xs
xsm
sm
md
lg

ทสจ.-อปท.พิษณุโลก ประสานเสียงหวังแจ้งเกิด “โรงไฟฟ้าขยะเมืองสองแคว” ก่อนขยะล้นเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิษณุโลก - ส่องปัญหาขยะเมืองสองแคว..ประธานคลัสเตอร์ 84 อปท.ระบุขยะเขตเทศบาลนครพิษณุโลก-ชานเมืองรุมทิ้ง "บ่อฝังกลบหัวรอ" อีก 2 ปีเต็มแน่ ต้องเดินสู่เส้นทางสร้างโรงไฟฟ้าฯ แต่เล็งตรงไหนเป็นเจอชาวบ้านประท้วงต่อต้าน

นายธีรสิทธิ์ วงศ์วาน ผอ.ทสจ.พล.
ปัญหาชาวพิษณุโลกประท้วงไม่เอาบ่อขยะ ไม่เอาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เกิดต่อเนื่องบ่อยครั้ง นับแต่สิงหาคม 56 จนถึงขั้นปิดถนนสายลานกระบือ-อ.บางระกำ หน้าวัดโพธิ์ทอง เนื่องจากคนในพื้นที่ที่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผลกระทบไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมทำประชาพิจารณ์ แต่กลับมีคนนอกพื้นที่เข้าร่วม หวังลงชื่อจ่อผุดโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ซึ่งบริษัทเอกชนร่วมกับเทศบาลนครพิษณุโลก

ต่อมาเดือนเมษายน 65 ส.จ.เขตเมืองพิษณุโลกลุกขึ้นเป็นแกนหลักนำคนบ้านกร่างนับร้อยคนยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ คัดค้านก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 9.9 เมกะวัตต์ ในพื้นที่หมู่ 6 บ้านกร่าง ซึ่ง อบต.บ้านกร่างมีแผนดำเนินการร่วมกับผู้ลงทุนกับเอกชน 1,800 ล้านบาท

เดือนกรกฎาคม 65 ชาวบ้าน ต.บ้านยาง อ.วัดโบสถ์ ก็ออกมาประท้วงคัดค้านโครงการก่อตั้งโรงไฟฟ้าขยะ 1,800 ล้าน กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ในพื้นที่หมู่ 8 บ้านหนองยาง ต.บ้านยาง อ.วัดโบสถ์ ระหว่างเทศบาลตำบลหัวรอเป็นเจ้าภาพเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (ทำประชาพิจารณ์) ที่หน้า อบต.บ้านยาง อ.วัดโบสถ์

นายธีรสิทธิ์ วงศ์วาน ผอ.ทสจ.พล.เปิดเผยว่า ตามข้อเท็จจริงพิษณุโลกมีขยะวันละ 846 ตัน ขณะที่บ่อขยะของพิษณุโลกที่ถูกต้องตามหลักวิชาการมีอยู่ 2 แห่ง คือ “ดีดี รุ่งเรือง” เพิ่งปิดไปเนื่องจากเต็ม และ “ไทยมีดี” ซึ่งปัจจุบันรับขยะหนักมาก อนาคตอันใกล้จะลำบาก และยังมีบ่อของท้องถิ่น รอการปรับปรุงสถานที่จำนวน 5 บ่อ คือ ต.ปลักแรด ต.ป่าแดง ต.ท่าสะแก ต.บ้านแยง ต.เนินเพิ่ม

ส่วนบ่อขยะ ต.บ้านกร่าง ต.บ้านใหม่ ต.วัดโบสถ์ ต.เนินกุ่ม อ.บางกระทุ่ม ต.แก่งโสภา อ.พรหมพิราม ต.วงฆ้อง เป็นบ่อที่ไม่ถูกต้อง คือ ยกดัมป์ทิ้งอย่างเดียว ผิดหลักการฝังกลบตามหลักวิชาการ ถูกปิดไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ หวังว่าจะแก้ไขปัญหาพิษณุโลกให้เป็นรูปธรรม โดยแบ่งพื้นที่หรือจัดตั้ง 2 คลัสเตอร์ในการดูแล คือ พื้นที่โซนล่างในเขต อ.เมือง อ.พรหมพิราม อ.บางกระทุ่ม อ.บางระกำ อ.วังทอง รวม อปท.จำนวน 84 แห่ง ให้นายกเล็กหัวรอ เป็นประธานดูแลแก้ไข ส่วนโซนบน(เขา) คือ อ.นครไทย อ.ชาติตระการ มี อปท.18 แห่ง ได้เลือกประธานคลัสเตอร์เพื่อขับเคลื่อน "พิษณุโลกจังหวัดสะอาด" เริ่มจากคัดแยก ส่วนที่เหลือก็นำไปกำจัด

แต่จนถึงขณะนี้โรงไฟฟ้าพลังงานขยะในพิษณุโลกยังเกิดขึ้นไม่ได้ แม้ปัจจุบันมีการยื่นเสนอโครงการผ่านไปยัง “คณะกรรมการขยะมูลฝอย” จำนวน 2 แห่ง คือ เทศบาลตำบลหัวรอ (ประมาณ 3 เมกะวัตต์) และเทศบาลตำบลบ้านกร่าง (9.9 เมกะวัตต์) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาจากกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย

กรณีประท้วงการตั้งโรงไฟฟ้าขยะจะไปสร้างที่ อ.วัดโบสถ์นั้น ยังไม่เห็นโครงการ เพราะหากจะนำเสนอโครงการใดๆ ต้องเป็นเรื่องของท้องถิ่น ผ่านนายกเทศมนตรีตำบลหัวรอซึ่งนั่งเป็นประธานคลัสเตอร์เสียก่อน ปัจจุบันยังไม่มีการยื่นขอก่อตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่บ้านยาง อ.วัดโบสถ์ อาจเป็นเพียงแค่แนวคิดก็ได้

นายนพคุณ แถมพยัคฆ์ นายกเทศมนตรีตำบลหัวรอ/ประธานคลัสเตอร์ขยะพิษณุโลกตอนล่าง
นายนพคุณ แถมพยัคฆ์ นายกเทศมนตรีตำบลหัวรอ/ประธานคลัสเตอร์ตอนล่าง เปิดเผยว่า ตามนโยบายผู้ว่าฯ (คนเก่า) เร่งปัญหาขยะล้นเมืองกระทั่งได้รับรางวัลพิษณุโลกเมืองสะอาด อปท.ไหนกำจัดขยะไม่ถูกสุขลักษณะก็ต้องปิดไป ภาพรวมปริมาณขยะทั้งจังหวัดพิษณุโลกกว่า 7-8 ร้อยตัน คงเหลืออยู่ในชุมชนประมาณ 3-4 ร้อยตัน จะต้องนำไปกำจัดเพียงจุดเดียวคือ ต.หัวรอ ซึ่งมีขยะจากคนในเขตเทศบาลเมืองพิษณุโลกและ อปท.ใกล้เคียง มากำจัดประมาณ 350-380 ตันต่อวัน ประเมินว่าอีกไม่เกิน 2 ปีบ่อก็จะเต็ม

ดังนั้น ตนและท้องถิ่นอีก 84 อปท.พิจารณาเห็นแล้วว่าจะต้องเดินสู่แนวทางก่อตั้งโรงงานกำจัดขยะด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ โรงงานไฟฟ้า ซึ่งจะก่อเกิดผลกระทบต่อชุมชนน้อยที่สุด น่าจะแก้ปัญหาเรื่องขยะอย่างถาวรของพิษณุโลก

ทั้งนี้ คณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยระดับจังหวัดได้นำเสนอถึงกระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น) ให้พิจาณาใน 2 โครงการ คือ
1. โครงการกำจัดขยะมูลฝอย ต.หัวรอ โดยนำขยะไปคัดแยกก่อน ลักษณะ RDF จากนั้นป้อนเป็นเชื้อเพลิงพลังงานไฟฟ้าขนาด 3 เมกะวัตต์ รับขยะประมาณ 200 กว่าตัน
2. โครงการจัดการขยะมูลฝอยเป็นพลังงานไฟฟ้าระบบปิด ขนาด 9 เมกะวัตต์ ใช้ขยะปริมาณ 400 ตันต่อวัน ก่อตั้งที่ ต.บ้านกร่าง

หากได้รับคำตอบหรืออนุมัติจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้ดำเนินการก่อสร้าง ไม่ว่าที่ ต.บ้านกร่าง หรือ ต.หัวรอ ย่อมจะเป็นผลดีต่อจังหวัดพิษณุโลก ส่วนระยะพิจารณานั้นยังไม่ชัดเจน ทราบเพียงแต่ว่าติดปัญหาเรื่องการประท้วง (ของผู้ที่ไม่เห็นด้วย) ที่ ต.บ้านกร่าง ส่วนที่ ต.หัวรอ ไม่มีปัญหา

สำหรับสถานที่ตั้งของโรงไฟฟ้าที่เหมาะสมนั้น เป็นพื้นที่อยู่ห่างออกไปคือ อ.วัดโบสถ์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ดอน เส้นทางคมนาคมและชุมชนไม่หนาแน่น ส่วน อ.บางระกำ หากจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า มีโอกาสน้ำท่วมได้ ขณะที่ อ.เนินมะปราง ถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเขาหินปูน ด้าน อ.นครไทย-อ.ชาติตระการ เป็นพื้นที่ป่าสงวน ไม่มีเอกสารสิทธิ
กำลังโหลดความคิดเห็น