รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย รัฐบาลชี้ผลสำเร็จมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ บูมท่องเที่ยว ดันดัชนีเชื่อมั่น SME โตต่อเนื่อง 3 เดือน พร้อมย้ำข่าวดีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
วันนี้ (26 พ.ย.) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนตุลาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ระดับ 53.1 โดยที่เดือนกันยายน และสิงหาคม 2565 มีค่าดัชนีอยู่ที่ 52.9 และ 51.2 ตามลำดับ โดยที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) เดือนตุลาคม 2565 มีปัจจัยบวกมาจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นสำคัญ อีกทั้งราคาน้ำมันและราคาวัตถุดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ส่งผลดีต่อกำไรของภาคธุรกิจ
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า จากธุรกิจการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะหมวดเสื้อผ้าและสิ่งทอที่รับตัดเสื้อผ้าออกงาน สกรีนเสื้อ ทำเสื้อทีม ได้อานิสงส์จากการจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมไปถึงของที่ระลึกที่เป็นที่นิยมของกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลทำให้ภาคธุรกิจขยายตัว ภาคการบริการและภาคการผลิต ปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 55.7 และ 51.3 ตามลำดับ และด้วยช่วงไตรมาสสุดท้ายเป็นช่วง high season ของการท่องเที่ยวและเทศกาลวันหยุดยาว ทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จึงคาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้นในระดับ 53.7 โดยที่ทุกภาคธุรกิจยังมีความความเชื่อมั่นเกินค่าฐาน 50 เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นต่อธุรกิจในอนาคต
“ด้วยแนวคิดและนโยบาย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม จึงเดินหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมอย่างจริงจัง ทำให้ได้รับการยอมรับว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ที่เพิ่มขึ้นในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาเป็นผลมาจากโครงการกระตุ้นการใช้จ่าย “คนละครึ่ง” ส่งผลดีต่อกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้ของผู้ประกอบการ SME ได้จริง และเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวจะเป็นแม่เหล็กตัวดึงดูดรายได้เข้าประเทศและจะกระจายรายได้ไปยังภาคธุรกิจอื่นๆ ล่าสุด รัฐบาลจึงส่งเสริมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการ SME ธุรกิจโรงแรมและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Supply Chain) ของโรงแรม ได้แก่ ธุรกิจที่ผลิตสินค้าและบริการให้กับธุรกิจโรงแรม (เช่น ร้านซักรีด) ธุรกิจติดตั้งระบบไฟฟ้า/ระบบปรับอากาศ ธุรกิจจัดเลี้ยง (catering) โดยมีการปรับหลักเกณฑ์เงื่อนไขให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงและต่อเนื่องมากขึ้น” น.ส.ทิพานัน กล่าว