มหาดไทย ล้อมคอก! กราดยิงอุทัยสวรรด์ สั่งท้องถิ่น 7 พันแห่ง ทั่วประเทศ ปัดฝุ่น! รายงานผลปัญหายาเสพติด รอบแรก 21 ต.ค.นี้ ตามคำสั่งสำนักนายกฯ ตั้งแต่ต้นปี 65 หลังพบมีการแต่งตั้งทีมประสานงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เน้น ประเด็นการจัดตั้ง “ศูนย์คัดกรอง-ศูนย์ฟื้นฟู-คณะทำงานฯ” ของท้องถิ่นเองในพื้นที่ ก่อนรายงานการ “ขับเคลื่อน” ทุกเดือน แนะ “ตั้งงบสู้ยาเสพติด” ผ่านเทศบัญญัติ/ข้อบัญญัติ
วันนี้ (10 ต.ค.) มีรายงานจากระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือด่วนที่สุดถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ กว่า 7 พันแห่ง ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด
เเจ้งแนวทางการป้องกันและเเก้ไขปัญหายาเสพติดของ อปท. และแนวทางปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ให้ทุกจังหวัด
ทั้งนี้ จากกรณีโศกนาฏกรรมที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู โดยผู้ก่อเหตุมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
โดยแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของ อปท. 3 ด้าน ประกอบด้วย
ด้านที่ 1 การบำบัดรักษายาเสพติด ให้ อปท. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบบูรณาการเชิงรุก
โดยจัดตั้ง “ศูนย์คัดกรอง” เพื่อคัดกรองและประเมินความรุนแรงของการติดยาเสพติด ภาวะความเสี่ยงทางสุขภาพกาย สุขภาพจิต รวมถึงปัญหาด้านสังคมที่เกี่ยวข้องกับการติดยาเสพติด
และวิเคราะห์จำแนกระดับความรุนแรง และวางแผนการดูแลบำบัดรักษาหรือการส่งต่อที่เหมาะสม รวดเร็ว และปลอดภัย
และจัดตั้ง “ศูนย์ฟื้นฟู” สภาพทางสังคม เพื่อให้การสงเคราะห์สนับสนุนให้ผู้ติดยาเสพติด หรือ ผู้ผ่านการบำบัดรักษาได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตทางด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา อาชีพ
ตลอดจนการติดตามดูแลช่วยเหลือจนสามารถกลับมาดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ โดยถือปฏิบัติตามประมวลกฎหมายยาเสพติดและอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง
ด้านที่ 2 คือ การป้องกันยาเสพติด ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของหมู่บ้าน/ชุมชน ในการสร้างภูมิคุ้มกัน การเฝ้าระวัง การค้นหา การรักษา
การให้โอกาส การดูแลและช่วยเหลือผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดรวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
และด้านที่ 3 งบประมาณ เพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมี 3 แนวทาง ได้แก่
1. ให้ อปท.ตั้งงบประมาณในเทศบัญญัติ/ข้อบัญญัติ ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
2. กรณี อปท. ไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ ให้พิจารณาโอนงบประมาณรายจ่ายรายการที่มีความจำเป็นน้อยกว่า มาตั้งจ่ายเป็นรายการใหม่
โดยปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณของ อปท. พ.ศ. 2563 หากไม่สามารถโอนงบประมาณมาตั้งเป็นรายการใหม่ได้ อาจขอยกเว้นต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย นำเงินสะสมมาใช้จ่ายได้ ตามข้อ 4
ประกอบกับ ข้อ 89 แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ซึ่งปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทนแล้ว ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 1268/2563 ลงวันที่ 19 พ.ค. 2563
และ 3. กรณี อปท.ไม่ได้ดำเนินการเอง อาจอุดหนุนงบประมาณด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้หน่วยงานอื่น ได้แก่ อปท.อื่น ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรภาคประชาชน องค์กรทางศาสนา หรือองค์กรการกุศลได้
โดยถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.6/ว 5270 ลงวันที่ 22 ก.ค. 2565
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดรายงานผลการดำเนินงานพร้อมทั้งข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทุกวันที่ 5 ของเดือน โดยเริ่มรายงานครั้งแรกวันที่ 21 ต.ค. 2565
การรายงานผลดังกล่าว ให้เป็นไปตาม คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่รายงานผลการดำเนินงาน ตามคำสั่งที่ 20/2565 ลงวันที่ 20 ม.ค. 2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานการณ์โควิด-19
ทั้งนี้ ประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2565 โดยกระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด ทุกจังหวัด
พิจารณาดำเนินการตามมติที่ประชุมและข้อสั่งการของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ
ประกอบด้วย การจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม และการแต่งตั้งคณะทำงานอำนวยการศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมในจังหวัด
การจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมในจังหวัด.... และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมในจังหวัด ในสาขา....อำเภอ/อปท/หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ....
ทั้งนี้ ให้รายงานแผนงาน/โครงการ ที่ดำเนินการหรือสนับสนุนการดำเนินงานการฟื้นฟูสภาพทางสังคม เป็นต้น