xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้นตัวต่อเนื่องจนสิ้นปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด

ระหว่างที่ผมกำลังเขียนบทความฉบับนี้ก็อยู่ระหว่างช่วงประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนประจำไตรมาสที่สามอยู่พอดิบพอดี เลยอยากจะถือโอกาสนี้เขียนบทความเกี่ยวกับแนวโน้มเศรฐกิจและตลาดหุ้นของประเทศไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของปีครับ
     
เริ่มจากผลประกอบการที่อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่าเศรษฐกิจประเทศไทยนั้นอยู่ในช่วงการฟื้นตัวจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยการฟื้นตัวดังกล่าวก็ได้สะท้อนอย่างชัดเจนมาในผลประกอบการของกลุ่มธนาคารที่เสมือนเป็นตัวแทนของเศรษฐกิจประเทศไทยในภาพรวม เนื่องจากกิจการทั่วไปในประเทศไทยนั้นพึ่งเงินทุนจากสถาบันธนาคารมากกว่าการระดมทุนจากตลาดพันธบัตรหรือตลาดหลักทรัพย์ โดยในไตรมาสที่ผ่านมาผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้ง 10 แห่งมีอัตราเติบโตที่ 28% เมื่อเทียบกับปีก่อน และยังคงสามารถควบคุมระดับ NPL ไว้ได้ในระดับที่น่าพอใจ นอกจากนี้ กลุ่มท่องเที่ยวก็ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง เช่น MINT ที่ผลดำเนินงานของโรงแรมภายในประเทศมีการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องจนลดความกังวลต่อผลการดำเนินงานของเครือโรงแรมในยุโรปที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากราคาไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้นในยุโรป ส่วนการบริโภคภายในประเทศก็ยังคงฟื้นตัวดีไม่แพ้กัน โดยในไตรมาสล่าสุด CPALL ได้ประกาศกำไรที่ 3.5 พันล้านบาทหรือเติบโตถึง 138% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จะเห็นได้ว่าในภาพของการบริโภคโดยรวมภายในประเทศนั้นยังฟื้นตัวได้ดี แต่อาจจะมีกลุ่มที่พึ่งพาการส่งออก เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่เริ่มได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของ FED และกลุ่มน้ำมันและกลุ่มปิโตรเคมี ที่มี Stock Loss จากการที่ราคาน้ำมันและปิโตรเคมีอ่อนตัวลง อย่างไรก็ตาม ล่าสุดตัวเลข US CPI ประจำเดือนตุลาคมก็ปรับตัวลดลงสู่ที่ระดับ 7.7% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์เล็กน้อยที่ 7.9% ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า FED น่าจะลดการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยลงจาก 75 bps สู่การเพิ่มที่ระดับ 50 bps ซึ่งก็จะลดโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยลง
     
หากหันกลับมาพิจารณาอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยกันบ้าง ก็จะพบว่าอัตราเงินเฟ้อประจำเดือนตุลาคมอยู่ที่ 6.0% โดยปรับลดลงจากระดับเงินเฟ้อที่ 6.4% ในเดือนก่อนหน้า โดยผมมองว่าเงินเฟ้อของประเทศไทยจะค่อยๆ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่จากราคาพลังงานที่ยืนอยู่ในระดับสูง ทำให้เราอาจจะยังเห็นเงินเฟ้อที่มากกว่าระดับ 4% ไปจนถึงช่วงไตรมาสแรกในปีหน้า และจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังช่วงเดือนเมษายน โดยมีปัจจัยสำคัญจากฐานดัชนีผู้บริโภคที่ปรับตัวขึ้นมาสูงในระยะเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า และผมคาดว่าเงินเฟ้อจะกลับเข้ามาสู่กรอบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการที่ 2% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีถัดไป ซึ่งเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ แล้วประเทศไทยมีแนวโน้มที่เงินเฟ้อจะปรับตัวกลับเข้ามาในกรอบเร็วกว่ามาก ทำให้ประเทศไทยมีแรงกดดันให้ต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าซึ่งก็จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี
     
จากสองสาเหตุข้างต้น เมื่อรวมกับทิศทางเงินบาทที่เริ่มมีการแข็งค่าจากการที่ดุลเงินบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยในเดือนกันยายนพลิกกลับมาเกินดุลเล็กน้อยที่ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และแนวโน้มการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ส่งผลให้ในเดือนที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติกลับเข้าซื้อสุทธิถึงหมื่นล้านบาทในเวลาเพียงสี่วันแรกของเดือนพฤศจิกายน และคาดว่าแรงซื้อจะยังคงต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน และอาจจะมีการชะลอในช่วงสิ้นปีเนื่องจากวันหยุดยาว
     
จากสถาณการณ์ทั้งหมดทำให้ผมยังมีมุมมองที่เป็นบวกต่อตลาดหุ้นประเทศไทยไปจนถึงสิ้นปีนี้ และหากสถานการณ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ผมก็คาดว่าตลาดหุ้นไทยจะยังปรับตัวขึ้นได้อย่างน้อยจนถึงไตรมาสแรกของปีหน้าครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น