xs
xsm
sm
md
lg

สทนช.เล็งหาพื้นที่แก้มลิงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่ม แก้น้ำท่วมหนักท้ายเขื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการพัฒนาแก้มลิงเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ว่า สถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมามีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลกระทบให้พื้นที่จังหวัดตอนล่างถูกน้ำท่วมต่อเนื่องยาวนานและได้รับผลกระทบในวงกว้าง

โดย สทนช. ได้กำหนดมาตรการเร่งด่วนที่สามารถดำเนินการได้ทันทีในระยะเวลาปี 2566-2568 คือการเพิ่มพื้นที่แก้มลิง พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่สาธารณะ ที่จะช่วยตัดยอดน้ำตอนบนก่อนหลากลงมายังหน้าเขื่อนเจ้าพระยาอย่างน้อยประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายในปี 2566 เสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. ซึ่งจะเป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่สามารถนำมาบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากได้นอกเหนือจากโครงการ 9 แผนหลักลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการบางบาล-บางไทร โครงการชัยนาท-ป่าสัก ฯลฯ

ทั้งนี้ จากการสำรวจสถานการณ์น้ำพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก และสำรวจแนวทางการพัฒนาพื้นที่แก้มลิงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาร่วมกับกรมชลประทาน ได้จัดกลุ่มพื้นที่รับน้ำเป็น 3 กลุ่มหลัก ที่ต้องวางแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการพัฒนาพื้นที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนและนำมาใประโยชน์ในช่วงฤดูแล้ง ทั้งในด้านงบประมาณ การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 พื้นที่สาธารณะ บึงธรรมชาติ เช่น บึงสีไฟ บึงบอระเพ็ด ซึ่งมีความพร้อมและสามารถดำเนินการทันที เช่น การขุดลอก ยกระดับสันเขื่อนดินเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก กลุ่มที่ 2 พื้นที่รับน้ำจากเทือกเขา เพื่อชะลอและเก็บกักน้ำไว้ใช้ทำเกษตร และกลุ่มที่ 3 พื้นที่ลุ่มต่ำ แก้มลิง ซึ่งต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม รวมถึงมาตรการที่จะเป็นแรงจูงใจในการเข้าร่วมโครงการ หากจำเป็นเร่งด่วนอาจจะต้องเสนอขอรับงบกลางในการดำเนินการเพื่อให้สามารถทำได้ทันที

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมและมอบหมายหน่วยงานเจ้าภาพที่ชัดเจนตามพื้นที่รับผิดชอบในการพัฒนาแหล่งน้ำตามศักยภาพ สทนช. จะเป็นเจ้าภาพประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดเหนือเขื่อนเจ้าพระยา 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี พิจิตร พิษณุโลก กำแพงเพชร และสุโขทัย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้แก่ กรมประมง กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุทยานฯ และ กอ.รมน. เป็นต้น ในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ เพื่อร่วมกันในการพิจารณาแนวทางดำเนินการหาพื้นที่รับน้ำ รวมถึงพิจารณาเปลี่ยนแปลงงบประมาณ เพื่อเร่งดำเนินการหน่วงน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้เร็วที่สุดก่อนถึงฤดูฝนปี 2566 อย่างน้อย 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบประมาณปลายเดือนธันวาคมนี้