xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.พิษณุโลกผนึก อปท.ดันสร้างเขื่อนบางกระทุ่มพันล้าน กันตลิ่งน้ำน่านพังตั้งแต่หน้าวัดใหญ่ ยาว 66 กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิษณุโลก - ส.ส.ผนึก อปท.ดันโปรเจกต์สร้างเขื่อนบางกระทุ่ม หวังคุมระดับน้ำแก้ปัญหาตลิ่งพังจากหน้าวัดใหญ่-บางกระทุ่ม ระยะทางยาว 66 กิโลเมตร ล่าสุดนำทีมยื่นหนังสือรองอธิบดีกรมชลฯ ขอหนุนงบทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม 35 ล้านบาท


วันนี้ (16 พ.ย. 65) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ร่วมเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการน้ำพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 และจังหวัดที่เหมาะสม ถอดบทเรียนจาก “บางระกำโมเดล สู่สี่แควโมเดล” โดยอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล, ตัวแทนอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำระดม จนท.ในหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมที่โรงแรมท๊อปแลนด์ จ.พิษณุโลก

ระหว่างการประชุม นายนิยม ช่างพินิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 4 ได้นำหนังสือส่งถึง นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เพื่อให้ผุดโครงการสร้างเขื่อนบางกระทุ่ม มูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท เพื่อช่วยป้องกันตลิ่งพัง และเป็นแหล่งเก็บน้ำและหน่วงน้ำได้อีกแห่ง โดยของบการจัดทำประชาพิจารณ์ 35 ล้านบาทเพื่อเป็นจุดเริ่มต้น

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้รับหนังสือจาก ส.ส.นิยมแล้ว และพร้อมจะขับเคลื่อนโครงการเขื่อนบางกระทุ่มต่อไป แต่ต้องขอศึกษาสิ่งแวดล้อมก่อนว่าเหมาะสมหรือไม่ กระทบสิ่งแวดล้อมไหม ถ้าไม่กระทบก็จะดำเนินการก่อสร้างได้ เพียงแต่วันนี้ของบศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะสำรวจและออกแบบเขื่อน เพื่อจะตั้งงบประมาณก่อสร้างเขื่อนต่อไป

“ปีนี้กำลังพยายามไปดูว่ามีงบประมาณเหลือจ่ายสำหรับงบประมาณศึกษาฯ ก่อน เพื่อจะได้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะ 1 ปี หากเห็นด้วย ไม่กระทบใดๆ ก็ต้องของบประมาณออกแบบและสำรวจอีก 1-2 ปี”

อย่างไรก็ตาม วานนี้ (15 พ.ย. 65) นายนิยม ช่างพินิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 4 พิษณุโลก ได้ระดมผู้นำท้องที่และท้องถิ่น เช่น นายจรัฐ แสงปรางค์ นายก อบต.สนามคลี อ.บางกระทุ่ม ตลอดจนนายก อบต.ท่าโพธิ์, นายก อบต.วังน้ำคู้, กำนัน ต.บ้านไร่, กำนัน ต.โคกสลุด ฯลฯ พร้อม ผอ.สนง.เจ้าท่า ภูมิภาคสาขาพิษณุโลก, ชลประทานที่ 3 หารือที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลสนามคลี ถึงปัญหาตลิ่งพังในหลายตำบล นับจากเขตอำเภอเมืองจนถึง ต.สนามคลี อ.กระทุ่ม ระยะทางยาว 66 กิโลเมตร

พร้อมทำหนังสือ "โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำน่าน" เตรียมผลักดันให้สร้างเขื่อนให้เป็นรูปธรรม โดยให้เหตุผลว่าแม่น้ำน่านยังขาดเครื่องมือบริหารจัดการน้ำที่เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค การเกษตร รวมทั้งป้องกันปัญหาวิกฤตภัยแล้ง-อุทกภัย และตลิ่งทรุด จำเป็นที่จะต้องศึกษาจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการน้ำ-อาคารบังคับน้ำในแม่น้ำน่านตอนล่าง โดยศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งโครงสร้าง ทางเลือกต่างๆ ที่เหมาะสมให้ประชาชนมีส่วนร่วม

