พิษณุโลก - อบต.ท่าโพธิ์ เมืองสองแคว นำผู้ประกอบการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น จ่อฟื้น “บ่อขยะกำนันเชิด” ฝังกลบคอนโทรลดัมป์ให้ถูกหลักวิชาการ แก้ปัญหาขยะล้นเมือง-โรงไฟฟ้าขยะยังปล้ำผีลุกปลุกผีนั่ง เบื้องต้นชาวบ้าน 3 ตำบลรอบบ่อขยะลงมติเห็นด้วย 150 ต่อ 25 เสียง แต่พบที่ตั้งอยู่ในเขตจัดรูปที่ดิน-ใกล้แหล่งน้ำ
วันนี้ (24 พ.ย. 65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทุกวันนี้เมืองพิษณุโลกมีปริมาณขยะวันละ 846 ตัน ถูกนำมากำจัด 350-380 ตันต่อวัน นั่นหมายถึงมีขยะตกค้างอยู่ไม่ต่ำกว่า 50% ขณะที่ความพยายามแจ้งเกิดโรงไฟฟ้าขยะยังเป็นแบบปล้ำผีลุกปลุกผีนั่ง ถูกกระแสต่อต้านแทบทุกพื้นที่นั้น
ล่าสุด หจก.ดีดี รุ่งเรืองพัฒนา ได้หวนกลับมาเดินเครื่องเปิด “บ่อขยะกำนันเชิด” ในพื้นที่ ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ที่ถูกสั่งปิดไปก่อนหน้านี้อีกครั้ง เพื่อกำจัดขยะแบบฝังกลบ โดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่อาคารอเนกประสงค์ อบต.ท่าโพธิ์ เมื่อ 22 พ.ย. 65 ที่ผ่านมา เชิญประชาชน หมู่ 4 ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง 22 ครัวเรือน, หมู่ 7 ต.ท่าทอง อ.เมือง 51 ครัวเรือน หมู่ 4 ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ 56 ครอบครัว และประชาชนที่ทำนารอบๆ บ่อขยะ จำนวน 94 ราย และ 33 ครัวเรือนที่รถขยะวิ่งผ่าน ร่วมรับฟังความคิดเห็น อภิปราย/แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น
ท่ามกลาง จนท.ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ท้องถิ่นอำเภอเมือง, ผู้แทนมหาวิทยาลัย, ตำรวจภูธรจังหวัด, ผู้แทนสำนักงานสิ่งแวดล้อม, ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษที่ 3, ทสจ.พล., ศูนย์อนามัยที่ 2, สำนักงานสาธารณสุข ฯลฯ ร่วมเสวนาและถกปัญหาที่อาจก่อผลกระทบ เช่น พื้นที่ก่อตั้งบ่อขยะอยู่ใน "เขตจัดรูปที่ดิน" มีผืนนาและคลองชลประทานโดยรอบ และปัญหาน้ำใต้ดินอาจมีสารมลพิษปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำ ซึ่งบ่อขยะ (เดิม) นั้นอยู่ใกล้แหล่งน้ำเพียง 35 เมตรเท่านั้น แต่ตามหลักกฎหมายต้องอยู่ห่างระยะ 100 เมตร
อย่างไรก็ตาม ตัวแทน หจก.ดีดี รุ่งเรืองฯ ชี้แจงว่าบ่อขยะใช้ดินเหนียวปิดฝังกลบแก้ปัญหากลิ่น และใช้แผ่นพลาสติกปูรองพื้น-ปิดกั้นน้ำฝนด้านบน ก่อนมีการลงมติ เบื้องต้นมีผู้เห็นด้วย 150 คน และไม่เห็นด้วย 25 คน ถือว่าผ่านฉลุยในรอบแรก ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น
นายธวัช สิงหเดช นายก อบต.ท่าโพธิ์ กล่าวว่า หจก.ดีดี รุ่งเรืองพัฒนา ได้ยื่นความประสงค์ขออนุญาตประกอบกิจการสถานที่กำจัดขยะตั้งอยู่ที่ ต.ทำโพธิ์ อ.เมือง พื้นที่ 46 ไร่ รับกำจัดขยะมูลฝอยแบบฝังกลบ จึงต้องเปิดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในขั้นแรก เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชน ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรืออันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ตามหลักกฎหมาย คือ
1. พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535
2. กฎกระทรวงสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยทั่วไป พ.ศ. 2560
3. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดประเภทหรือขนาดกิจการและหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่ผู้ขออนุญาตจะต้องดำเนินการก่อนการพิจารณาออกใบอนุญาต 2561
4. พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560
5. ประกาศกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง หลักเกณฑ์ในการพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ การออกแบบก่อสร้าง และการจัดการสถานที่ฝังกลบมูลฝอยอย่างถูกหลักสุขาภิบาล
6. ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ เรื่องการจัดการมูลฝอย พ.ศ. 2563 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ด้านนายธีรสิทธิ์ วงศ์วาน ผอ.ทสจ.พล.เปิดเผยว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีผู้เห็นด้วย 150 คน ไม่เห็นด้วย 25 คนนั้นเป็นเรื่องของท้องถิ่น อบต.ท่าโพธิ์ เป็นเจ้าภาพ ซึ่งต้องตรวจสอบที่มาที่ไปของผู้ใช้สิทธิ์ในเชิงลึกกับผู้มีส่วนได้เสียระยะ 1.5 กิโลเมตร รอบๆ บ่อขยะ แต่นั่นยังถือเป็นขั้นแรก หรือเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หจก.ดีดี รุ่งเรืองพัฒนา ยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนตามหลักประชาพิจารณ์ก่อนเปิดบ่อขยะตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีก อีกทั้งพื้นที่บ่อขยะอยู่ในเขตจัดรูปที่ดิน ใกล้แหล่งน้ำยังต้องพิจารณาถึงทำเลที่ตั้งก่อนเรื่องจะผ่านมาถึง ทสจ.พล.
สำหรับ หจก.ดีดี รุ่งเรืองพัฒนา เป็นผู้ประกอบการรายเดิมที่เปิดบ่อขยะ ลักษณะคอนโทรลดัมป์ แต่ปัจจุบันกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมเข้มข้น บ่อขยะที่ไม่ถูกต้องลักษณะฝังกลบจึงต้องถูกปิดไป และยื่นขออนุญาตใหม่ให้ถูกต้อง ซึ่ง ทสจ.ยินดีให้ผู้ประกอบการรายใหม่ดำเนินการ แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามหลักวิชาการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีของคนพิษณุโลก
ถามว่า เป็นห่วงเรื่องอะไรหากเปิดบ่อขยะแห่งใหม่ ผอ.ทจส.พล.เปิดเผยว่า ทุกด้าน ทั้งปัญหากลิ่น ความสะอาด และต้องคำนึงถึงเชื้อโรค ปัญหาสารที่สะสมอยู่ในน้ำใต้ดิน ซึ่งจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญ (สวล.ภาค 3) ดูแล ส่วนพื้นที่บ่อขยะนั้นอยู่ในเขตจัดรูปที่ดิน จะมีปัญหาหรือไม่อย่างไรนั้นคงไม่สามารถตอบแทนได้ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการจัดรูปที่ดิน ซึ่งมีผู้ว่าฯ เป็นประธาน จะเป็นผู้พิจารณาเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปริมาณขยะเกิดขึ้นที่จังหวัดพิษณุโลกวันละ 846 ตันทุกวันนี้ ถูกนำมากำจัดเพียง 350-380 ตันต่อวัน และมีบ่อขยะที่กำจัดถูกต้องตามหลักวิชาการหรือตามกฎหมายเพียงแห่งเดียว คือ “ไทยมีดี” ต.หัวรอ ส่วน“ดีดี รุ่งเรือง” เปิดบ่อให้ทิ้งขยะลักษณะยกดัมป์ ตามมาตรา 44 ยุคทหาร คสช. ก่อนถูกปิดไปเพราะกฎหมายไม่เอื้ออำนวย ผิดหลักการฝังกลบตามหลักวิชาการ
ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานขยะในพิษณุโลกนั้นยังเกิดขึ้นไม่ได้ แม้ปัจจุบันมีการยื่นเสนอโครงการผ่านไปยัง “คณะกรรมการขยะมูลฝอย” จำนวน 2 แห่ง คือ เทศบาลตำบลหัวรอ (ประมาณ 3 เมกะวัตต์) และเทศบาลตำบลบ้านกร่าง (9.9 เมกะวัตต์) ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา จากกรมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย