สตง.จี้งบกว่า 300 ล้าน แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 ใน 3 จังหวัด ดันต่อเนื่อง “แหล่งผลิตอาหารและผลไม้เพื่อการส่งออก” พบปัญหาการวัดผลไม่เคลียร์ เฉพาะความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกร เผยสถานีสูบน้ำไฟฟ้า 50 ล้าน 4 ปี ยังไม่บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนด
วันนี้ (21 พ.ย.) มีรายงานจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง.เผยแพร่ผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 ในพื้นที่ “ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง”
ประเด็นการพัฒนาที่ 2 ว่าด้วย “การพัฒนาภาคตะวันออก ให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐานสากล”
พบว่า เป็นการตรวจสอบ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562-2563 ที่กำหนดเป้าหมายในการพัฒนา “แหล่งผลิตอาหารและผลไม้เพื่อการส่งออก”
เฉพาะปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ดำเนินการใน 5 กิจกรรมหลัก 13 กิจกรรมย่อย รวมงบประมาณ 119,028,900 บาท และปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ใน 5 กิจกรรม รวมทั้งสิ้น 202.53 ล้านบาท
ข้อตรวจสอบแรก สตง. พบปัญหาการวัดผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานตามแผนพัฒนา โดยเฉพาะตัวชี้วัด เช่น ความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการ ที่ไม่ระบุถึงความเข้มแข็งในลักษณะใดบ้าง
ทำให้ปีงบ 2562 ส่งผลทำให้ไม่ทราบว่าการใช้จ่ายงบประมาณ ทั้งในภาพรวมของประเด็นการพัฒนา และในระดับการดำเนินกิจกรรม เกิดผลสัมฤทธิ์และมีความคุ้มค่าหรือไม่ เพียงใด
นอกจากนี้ ยังทำให้ขาดข้อมูลที่สำคัญสำหรับใช้ในการทบทวนแผนพัฒนาหรือจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 ในรอบถัดไป
ขณะที่การตรวจสอบแผนพัฒนา “ฉบับทบทวน” พ.ศ. 2562-2565
โดยปี 2563 เฉพาะกิจกรรมก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า พร้อมระบบส่งน้ำบ้านหนองท่ากะสาว-บ้านหนองละลอก จ.ระยอง (ระยะที่ 2) วงเงินงบประมาณ 50,000,000 บาท พบว่า ยังไม่บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนด
จากการตรวจสอบ พบว่า การดำเนินกิจกรรม ที่ยังไม่บรรลุผลลัพธ์ ประชาชนกลุ่มเป้าหมายยังไม่ได้รับประโยชน์ เนื่องจากชลประทานระยองยังไม่มีการถ่ายโอนสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ก่อสร้างในระยะที่ 1 ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปบริหารจัดการ
รวมถึงการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อบริหารจัดการสูบน้ำ ยังไม่แล้วเสร็จ ส่งผลทำให้ประชาชนบางส่วนได้รับความเดือดร้อน มีน้ำใช้เพื่อการเกษตรไม่เพียงพอ
“สตง.ลงสัมภาษณ์เกษตรกรในพื้นที่ ณ วันที่ 21 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง และเป็นช่วงที่ไม้ผลกำลังออกผลผลิต เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายมีความต้องการใช้น้ำในปริมาณมาก”
ขณะเดียวกัน ประชาชนบางส่วน ที่มีปริมาณน้ำที่กักเก็บในสระน้ำเพื่อการเกษตรในปริมาณน้อย หากฝนไม่ตกอาจเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำและส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรได้