ส.ส.แห่ย้ายไปพรรคภูมิใจไทย “ดร.ณัฎฐ์” มือกฎหมายมหาชน อ่านเกมขาด ฟันธงเลือกตั้งสมัยหน้า เสียงไม่พอที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอันดับหนึ่ง แต่รวมเสียงมีผลในการพลิกจับขั้วตั้งรัฐบาล
วันที่ (19 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ส.หลายพรรค แห่ย้ายซบพรรคภูมิใจไทย สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค เป็นนายกรัฐมนตรี ได้หรือไม่ ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” ปรมาจารย์ทางกฎหมายมหาชนและผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญคนดัง ในประเด็นดังกล่าว โดยให้ความรู้กฎหมายแก่ประชาชน ว่า พรรคภูมิใจไทย โมเดลเป็นพรรคการเมืองท้องถิ่นจังหวัดบุรีรัมย์ ลักษณะเดียวกับพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นพรรคการเมืองท้องถิ่น จังหวัดสุพรรณบุรี ของนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ล่วงลับไปแล้ว ขนาดพรรคและความนิยมเฉพาะในพื้นที่ สร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นพรรคการเมืองขนาดกลาง เพื่อจับขั้วการเมืองตั้งรัฐบาล หมายความว่า เทไปทางไหน พรรคที่รวบรวมเสียงได้จำนวนมากจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แตกต่างจากพรรคเพื่อไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ แม้ ส.ส.แห่ลาออกแล้วย้ายซบพรรคภูมิใจไทย ไม่มีหลักการันตีว่า อดีต ส.ส.เหล่านั้น จะได้กลับมาเป็น ส.ส.ได้อีกหรือไม่ เสาเข็มจะกลายเป็นรากฝอยของต้นไม้เท่านั้น ตัวแปรสำคัญ ประชาชนเลือกผู้แทนเหล่านั้นมาเป็นปากเป็นเสียงแทน ตามสัญญาประชาคมที่ให้ไว้ ไม่ได้มอบให้ไปเจรจาต่อรองหรือละทิ้งอุดมการณ์เพื่อผลประโยชน์เฉพาะตนเอง การย้ายพรรคแม้เป็นสิทธิตามกฎหมายของผู้สมัคร ส.ส.จะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 97(3) แต่การแห่กันลาออกย้ายไปพรรคภูมิใจไทย ประชาชนเขามองเกมการเมืองออกว่า ย้ายเพื่อวัตถุประสงค์อะไร??? ปัจจุบันเข้าสู่โลกดิจิทัล ประชาชนเข้าถึงระบบออนไลน์มากขึ้นที่โทรศัพท์มือถือ แตกต่างจากอดีต การเลือกตั้งสมัยหน้า จะเห็นปรากฏการณ์ บ้านใหญ่ในจังหวัดต่างๆ อาจถูกล้มช้างได้ อดีต ส.ส สอบตกได้ หากขัดอุดมการณ์ทางการเมือง และมองเป็นธุรกิจการเมือง ประชาชนจะสั่งสอน อดีต ส.ส เหล่านี้ ในวันเลือกตั้ง ตัวแปรอีกกรณีหนึ่ง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลาออก โอกาสกลับมาน้อยมาก ไม่ว่าจะเสนอตัวลงเขตเลือกตั้ง เพราะฐานเสียงไม่แน่น ไม่ได้ทำพื้นที่ เว้นแต่ลงสมัครบัญชีรายชื่อในเซฟโซน บริบททางการเมืองในปี 2562 กับ 2566 มีความแตกต่างกัน
.
มนต์เขมรเสื่อมลงเพราะกัญชา นโยบาย พูดแล้วทำ เป็นสิ่งที่ดีสำหรับทุกพรรคการเมือง ประชาชนส่วนใหญ่ยังมองว่า มหกรรมวิ่งลอกย้ายค่าย ย้ายโปร เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชนสมการคณิตศาสตร์ทางการเมือง แม้พรรคภูมิใจไทย จะใช้ยุทธศาสตร์ให้ ส.ส.ลาออกพร้อมกันจำนวนมาก และเปิดตัวโดยสมัครสมาชิกพรรคในวันเดียวกัน ไม่ว่าสื่อมวลชนจะเรียกว่า ตกปลาในบ่อเพื่อน หรือใช้พลังดูดท่อพญานาค สื่อมวลชนจะเรียกอะไรก็ตาม แต่ผลทางกฎหมาย คือ การลาออก ส.ส.และสมาชิกพรรคการเมืองเดิม ทำให้สิ้นสมาชิกสภาพความเป็น ส.ส.ตามมาตรา 102(3)(8) ในเกมการเมือง เหมือนเกมฟุตบอล อะไรย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะอำนาจในการกำหนดทิศทางของประเทศ คือ “ประชาชน” ดังนั้น หากมองพรรคท้องถิ่นอย่างพรรคภูมิใจไทย ฐานที่มั่นเฉพาะภาคอีสานบางจังหวัดและภาคใต้ที่เจาะที่นั่ง ปชป.