xs
xsm
sm
md
lg

สตง.เปิดผลตรวจสอบงบ 1 พันล้าน บูรณาการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 “ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สตง.เปิดผลตรวจสอบงบ 1 พันล้าน บูรณาการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 “ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง” รวม 2 ปีงบประมาณ พบหลายโครงการถูกยกเลิก ทำให้รัฐสูญเสียโอกาสนํางบประมาณ ไปดําเนินการโครงการอื่น แนะจังหวัด คุยเจ้าของโครงการแก้ไขความไม่ปลอดภัย บนทางจักรยาน “รอบอ่างเก็บน้ำดอกกราย” จ.ระยอง มูลค่า 50 ล้าน

วันนี้ (17 พ.ย.) มีรายงานจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง.เผยแพร่ผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์การบริหารงบประมาณกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 “ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง” ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562-2563

พบผลการตรวจสอบที่น่าสนใจ จากการตรวจสอบโครงการ/กิจกรรม ที่เสนอขอรับงบประมาณปี พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2563

พบว่า มีกิจกรรมที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑที่ ก.บ.ภ. กําหนด และถูกตัดออกระหว่างขั้นตอนการพิจารณากลั่นกรองโครงการ

จากการตรวจสอบผลการพิจารณากลั่นกรองแผนปฏิบัติราชการประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2563 ของทีมบูรณาการกลาง และคณะอนุกรรมการ อ.ก.บ.ภ. ภาค พบว่า

ในปี 2562 เสนอ 40 กิจกรรม แต่ไม่เห็นควรสนับสนุนงบประมาณ จํานวน 10 กิจกรรม และปี 2563 เสนอ 47 กิจกรรม ไม่ผ่านการสนับสนุนงบประมาณ จํานวน 25 กิจกรรม

“ส่งผลกระทบให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่มีความจําเป็นเร่งด่วนก่อนได้ โดยเฉพาะการพัฒนาในประเด็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล”

สตง. พบงบประมาณ ปี 2562 ที่ดำเนินการใน 4 โครงการ วงเงิน 603,563,000 บาท ที่มีการเบิกจ่ายจริง 561,650,258.06 บาท และปีงบ 2563 วงเงิน 505,217,000 บาท ที่เบิกจ่ายจริง 443,953,529.18 บาท

พบว่า 9 กิจกรรมในปี 2562 และ 7 กิจกรรมในปี 2563 มีความล่าช้า เสร็จเพียง ร้อยละ 64.24 แถมมีการยกเลิกและปรับปรุงบางรายการของโครงการแก้ไขปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม ทั้ง 2 ปีงบประมาณ

เช่น โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) งบ 4,509,000 บาท

รวมถึง โครงการลักษณะเดียวกัน ของสํานักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (ระยอง) งบประมาณ 11,540,000 บาท

และโครงการก่อสร้างแพร้านค้าชุมชนส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ ต.บางแก้ว อําเภอเมืองฉะเชิงเทรา งบประมาณ 30,513,000 บาท ที่ถูกยกเลิก และถูกนำไปแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในพื้นที่แทน

“สตง.เห็นว่า กรณีนี้ ทำให้รัฐสูญเสียโอกาส ในการนํางบประมาณ ไปดําเนินการโครงการอื่น”

สตง.ยังพบว่า โครงการเส้นทางปั่นจักรยานรอบอ่างเก็บน้ำดอกกราย ระยะที่ 1 ต.แม่น้ำคู อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ระยะ 11 กิโลเมตร

“งบประมาณ จํานวน 50,000,000 บาท อาจไม่บรรลุวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)”

มีการดําเนินการตามสัญญา ระหว่าง โครงการชลประทานระยอง กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในพื้นที่ ตามสัญญา 32,900,000 บาท เริ่มต้นสัญญา ตั้งแต่ วันที่ 24 ก.ค. 2563 ครบกําหนดตามสัญญา 20 ธ.ค. 2563 และตรวจรับพัสดุแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2563

จากการตรวจสอบ โครงการกลับไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในด้านการสร้างความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว โดยต้องคํานึงถึงความปลอดภัยของผู้ที่เข้ามาร่วมกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่โครงการ

“จากการตรวจสอบสังเกตการณ์ จนถึงมิถุนายน 2565 พบมีรถบรรทุกวิ่งขนทราย จํานวนมาก โดยเฉพาะบริเวณ กิโลเมตรที่ 9-11 เนื่องจากบริเวณขอบอ่างเก็บน้ำ มีการขุดทรายจํานวนมาก ทําให้เกิดความไม่ปลอดภัย”

ภายหลังก่อสร้างมา 1 ปี ยังพบว่า เกิดความไม่ปลอดภัยจากสภาพถนนและเส้นทางจักรยานที่มีสภาพชํารุด จนเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น