคียงกับการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินแต่เดิม

2) มาตรา 5 พื้นที่ราชการ/พื้นที่ของรัฐ ที่ปล่อยให้เอกชนเช่าทำกิจการเชิงพาณิชย์ ให้หน่วยงานราชการ/หน่วยงานของรัฐเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี อาจให้หน่วยงานราชการ/หน่วยงานของรัฐตั้งงบประมาณเป็นงบประมาณรายจ่ายภาษีหรือเป็นรายจ่ายจากเงินนอกงบประมาณ

3) มาตรา 9 ควรแก้ไขเป็น “ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือเป็นผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ อยู่ในวันที่ 1 มกราคม ของปีใด เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีสำหรับปีนั้น “ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.นี้การเสียภาษีของผู้เสียภาษีตาม พ.ร.บ.นี้ ไม่เป็นเหตุให้เกิดสิทธิตามกฎหมายอื่น” เพื่อให้สอดคล้องกับนิยาม “ผู้เสียภาษี” ตามมาตรา 5

4) มาตรา 9 ควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติให้สำนักทะเบียนกลาง ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีหน้าที่แจ้งข้อมูลตัวบุคคลเกี่ยวกับชื่อ ชื่อสกุล ที่อยู่ และข้อมูลอื่นที่จำเป็น ณ วันที่ 1 มกราคม ให้ อปท. ภายในวันที่ 15 มกราคมของทุกปี เพื่อให้การแจ้งประเมินภาษีของ อปท. เป็นไปด้วยความครบถ้วนถูกต้อง ทำนองเดียวกับมาตรา 10 ที่กำหนดให้กรมที่ดินจัดส่งข้อมูลให้กับ อปท.

5) มาตรา 9 ควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติให้หน่วยงานของรัฐอื่น ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจัดส่งข้อมูลรูปแปลงที่ดินและข้อมูลการครอบครองหรือทำประโยชน์ในทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ณ วันที่ 1 มกราคม ให้ อปท.เพื่อใช้ในการเตรียมการจัดเก็บภาษีภายในวันที่ 15 มกราคมของทุกปี ทำนองเดียวกับ มาตรา 10 ที่กำหนดให้กรมที่ดินจัดส่งข้อมูลให้กับ อปท.

6) มาตรา 13 ปรับปรุงกฎหมายสำหรับการส่งเอกสารของ อปท.ไปยังผู้เสียภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยการแก้ไขเพิ่มเติมความในวรรคสองของมาตรา 13 ว่า “ถ้าไม่สามารถดำเนินการตามวิธีปกติได้ ให้ปิดหนังสือในที่เห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่น ที่อยู่หรือสถานที่ทำการของผู้เสียภาษีนั้น หรือลงประกาศแจ้งความในหนังสือพิมพ์/หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น หรือเผยแพร่ในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของ อปท.ก็ได้”

7) มาตรา 37 กำหนดอัตราภาษีสำหรับผู้เสียภาษีชาวต่างชาติให้มีอัตราภาษีที่สูงกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 37

8) มาตรา 40 ลดการยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างลงให้ต่ำกว่า 50 ล้านบาท เช่น ไม่เกิน 5 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาท โดยปรับขึ้นเป็นสัดส่วนตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของกรมธนารักษ์ตามรอบการประเมิน ในกรณีของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม และในมาตรา 41 กรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัย และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น เพื่อให้เป็นไปตามหลักการความสามารถในการจ่ายภาษี (Ability to pay principle) และเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีที่ต้องเสียภาษีสำหรับที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 เป็นต้นไป ซึ่งแม้มูลค่าฐานภาษีจะไม่สูงแต่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี

9) มาตรา 40 เพิ่มเติมการยกเว้นมูลค่าของฐานภาษี ให้ครอบคลุมผู้เสียภาษีที่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินประเภทอื่นที่ไม่ใช่เฉพาะเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดิน โฉนดแผนที่ และโฉนดตราจอง เท่านั้น รวมทั้งผู้ถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรในพื้นที่โฉนดชุมชน ตลอดจนให้ครอบคลุมถึงผู้เสียภาษีที่เป็นผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีกลุ่มต่างๆ นอกจากนั้น อาจต้องปรับแก้ มาตรา 41 กรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและเจ้าของในพื้นที่โฉนดชุมชน ใช้เป็นที่อยู่อาศัยควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ได้รับการยกเว้นในกรณีบ้านหลังหลักด้วย

10) การยกเว้นภาษีในมาตรา 40 และมาตรา 41 ไม่รวม ผู้เสียภาษีชาวต่างชาติ

11) มาตรา 42 ควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น เป็นของต่างเจ้าของกัน สิ่งปลูกสร้างหลายหลังบนที่ดิน ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกัน และเจ้าของสิ่งปลูกสร้างเป็นเจ้าของเดียวกัน ให้คำนวณมูลค่าสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดรวมกันเป็นฐานภาษี เพื่อให้เกิดความชัดเจนเช่นเดียวกับกรณีที่ดิน

12) มาตรา 44 ควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายโดยเพิ่มเติม ให้เจ้าของทรัพย์สินมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต่อเจ้าหน้าที่ ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือยื่นทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือยื่นทางไปรษณีย์ทุกปี และหากพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่เห็นด้วยกับแบบแสดงรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ย่อมมีอำนาจที่จะสำรวจเพิ่มเติม และทำการประเมินเรียกเก็บภาษีต่อไป ซึ่งจะทำให้ไม่มีปัญหาการเลือกแจ้ง/ไม่แจ้งภาษี และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการส่งจดหมายประเมินได้

13) มาตรา 46 เพิ่มเติมว่า กรณี อปท. แจ้งประเมินภาษีภายหลังเดือนกุมภาพันธ์ ให้ผู้เสียภาษีมีหน้าที่ชำระภาษีภายใน 60 วัน นับแต่ได้รับแจ้งการประเมิน

14) มาตรา 47 ควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เป็นผู้มีหน้าที่ชำระภาษีแทนผู้เสียภาษี ในกรณีผู้เสียภาษีเป็นบุคคลล้มละลายหรือถูกศาลสั่งให้ทรัพย์สินอยู่ในบังคับแห่งคดี

15) มาตรา 53 ควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายโดยเพิ่มเติม ให้ อปท.สามารถประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างย้อนหลังได้ ไม่เกิน 6 ปี เช่นเดียวกับแนวปฏิบัติที่มีการกำหนดไว้ในกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดิน และกฎหมายภาษีบำรุงท้องที่ เพื่อรองรับปัญหาการประเมินที่อาจตกหล่นในปีหนึ่งๆ เพื่อทำให้ อปท.ไม่สูญเสียรายได้ภาษีในส่วนนี้

16) มาตรา 54 และ มาตรา 81 ควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติโดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายคืนแก่ผู้เสียภาษีที่มาขอรับเงินคืนจากร้อยละ 1 ต่อเดือน เป็นร้อยละ 0.5 ต่อเดือน เนื่องจากอัตราปัจจุบันเป็นอัตราที่สูงเกินควร และให้เพิ่มเติมว่า การจ่ายดอกเบี้ยแก่ผู้เสียภาษีเป็นกรณีที่ อปท.ประเมินภาษีผิดเท่านั้น ไม่รวมกรณีที่ผู้เสียภาษีไม่ได้ตรวจสอบและไม่แจ้งแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนั้น ควรปรับลดเงินเพิ่มในมาตรา 70 ด้วย เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกัน

17) มาตรา 59 ควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติให้ระงับสิทธิการเช่าหรืออนุญาตให้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ กรณีปรากฏหลักฐานว่ามีภาษีค้างชำระ

18) มาตรา 61 แก้ไขเป็น เพื่อประโยชน์ในการเร่งรัดภาษีค้างชำระ ให้ อปท. มีหนังสือแจ้งเตือนผู้เสียภาษีที่มีภาษีค้างชำระภายใน เดือนพฤษภาคมของปี หรือภายใน 1 เดือนหลังจากระยะเวลาที่ขยายออกไป เพื่อให้มาชำระภาษีค้างชำระภายในเดือนกรกฎาคมของปี หรือภายใน 2 เดือนหลังจากเดือนที่มีหนังสือแจ้งเตือนผู้เสียภาษีที่มีภาษี ค้างชำระ พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามที่กำหนดในหมวด 9

หมายเหตุ : กำหนดเวลาการรับแจ้ง อ้างอิงจากมาตรา 71 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

19) มาตรา 67 ควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติกรณีการขายทอดตลาดที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามคำพิพากษาให้ครอบคลุมถึงเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามกฎหมายล้มละลายด้วย และกำหนดเพิ่มเติมให้ชัดเจนว่า กรณีหนี้บุริมสิทธิ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างค้างชำระกำหนดให้เป็นลำดับหนี้แรก

มาตรา 67 เสนอแก้ไขเป็นดังนี้ ในกรณีที่เป็นการขายทอดตลาดที่ดิน หรือ สิ่งปลูกสร้างใดตามคำพิพากษา ก่อนทำการขายทอดตลาด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้ง อปท. ให้แจ้งรายการภาษีค้างชำระ สำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และเมื่อทำการขายทอดตลาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กันเงินที่ได้รับจากการขายทอดตลาดเป็นลำดับแรกไว้เท่ากับจำนวนค่าภาษีค้างชำระ และนำส่งเงินดังกล่าวให้อปท.เพื่อชำระหนี้ค่าภาษีที่ค้างชำระดังกล่าว

20) มาตรา 68 การกำหนดเบี้ยปรับของภาษีค้างชำระ ควรกำหนดอัตราเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นตามจำนวนเดือนที่เกินกำหนดเวลาชำระภาษี

21) มาตรา 90 ควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ กรณีกำหนดอัตราเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

22) ควรกำหนดจำนวนภาษีขั้นต่ำที่ต้องชำระ เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนในการดำเนินการจัดส่งเอกสารในแต่ละราย เช่น 200 บาทต่อรายต่อทรัพย์สิน

23) กำหนดเพิ่มเติมว่า เมื่อกรรมสิทธิ์หรือการครอบครองของเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้โอนตกไปยังบุคคลอื่น ให้ผู้รับโอนมีหน้าที่ร่วมกับเจ้าของที่ดินเดิม เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ค้างชำระ

มีรายงานว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ศึกษาวิเคราะห์การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามข้อเรียกร้องของภาคเอกชน

“สศค.ต้องไปศึกษาวิเคราะห์และหารือกับกระทรวงมหาดไทย ว่า มีแนวทางใดที่จะช่วยเหลือแบ่งเบาภาระประชาชนเรื่องภาษีที่ดินได้ เพราะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นรายได้ของท้องถิ่นที่จะนำรายได้จากภาษีไปพัฒนาท้องถิ่น ดังนั้น ต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อความรอบคอบ”


กำลังโหลดความคิดเห็น