ได้บางส่วน ในการเลือกตั้งสมัยหน้า จะมีความแตกต่างจากปี 2562 คือ ฐานการเมืองเดิมจะถูกแย่งคืนและเจาะที่นั่งค่อนข้างยาก เพราะพรรคการเมืองที่ส่งสู้ศึกจำนวนมาก จะเห็นปรากฏการณ์ “รับเงินหมา กาพรรคอื่น” จะเกิดขึ้น เพราะบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กติกาต่างเบอร์ ต่างเขต หากมองเกมการเมือง พรรคภูมิใจไทย อาจรวบรวมเสียงได้มากกว่าเดิม แต่ไม่เกิน 80 ที่นั่ง เทคนิคการรวบเสียง ไม่เพียงพอผลักดันให้ นายอนุทิน นั่งนายกรัฐมนตรีได้ เพราะของจริงจะต้องไปดูวันเลือกตั้ง ประชาชนจะเทคะแนนให้กับพรรคการเมืองใด อย่างไร ตัวแปรเกิดจากระบบเลือกตั้งใหม่ บัตร 2 ใบ สูตรคำนวณ หาร 100 ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ปรับใช้ยุทธศาสตร์ในการหาคะแนนมากขึ้น วิธีเดิมๆ ใช้ไม่ได้ผล ทั้งระบบเขต และระบบบัญชีรายชื่อ ทั้งกฎกติกาเลือกตั้ง หยุมหยิมประกอบกับเกณฑ์กำหนดอายุ 18 ปี ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง จะเป็นตัวแปรให้คนรุ่นใหม่ใช้สิทธิกันมากกว่า 10 ล้านเสียง ที่สำคัญการเข้าถึงข้อมูลระบบดิจิทัลออนไลน์ ประชาชนสามารถเข้าถึงพรรคการเมืองมากขึ้น จึงตัดสินใจเลือกง่ายขึ้น ดังนั้น เทคนิคยี่ห้อร้อยยี่สิบจะใช้ไม่ได้ผล เวทมนต์เสื่อมลง เพราะประชาชนเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น โอกาสคว้าเก้าอี้ ส.ส.ลำดับหนึ่ง ค่อนข้างยาก แม้จะมี ส.ว.คนหนึ่ง ทำตัวเป็นโหร ฟันธงว่า นายอนุทิน เนื้อหอม โอกาสได้เป็นนายกรัฐมนตรี หมอดูย่อมคู่กับหมอเดา เคยฟันธงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณี 8 ปี พ้นจากเก้าอี้ หงายเงิบมาแล้วครั้งหนึ่ง เพราะบริบทสังคมเปลี่ยนแปลงไป กระบวนการตัดสินใจเลือกพรรค เลือกคน ในระบบบัตรสองใบ ย่อมเปลี่ยนไปเพราะประชาชนมีตัวเลือกมากขึ้น ประกอบมีพรรคการเมืองอื่นเสนอนโยบายที่โดดเด่นกว่าและเป็นตัวเลือกมากขึ้น ดังนั้น การรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล จะต้องเป็นพรรคการเมืองลำดับหนึ่ง เป็นแกนนำเพื่อชูนายอนุทิน เป็นนายกรัฐมนตรีตามที่โพลเชียร์ล่าสุด เป็นเรื่องเพ้อฝัน!!!
.
แม้ไม่สามารถได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลและเสนอนายอนุทิน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นนายกรัฐมนตรี แต่หากครองเสียง 80 เสียง ย่อมเป็นตัวแปรในการจับขั้วสนับสนุนพรรคการเมืองอื่นที่ครองเสียงข้างมากเป็นรัฐบาลได้ เพราะการออกแบบรัฐธรรมนูญ มี ส.ว.250 เสียง ตามบทเฉพาะกาล 5 ปี สามารถโหวตนายกรัฐมนตรีได้ เพราะหาก พรรคการเมืองใด ครองเสียงข้างมากจับขั้วด้วย ย่อมที่จะพลิกเกมจัดตั้งรัฐบาลได้ ไม่ต่างจากพรรคชาติไทยในอดีต เพราะสมการทางการเมือง รวบรวม ส.ส. 126 เสียง สามารถโหวตนายกรัฐมนตรีได้ แต่ในระบบรัฐสภา ส.ส.ต้องรวบรวมเสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ 251 เสียงขึ้นไป เพื่อไม่ให้เสียงปริ่มน้ำ เพราะ ส.ว.ไม่ได้มาเป็นองค์ประชุม ส.ส. ดังนั้น เกมการเมืองในสมัยหน้า โอกาสที่พรรคภูมิใจไทย คว้าที่นั่งลำดับหนึ่ง เป็นไปได้น้อย แต้มยังไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้นายอนุทิน เป็นนายกรัฐมนตรี แต่จะเป็นตัวแปร ในการจับขั้วการเมือง เพราะหากได้ 80 เสียง พลิกเกมไปจับมือกับพรรคการเมืองอื่น ย่อมจัดตั้งรัฐบาลได้ แม้โพลสำนักต่างๆ ระบุว่า พรรคเพื่อไทย จะกวาดที่นั่งจำนวนมาก อาจจับขั้วการเมืองกับพรรคก้าวไกล หรือพรรคเสรีรวมไทย แต่ตัวแปร ส.ส สองพรรคนี้ เสียงจะลดลง เพราะส่วนใหญ่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ สูตรหาร 100 จะเป็นแจ๊คผู้ฆ่ายักษ์ แตกต่างจากการเลือกตั้งปี 2562 ในขณะเดียวกัน พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่ อาทิ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคเทิดไท ที่อุดมการณ์คนละขั้วกับพรรคเพื่อไทย สามารถรวมตัวกันได้ เหมือนกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีพรรคการเมืองสายกลาง เช่น พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคสร้างอนาคตไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคพลัง (ไทย) หรือพรรคขนาดเล็ก สูตร Umno 6 พรรคการเมือง เป็นตัวสอดแทรก สามารถจับขั้วฝ่ายรัฐบาล อย่าประมาทพรรคการเมืองเหล่านี้ สามารถเจาะที่นั่งได้ เพราะเขตเลือกตั้งเพิ่ม ที่ กกต.จะกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่ พรรคการเมืองเหล่านี้ จะส่งผู้สมัคร ส.ส.ในระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพราะยุทธศาสตร์ในการหาเสียง จะเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการจับขั้วการเมืองจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้า