โอกาสนี้ ผู้นำท้องถิ่นและท้องที่ได้นำเสนอปัญหาช่วงน้ำท่วมน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำน่าน แต่พอน้ำไหลสู่เบื้องล่าง ปริมาณน้ำลดอย่างรวดเร็วเกือบแห้งจนใกล้ถึงท้องน้ำ ตลิ่งดินสูง ทำให้ทรุด บางช่วงถนนพังทำให้ต้องปิดการจราจร ตั้งแต่ในเขตเทศบาลเมืองพิษณุโลก ผ่าน ต.ท่าโพธิ์ บ้านใหม่ บางกระทุ่ม จนถึง อ.สามง่าม จ.พิจิตร หากจะขอก่อสร้างเขื่อนเรียงหิน ป้องกันตลิ่งในหลาย อปท.ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติเนื่องจากงบประมาณสูง และต้องสร้างหลายแห่งตลอดแนวจากตัวเมืองถึง ต.สนามคลี อ.บางกระทุ่ม ระยะทาง 66 กม. ตามแนวโค้งของแม่น้ำน่าน

นายนิยมกล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนเรื่องตลิ่งพังในหลายตำบลเขตอำเภอเมืองและ อ.บางกระทุ่ม จนไม่สามารถจะผลักดันก่อสร้างเขื่อนเรียงหินจุดใดก่อน เพราะตลิ่งพังเสียหายทุกแห่ง ซึ่งถ้าสร้างเขื่อนบางกระทุ่ม ถือว่าแก้ปัญหาตรงจุด ป้องกันปัญหาตลิ่งพังถาวรจะดีกว่า

ล่าสุดได้ให้ ส.ส.ช่วยผลักดันงบศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและทำประชาพิจารณ์จำนวน 35 ล้านบาท เพื่อสร้างเขื่อนบังคับน้ำกั้นแม่น้ำน่านยาว 800 เมตร ที่ อ.บางกระทุ่ม ประเมินว่ามูลค่าพันกว่าล้านบาท หากทำสำเร็จนอกจากคนบางกระทุ่มไม่ต้องสูญเสียถนนหรือตลิ่งริมน้ำแล้ว ยังมีรายได้จากเลี้ยงปลากระชัง แหล่งท่องเที่ยว และยังถือเป็นแห่งที่ 2 นับจากสร้างเขื่อนนเรศวร อ.พรหมพิราม เมื่อปี 2528 และยังได้สะพานข้ามอีก 1 แห่งไว้สัญจรด้วย

“กรมชลฯ ได้สร้างบางระกำโมเดลเป็นแหล่งรับน้ำแก้มลิงช่วยคนทั้งประเทศ หากสร้างเขื่อนบางกระทุ่มจะช่วยป้องกันตลิ่งพัง และเป็นแหล่งเก็บน้ำและหน่วงน้ำได้อีกแห่ง”

ด้าน จนท.ชลประทานเปิดเผยว่า ปัญหาตลิ่งพังเกิดจากน้ำลด และแรงน้ำใต้ดิน ทำให้หน้าดินทรุดถนนพังในหลายจุดยามฤดูแล้ง
ตลอดแนวจากหน้าวัดใหญ่จนถึง ต.สนามคลี อ.บางกระทุ่ม มีระยะทางยาว 66 กิโลเมตร หากจะสร้างเขื่อนเรียงหินป้องกันตลิ่งพัง ประมาณ 150,000 บาทต่อ 1 เมตร หากคำนวณทั้งหมดสองฝั่ง 66 กิโลเมตร ต้องใช้เงินถึง 9,900 ล้านบาท งบประมาณรัฐคงไม่มีพอ

แต่ถ้าสร้างเขื่อนบางกระทุ่ม กั้นน้ำด้านล่าง ขณะที่เขื่อนนเรศวร อ.พรหมพิราม อยู่ด้านบน จะทำให้น้ำนิ่ง และรักษาระดับน้ำให้สมดุล ไม่ให้น้ำลดฮวบจนตลิ่งพัง ใช้งบประมาณ 1 พันล้านบาท ถือว่าคุ้มและแก้ปัญหาตรงจุด ซึ่ง ณ วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้น ทำงบศึกษาฯ ก่อนว่าทำจุดใด ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปี และยังต้องใช้เวลาก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ ตามความกว้าง 800 เมตรกั้นแม่น้ำน่านอีก 3 ปี เบื้องต้นผู้นำท้องที่-ท้องถิ่น สนับสนุนให้ทำงบศึกษาและประชาพิจารณ์ 35 ล้านบาทถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี


กำลังโหลดความคิดเห็น