xs
xsm
sm
md
lg

GC รับ 2 รางวัลด้านความยั่งยืนจาก กนอ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากสถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน ที่มีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทุกคนจะต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเรา

ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า GC มีเจตจำนงอันแน่วแน่ที่จะร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างจริงจัง เป็นความท้าทายใหม่ที่ทำให้เรายกระดับการดำเนินงานให้สอดคล้องกับ Paris Agreement โดยขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับนโยบาย มาสู่กลยุทธ์หลักของบริษัท ก้าวสู่กระบวนการ Decarbonization ตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทาง โดยการตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% ภายในปีพ.ศ.2573 และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี พ.ศ.2593


นอกจากนี้ เรายังนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มาปรับใช้ในองค์กร มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างหมุนเวียนและให้เกิดประโยชน์สูงสุดตลอดห่วงโซ่คุณค่า และที่สำคัญคือ ต้องทำให้ครบทั้งห่วงโซ่ ให้เกิด Loop Connecting ที่เชื่อมโยงทุกภาคี ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า ลูกค้า พนักงาน ชุมชน เข้าด้วยกัน เพราะการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนนี้ เราไม่สามารถดำเนินการด้วยตัวคนเดียวได้ การจับมือร่วมกัน เดินหน้าไปพร้อมๆ กัน เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ในหลายๆ โครงการของ GC ประสบความสำเร็จ

ดังเช่น โครงการ Community Waste Model ที่ได้นำเอาหลักคิดเรื่อง Circular Economy การบริหารจัดการขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง เช่น ชุมชนวัดชากลูกหญ้า จ.ระยอง เป็นชุมชนต้นแบบของการต่อยอดและดำเนินการส่งเสริมการจัดการขยะพลาสติกอย่างถูกวิธี เพื่อนำขยะเหล่านั้นมาสร้างมูลค่า ต่อยอดสู่โรงงานรีไซเคิล ENVICCO ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ GC รับขยะพลาสติกจากชุมชน มาเข้ากระบวนการรีไซเคิลเป็นเส้นใยพลาสติกรีไซเคิลและนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นสินค้าใหม่ นำกลับมาใช้งานใหม่ได้ ชุมชนมีรายได้จากการซื้อขายขยะพลาสติก มีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นเพราะลดเรื่องการฝังกลบขยะ ขณะที่บริษัทฯ ได้ดูแลชุมชน เกิดเป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและน่าภูมิใจทั้งชุมชนวัดชากลูกหญ้าและ GC


นอกจากชุมชนสามารถบริหารจัดการขยะได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความรู้เรื่องการคัดแยกขยะมากขึ้น และสร้างรายได้ให้ชุมชน ข้อสำคัญคือชุมชนได้ทำงานร่วมกับ GC กับเทศบาลเมืองมาบตาพุด กับกนอ. วิทยาลัยเทคนิคนิคมอุตสาหกรรมระยอง และหลากหลายหน่วยงาน เกิดการขยายผลการทำงานไปได้เรื่อยๆ และจนถึงปัจจุบันมีการมาศึกษาดูงานมากกว่า 20 คณะ ชุมชนได้แลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้และสิ่งที่ตั้งใจทำแล้วเกิดผลจริงให้กับคณะเยี่ยมชม เกิดเป็นประโยชน์และสร้างแรงบันดาลใจต่อไป

ดร.ชญาน์ ย้ำว่า “ความสำเร็จใดๆ ด้วยการบูรณาการความยั่งยืนที่ GC ทำมาอย่างเนิ่นนาน ไม่ได้ทำเพื่อโอกาสทางการตลาด แต่มีจุดยืนเรื่องความยั่งยืนมายาวนาน ‘จะเติบโตไปทำไม ถ้าไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้กับสังคม’ เพราะเราเป็นองค์กรคนไทยเพื่อคนไทย และเราไม่สามารถดำเนินการได้เพียงลำพัง ต้องใช้ความร่วมมือ ร่วมใจ ทั้งจากพนักงาน ผู้บริหาร ภาคีพันธมิตร และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ร่วมพัฒนาประเทศ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้ทุกคนได้เข้าถึงเคมีภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ ยิ่งใกล้ยิ่งต้องดี เพราะ GC มุ่งหวังให้องค์กรของเราเป็นเคมีที่สร้างความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจนร่วมสร้างความยั่งยืนให้แก่ทุกคน”


“เรายังคงมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสร้างให้เกิดรายได้สู่ชุมชน และทำให้ชุมชนได้รับองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของ GC ในการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดมา”

การขับเคลื่อนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง GC มีการดำเนินโครงการด้าน Circular Economy การบริหารจัดการขยะร่วมกับ กนอ. ด้วยเช่นกัน ยิ่งทำให้การพัฒนาเพื่อไปสู่ความยั่งยืนเกิดขึ้นจริง และเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ด้วยแนวนโยบายและการดำเนินงานดังกล่าว ส่งผลให้ GC ได้รับ 2 รางวัลด้านความยั่งยืน ได้แก่ “ISB Excellence” รางวัลยอดเยี่ยม ต้นแบบธุรกิจที่มีการพัฒนาที่ยั่งยืน และ “ISB DNA” รางวัลความโดดเด่นด้านการส่งเสริมค่านิยมการพัฒนาที่ยั่งยืน แล้วดำเนินการจริงจังจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งรางวัล ISB Awards 2022 (I-EA-T Sustainable Business Awards) ที่มอบโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นอีกรางวัลที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ GC ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง




กำลังโหลดความคิดเห็น