xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน ทำความรู้จัก 7 ประเภทพลาสติก ย้ำ “แยกก่อนทิ้ง” ใช้รีไซเคิลได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ทำความรู้จัก 7 ประเภทพลาสติก ย้ำ “แยกก่อนทิ้ง” ใช้รีไซเคิลได้ ส่งเสริมความสมดุลและยั่งยืน

วันนี้ (26 พ.ย.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญและมุ่งเน้นให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมเพื่อความยั่งยืน โดยเฉพาะด้านการใช้พลาสติกที่ส่งเสริมให้นำไปรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

โดย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกประกาศกำหนดคุณลักษณะของเศษพลาสติกที่เหมาะสมในการนำไปรีไซเคิล เพื่อให้ประชาชน รวมทั้งหน่วยงานทั้งภาครัฐและ เอกชนที่เกี่ยวข้องรับทราบและใช้เป็นแนวทางในการคัดแยก รวบรวมเศษพลาสติก ที่มีคุณลักษณะเหมาะสมในการนำไปรีไซเคิล ซึ่งมีทั้งหมด 7 ประเภท ซึ่งจะมีตัวอักษร ข้อความ ตัวเลข และเครื่องหมาย ที่ระบุชนิด/ประเภท ของพลาสติก ดังนี้

1. พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene Terephthalate : PETE/PET) เช่น ขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำอัดลม ขวดน้ำมันพืช ขวดน้ำปลา
2. พอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง (High-density Polyethylene : HDPE) เช่น ขวดแชมพู ขวดแป้งเด็ก ขวดนม ขวดน้ำยาล้างจาน ขวดน้ำยาซักผ้า
3. พอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl Chloride : PVC) เช่น ท่อน้ำ สายยาง หนังเทียม ฉนวนหุ้มสายไฟ แฟ้มใส่เอกสาร บัตรพลาสติก
4. พอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (Low-density Polyethylene : LDPE) เช่น ฟิล์มยืดหุ้มสินค้า ถุงขนมปัง ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว ถุงขยะ
5. พอลิพรอพิลีน (Polypropylene : PP) เช่น ถ้วยบะหมี่กึ่งสําเร็จรูปแบบแข็ง ภาชนะบรรจุอาหาร ถ้วยโยเกิร์ต ถุงร้อน หลอดดูด
6. พอลิสไตรีน (Polystyrene : PS) เช่น ภาชนะโฟม กล่องใส ช้อน ส้อม พลาสติก
7. พลาสติกอื่น ที่ไม่ใช่ 6 ชนิดข้างต้น (โดยจะมีชื่อของพลาสติกนั้น ไว้ใต้สัญลักษณ์เบอร์ 7) และเป็นพลาสติกแข็งที่ใช้ซ้ำได้ เช่น Polycarbonate (PC) เคสโทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป ชิ้นส่วนรถยนต์ชิ้นส่วนนาฬิกา Acrylonitrile butadiene styrene (ABS) กันชนรถยนต์

นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมถึงข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับเศษพลาสติกที่นําไปรีไซเคิล ดังนี้

- ประชาชน ครัวเรือน : 1. คัดแยกเศษพลาสติกไม่ทิ้งรวมกับขยะเศษอาหารและขยะอันตรายเพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อน 2. หากมีการปนเปื้อนให้ล้างทําความสะอาด ดึงเทปกาว กระดาษ หรือสติ๊กเกอร์ออก 3. คัดแยกเศษพลาสติกรวบรวมจําหน่ายให้ร้านรับซื้อของเก่า หรือส่งจุด Drop Point หรือรวบรวม ให้รถเก็บขนขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

- ซาเล้ง : 1. สังเกตสัญลักษณ์เพื่อแยกชนิดเศษพลาสติกไม่ให้ปะปนกัน 2. สังเกตสีเพื่อแยกเศษพลาสติกออกเป็นกลุ่มตามสีของเศษพลาสติก 3. คัดแยกเศษพลาสติกแบบแยกชนิดรวบรวมจําหน่ายให้ร้านรับซื้อของเก่า

- ร้านรับซื้อของเก่า : 1. สังเกตสัญลักษณ์เพื่อแยกชนิดเศษพลาสติกไม่ให้ปะปนกัน 2. สังเกตสีเพื่อแยกเศษพลาสติกออกเป็นกลุ่มตามสีของเศษพลาสติก 3. เก็บรวบรวมแบบแยกชนิดไว้ในสถานที่ที่กันแดดกันฝนได้เพื่อให้มีความสดใหม่ (Freshness) ความชื้นไม่เกินเกณฑ์ที่โรงงานรีไซเคิลกําหนด 4. การบด บีบอัด ต้องไม่ทําบนพื้นดิน และอุปกรณ์บีบ อัด ต้องมีความสะอาด

“รัฐบาลคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อรักษาและสร้างความสมดุลให้แก่ทรัพยากรในอนาคต ดังนั้น การนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่จึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยบริหารจัดการขยะที่มี และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า จึงขอเน้นย้ำการใช้หลัก “แยกก่อนทิ้ง” ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มรายได้ ลดทรัพยากรโลกในการผลิตใหม่ ลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม สร้างประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นางสาวรัชดา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น