xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ห่วงปัญหาไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละออง กำชับดูแลแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองปี 2566 โดยจะเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันจากภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง พร้อมเน้นย้ำให้วางแผนการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

น.ส.รัชดา เปิดเผยว่า กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้คาดการณ์แนวโน้มฝุ่นละอองปี 2566 ซึ่งอาจมีสูงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากสภาพทางอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 จนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่มีสภาพเพดานการลอยตัวอากาศต่ำ สภาวะอากาศที่นิ่ง ลมสงบ ทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละออง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการจราจรและรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ยังคงพบปริมาณฝุ่น PM 2.5 เท่าเดิมต่อเนื่องทุกปี และในพื้นที่ภาคเหนือที่มีความกังวลถึงสถานการณ์ไฟป่าและฝุ่น PM 2.5

โดยแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองปี 2566 เน้นยกระดับความเข้มงวดของการดำเนินงานภายใต้หลักการ 3 พื้นที่ คือ พื้นที่เมือง พื้นที่ป่า และ พื้นที่เกษตรกรรม ควบคู่กับ 7 มาตรการตามกรอบสื่อสารเชิงรุกยกระดับปฏิบัติการสร้างการมีส่วนร่วม ซึ่งในส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะดำเนินการภายใต้ 16 แนวทาง ได้แก่ (1) วิจัยหาต้นเหตุ (2) นักสืบฝุ่น (3) ตรวจโรงงาน (4) แจกอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ให้แก่กลุ่มเปราะบาง (5) แจ้งเตือนป้องกันฝุ่น PM2.5 (6) Open Data (7) ตรวจสถานที่ก่อสร้างและตรวจรถควันดำในสถานที่ก่อสร้าง (8) ใช้ CCTV ตรวจจับรถยนต์ปล่อยควันดำ (9) ส่งเสริมรถราชการในสังกัด กทม. เป็นรถพลังงานไฟฟ้า (10) ตรวจวัดรถควันดำ (11) แจ้งปัญหาฝุ่นทาง Traffy Fondue (12) กลุ่มพัฒนาโครงการผู้ประกอบการ (13) กิจกรรมที่สำนักงานเขตดำเนินการ (14) การตรวจวัดควันดำรถราชการในสังกัด กทม. (15) ขยายระบบการติดตามและแจ้งเตือนฝุ่นสู่ระดับแขวง 1,000 จุด และ (16) พัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น ผ่านโครงการ BKK Clean Air Area

ขณะที่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 แบบบูรณาการ โดยกำหนดเป้าหมายลดจุดความร้อน (Hotspot) ไม่เกิน 9,833 จุด และลดพื้นที่เผาไหม้ลง 20% หรือไม่เกิน 718,056 ไร่ พร้อมดำเนินการภายใต้ 4 แนวทางเพื่อลดค่าฝุ่นละอองในเขตเมืองควบคู่กับการควบคุมการเผาป่า ได้แก่ ควบคุมควันดำจากท่อไอเสียรถยนต์ ประสานงานร่วมกับขนส่งจังหวัด ควบคุมการเผาเศษใบไม้หรือขยะจากครัวเรือน ล้างทำความสะอาดถนนทุกสายในจังหวัด และ ควบคุมฝุ่นละอองจากไซต์ก่อสร้างหรือควันจากโรงงาน รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคเหนือทั้ง 4 จังหวัด ได้มีหารือร่วมกันในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัด (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน) อีกทั้งเพิ่มการบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านการใช้แอปพลิเคชัน "Fire D" (ไฟดี) ซึ่งเป็นระบบจัดเก็บบันทึกข้อมูลชุมชน ศูนย์วิชาการของจังหวัด เพื่อดำเนินการตัดสินใจเวลาเหมาะสมในการกำจัดเชื้อเพลิงในแต่ละวัน โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะเป็นผู้พัฒนาและปรับปรุงการใช้งานแอปพลิเคชันให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

น.ส.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการรับมือสถานการณ์ดังกล่าว โดยห่วงใยต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชน จึงเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมทั้งในรูปแบบแผนงานและการปฏิบัติจริง ซึ่งรัฐบาลยืนยันที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนใช้มาตรการที่เข้มข้นทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ต่อไป