xs
xsm
sm
md
lg

มท.รับลูก สตง.ตรวจ “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” ทั่ว ปท. เจียด อปท.สร้างแห่งละ “แสนเจ็ด” ยอดเกิน 400 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาดไทย รับลูก สตง. ให้เวลา 3 วัน 76 ผู้ว่าฯ เร่งตรวจสอบ “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” ที่ สถ.เจียดงบให้ท้องถิ่น แห่งละ 1.7 แสน “1 อปท. 1 สนามเด็กเล่น” ตั้งแต่ปีงบ 61-64 คาด มี อปท.จัดสร้างแล้วมากกว่า 2,400 แห่ง วงเงินกว่า 400 ล้านบาท หลัง สตง.ออกรายงาน โครงการ ซ้ำซ้อน ไม่คุ้มค่า! แถมมีการเสริมพัฒนาการเด็กได้น้อย

วันนี้ (28 ต.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า สุดสัปดาห์นี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือด่วนที่สุดถึง 76 ผู้ว่าราชการจังหวัด ให้เร่งรายงานข้อมูลผลการดำเนินการสร้างสนามเด็กเล่น ตามนโยบายของ สถ. ตามโครงการที่ชื่อว่า โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัยท้องถิ่นไทยผ่านการเล่น “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา”

โครงการนี้ มีกองส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น (กศ.) เป็นผู้รับผิดชอบ

หนังสือลงนามโดย นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดี สถ. ปฏิบัติราชการแทนอธิบดี สถ. ระบุว่า ได้รับการประสานจากกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอข้อมูล นำประกอบการพิจารณาส่งเสริมและสนับสนุน ให้เด็กปฐมวัยภายในท้องถิ่นมีพัฒนาการสมบูรณ์ตามวัยเต็มตามศักยภาพ

“ขอความร่วมมือจังหวัด สรุปข้อมูล ผลการดำเนินการ ตามแบบรายงานข้อมูลสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2564 และรายงานให้ สถ.ทราบ ภายในวันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม นี้”

โครงการนี้ สถ. สนับสนุนงบประมาณให้ อปท. ระดับ เทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นับตั้งแต่ปี 2561 - 2564 รวมวงเงินกว่า 363.82 ล้านบาท ให้กับ อปท.แห่งละ 170,000 บาท ทั่วประเทศ

เมื่อปี 2564 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ออกรายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงาน “ตัวอย่าง” โครงการ “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี

ระบุเนื้อหาที่น่าสนใจ เช่น ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สถ. มีเป้าหมายให้ อปท. ทั่วประเทศ 7,850 แห่ง พิจารณาสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (อย่างน้อย อปท.ละ 1 แห่ง)

ขณะที่ได้จัดสรรงบประมาณงบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ให้กับอปท.ในปีงบประมาณ พ.ศ 2561 แห่งละ 1 แสนบาท ส่วนปี 2563 และ 2564 แห่งละ 1.7 แสนบาท ให้อปท. ทั่วประเทศ จำนวน 2,040 แห่ง งบประมาณรวมทั้งสิ้น 363.82 ล้านบาท

ตามคู่มือสนามเด็กเล่นฯ (คู่มือสร้างการเล่นตามพ่อวิธีสร้างลูกจากทารก) เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนภายใต้หลัก “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน) เป็นแนวทางในการดำเนินโครงการฯ โดยมีการแบ่งการเล่นออกเป็นรูปแบบฐานต่างๆ จำนวน 5 ฐาน

ได้แก่ ฐานที่ 1 สระน้ำอิน-จัน ฐานที่ 2 สระทารก ฐานที่ 3 ค่ายกลสไปเดอร์แมน ฐานที่ 4 เรือสลัดลิง และฐานที่ 5 หัดว่ายน้ำ โดยให้ดำเนินการฐานที่ 1-4 ก่อน ส่วนฐานที่ 5 ถ้ามีความพร้อมก็ดำเนินการได้

ขณะที่ อปท. ที่จะใช้งบประมาณนี้ จะต้องมีพื้นที่สร้างสนามเด็กเล่นไม่น้อยกว่า 100 ตารางวา มีต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ และต้องเป็นพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้สร้างอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

สำหรับตัวอย่างพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ได้รับจัดสรรงบประมาณตามโครงการฯ มากที่สุดในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของ สตภ.3 โดยสุ่มตรวจสอบ อปท. ทั้งสิ้น 53 แห่ง

พบว่า มี อปท. 23 แห่ง ที่ได้รับจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจฯ จำนวน 3.56 ล้านบาท มี อปท. เพียง 9 แห่ง ที่ใช้งบประมาณจัดสร้าง แต่อีก 14 แห่ง กลับส่งคืนงบ จำนวน 2.17 ล้านบาท

“สนามเด็กเล่น 22 แห่ง ไม่ได้สร้างตามรูปแบบสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา คือ ไม่ได้ก่อสร้าง 10 แห่ง และอีก 12 แห่ง ไม่เป็นไปตามรูปแบบ ซึ่งทุกแห่งเป็น อปท. ที่ดำเนินโครงการโดยใช้งบประมาณของ อปท. และงบประมาณจากแหล่งอื่น”

ยังพบว่า อปท. ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้แรงงานในชุมชนตามหลัก “บวร” ซึ่งจากการสอบถาม “ผู้อำนวยการกองการศึกษาและหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อปท.” จำนวน 31 แห่ง

“พบว่า มี อปท. 18 แห่ง ให้ข้อมูลว่าการสร้างสนามเด็กเล่นไม่สามารถหาแรงงานในชุมชนได้ เนื่องจากมีแรงงานในชุมชนไม่เพียงพอหรือไม่มีเวลามาช่วยก่อสร้าง” เป็นต้น แถมยังไม่เป็นไปตามคู่มือสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา

สตง. ยังรายงานถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้การดำเนินโครงการ ยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์เกิดจาก เช่น ฐานการเล่น ที่กำหนดตามคู่มือฯ มีขนาดไม่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย

การกำหนดนโยบายจากส่วนกลาง ยังขาดข้อมูลประกอบการพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการจัดหาเครื่องเล่น และวัสดุสื่อการเรียนการสอนต่างๆ ของ อปท.

ซึ่ง อปท. โดยส่วนใหญ่มีการสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ ดังกล่าวที่เพียงพอต่อการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยอยู่แล้ว

รวมถึง ข้อจำกัดของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในการจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาให้ได้ตามแบบที่กำหนด

ขณะ ที่ครูผู้ดูแลเด็กมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็กปฐมวัยในการเล่นสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา

โดย สตง.สรุปว่า โครงการที่มีปัญหาหลายประการ ที่อาจจะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณตามโครงการเกิดความซ้ำซ้อน ไม่คุ้มค่า หรือไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม ได้แจ้ง ข้อเสนอแนะไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินการแก้ไขแล้ว

ข้อมูลปี 2562 ระบุว่า มูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เป็นผู้ออกแบบ มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อปท. ได้ดำเนินการสร้างสนามเด็กเล่น สร้างปัญญาแล้ว 2,400 แห่ง (ใน 1,992 อปท.) คาดว่าใช้งบประมาณมากกว่า 400 ล้านบาท

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัด มท. ที่เคย นั่งอธิบดี สถ. ขณะนั้น ระบุว่า

“เป้าหมายต่อไปของกรมฯ คือ อยากเห็นการสร้างสนามเด็กเล่น สร้างปัญญา เกิดขึ้นครอบคลุมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อปท. ที่มีอยู่ทั้งหมด 18,917 แห่ง ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามของ กรมฯ และมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ในการพัฒนาเด็กเล็กที่มีอายุระหว่าง 0-5 ปี”

ขณะที่ ใน อปท .หลายพื้นที่ มีความเห็นแตกต่างกันว่า ปัจจุบันสนามเด็กเล็กสร้างปัญญา ได้ชำรุดทรุดโทรมไม่เหมาะแก่การใช้งาน และเด็กก็ไม่เล่นสนามเด็กเล่นดังกล่าว

“ถ้าใช้งบประมาณในการซ่อมแซม จะคุ้มค่าหรือไม่ หรือหาก อปท.มีความต้องการจะรื้อสนามเด็กเล่นดังกล่าว จะสามารถดำเนินการรื้อได้เลยหรือไม่ หรือมีขั้นตอนการดำเนินการอย่างไร”.


กำลังโหลดความคิดเห็น