นักวิชาการ ประสานเสียงวิเคราะห์เหตุ “ภูมิใจไทย” เนื้อหอม ส.ส.แห่ย้ายร่วม เชื่อสารพัดปัจจัยหนุน มีเอกภาพ-ไร้ความขัดแย้ง ดันเป็นพรรคหลักตั้งรัฐบาล
วันนี้ (13 ธ.ค.) รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มองความเคลื่อนไหวดังกล่าวถึงกระแสข่าวเรื่อง 37 ส.ส.จากหลายพรรคการเมือง เตรียมสมัครเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยนั้น ว่า อันนี้น่าจะเป็นสัญญาณบวกของพรรคภูมิใจไทย ที่พรรคเขามีกระแสพอสมควร โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เพราะนักการเมือง คงไม่ย้ายไปพรรคที่ไม่มีอะไรขายเลย แต่ย้ายมาขนาดนี้ แสดงว่า มีจุดขาย ข้อต่อมา คนที่ย้าย เขาคงมีความมั่นใจในนโยบายพรรค ว่าดีพอสู้กับคู่แข่ง ที่เห็นเด่นๆ คือ เป็นนโยบายที่พูดได้ ทำได้ นอกจากนั้น ผลงานที่ผ่านมาในการผลักดันนโยบายของพรรคได้พิสูจน์ความตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จ ตรงนี้ ประชาชนเห็น แม้ว่ามีพรรคการเมืองอื่นพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้นโยบายผ่านเป็นกฎหมาย เพราะบางพรรคกลัวเสียผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจการเมือง แต่พรรคก็สู้ยิบตาเพื่อรักษาสัจจะที่ให้ไว้กับประชาชน ที่ต้องไม่ลืม คือ ลักษณะเด่นในการทำงานการเมืองของพรรคภูมิใจไทย คือ ไม่สร้างเงื่อนไขทางการเมือง ไม่มีวาระซ่อนเร้นกับประชาชน มีจุดยืนชัดเจน ทำให้ ส.ส.ลูกพรรคสบายใจในการทำงาน ซึ่งความสบายใจดังกล่าว มันก็มาจากความเป็นเอกภาพในพรรค ที่ไม่มีการกลุ่มมุ้ง ไม่แบ่งก๊ก แบ่งกลุ่ม เพื่อต่อรองเรียกร้องผลประโยชน์ของกลุ่มเหมือนพรรคการเมืองอื่นๆ จนนำไปสู่ปัญหาความจัดแย้งภายในพรรคจนพรรคแตก แล้วพรรคพยายามวางบทบาทสถานะทางการเมืองที่ไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร นี่คือ พื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักการเมืองจำนวนไม่น้อย
“ความมีเอกภาพทำให้ลูกพรรคไม่ต้องลำบากใจในการทำงานการเมือง และไม่มีแรงกดดันทางทั้งภายในภายนอก ไม่ต้องวิ่งหาอำนาจอื่น หรือผู้มีบารที่อยู่เหนือพรรคหรือนอกพรรคมากดดันผู้บริหารพรรค จนทำให้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคเป็นเพียงตำแหน่งสมมติตั้งลอยให้ครบองค์ประกอบเท่านั้น สภาพปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นในพรรคการเมืองอื่นทำให้ ส.ส.เหล่านี้ต้องตัดสินใจทิ้งพรรคการเมืองที่ไม่มีระบบ มีอำนาจซับซ้อนเกินไป หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคไม่มีอำนาจจริงตัดสินใจอะไรไม่ได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ ส.ส . เหล่านั้นต้องย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทยเพราะมีความเป็นระบบมากกว่า อย่างน้อยที่สุดก็มั่นใจได้แน่ว่าหัวหน้าพรรค คือ หัวหน้าพรรคตัวจริง และ มีอำนาจจริง ไม่ใช้ตุ๊กตามนุษย์ที่เขาอุปโลกน์ให้เป็นหัวหน้าพรรคแต่ในนาม จากนี้ พรรคภูมิใจไทย จะกลายเป็นพรรคขนาดใหญ่รองจากเพื่อไทยที่จะมีบทบาทการเมืองสูงหลังการเลือกตั้ง และในการจัดตั้งรัฐบาลหน้าภูมิใจไทยจะไม่ใช่พรรคตัวแปรอีกต่อไป แต่จะเป็นพรรคที่จะมีอิทธิทางการเมืองสูงในการจัดตั้งรัฐบาล เป็นพรรคที่จะกำหนดวาระการเมืองซึ่งจะทำให้ความขัดแย้ง 2 ขั้วคลี่คลายลงได้ การวางบทบาทในการกำหนดวาระการเมืองเพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง 2 ขั้ว คือ การปูทางไปสู่อนาคตทางการเมืองของภูมิใจไทยในสมัยต่อไป”
ด้าน ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต มองว่า นักการเมืองวิเคราะห์แล้วว่า ถนนทุกสายทางการเมือง ทุกค่าย ทุกขั้วกลุ่มการเมืองต่างยอมรับว่าพรรคภูมิใจไทย จะเป็นพรรคที่เติบโตมากขึ้นเป็นเท่าตัว หลังจากการเลือกตั้งปี 2566 อะไรที่ทำให้หลายๆคนเชื่อเช่นนั้น แน่นอนว่าองค์ประกอบสำคัญยืนยันด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ดังนี้ 1. เป็นพรรคที่มีเอกภาพ-วินัยของสมาชิกพรรคสูงมาก ไม่มีความขัดแย้ง หากมองพรรคร่วมรัฐบาลเฉพาะ 3 พรรคหลัก ได้แก่ พลังประชารัฐ, ประชาธิปัตย์, และ ภูมิใจไทย แล้ว พบว่า สัดส่วนการขอปรับเก้าอี้รัฐมนตรีมีน้อยที่สุด ย่อมชี้ให้เห็นถึงความสามัคคี
2. ผลงานที่ที่เป็นรูปธรรม การแก้ไขปัญหาโควิด-19 ด้วยความอดทนต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ประกอบกับนโยบายกัญชา ที่ตอบโจทย์การพัฒนาการรักษาทางการแพทย์ และเพื่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม จึงเห็นความเคลื่อนไหวต่อนโยบายดังกล่าวในลักษณะที่ใช้ความอ่อนไหวและห่วงใยของผู้คนในสังคมแม้ว่าจะมีความพยายามตีเจตนาให้บิดเบือนเจตนา หรือเอาข้อเสียของนโยบายกัญชามาโจมตีของผู้เห็นต่าง ในเชิงดิสเครดิต ซึ่งเหล่านี้ย่อมชี้ให้เห็นว่าพรรคภูมิใจไทยมีผลงานโดดเด่นกว่าพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน สโลแกนที่ว่า “พูดแล้วทำ” กลายเป็นสัจจะวาจาสำคัญ
3. นักการเมืองที่ต้องการ “รีแบรนด์ภาพลักษณ์” ตัวเอง แน่นอนภูมิใจไทยจะถูกจับตามองให้เป็น “สะพานบุญ” ทางการเมืองให้บรรดานักการเมืองต่างค่าย เนื่องจากพรรคภูมิใจไทย มีภาพของแนวคิดในเชิงอนุรักษนิยม ที่ไม่ปฏิเสธมิติการพัฒนาทางการเมืองแบบก้าวหน้า ภาพลักษณ์แบบนี้จึงกลายเป็นเงื่อนไขที่ลงตัวสำหรับนักการเมืองที่เคยมีแนวคิดสุดโต่ง หันมาสนใจพรรคการเมืองแบบที่เข้าได้กับทุกฝ่าย 4. ความโดดเด่นของผู้นำพรรค ความชัดเจนของนายอนุทิน ชาญวีรกูล สิ่งที่ปรากฏออกมาทั้งผลงาน และความใกล้ชิดประชาชน การขับเครื่องบินรับส่งอวัยวะ ถือเป็นคะแนนเกื้อหนุนพรรค
“คิดว่า การปล่อยชื่อ ส.ส.ที่จะร่วมพรรคภูมิใจไทยนั้น ยังไม่ครบทั้งหมด ยิ่งใกล้เลือกตั้ง ตัวเลขจะไม่หยุดอยู่ที่จำนวนเท่านี้แน่นอน”
ขณะที่ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์ว่า ที่ภูมิใจไทย เป็นเป้าหมายสำคัญของนักการเมืองจำนวนมากนั้น มีปัจจัยที่ต้องมอง คือ 1. ฐานทางอุดมการณ์ของพรรคที่มีลักษณะกลางๆ ไม่สุดโต่ง 2. พรรคมีนโยบายที่ตอบสนองต่อคนหลากหลายกลุ่ม 3. พรรคสามารถเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ทางการเมือง เช่น ภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคกลาง ได้จากการดูแลกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับประชาชน และขับเคลื่อนผลงานได้จริง 3-4 ข้อนี้ ก็เพียงพอแล้ว เพราะเท่ากับว่า พรรคมีความต้องการจะเติบโต นี่คือ สิ่งที่ทำให้นักการเมืองรู้สึกเชื่อมั่น ดีกว่าไปอยู่กับพรรคที่เล็กลงทุกวัน