xs
xsm
sm
md
lg

ครม.อนุมัติ อปท.ปรับปรุงระบบการกำกับดูแลด้านการเงิน ให้เปิดเผยข้อมูลให้ ปชช.ตรวจสอบได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.มีมติให้ อปท.ปรับปรุงระบบการกำกับดูแลด้านการเงินและให้เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบได้ พร้อมชี้วัดใน 8 ด้าน

วันนี้ (15 พ.ย.) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ว่า เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ และ อปท. รูปแบบทั่วไปเป็นหน่วยรับงบประมาณตามกฎหมายงบประมาณและได้รับงบประมาณอุดหนุนจากรัฐสูง แต่ยังขาดเครื่องมือในการตรวจสอบสถานะด้านการคลังและงบประมาณท้องถิ่น ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบและอนุมัติแนวทางเสริมสร้างศักยภาพการคลังท้องถิ่น (แบบประเมินสุขภาพการคลังท้องถิ่น) ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ เพื่อสร้างเครื่องมือในการตรวจสอบสถานะด้านการคลังและงบประมาณท้องถิ่นให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป 7,850 แห่ง นำไปใช้เพื่อปรับปรุงระบบการกำกับดูแลด้านการเงินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แบบประเมินนี้ จะมีการตรวจสอบภายใน การควบคุมภายใน และการบริหารจัดการความเสี่ยงตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และพัฒนาให้มีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบได้ เพื่อให้ อปท. มีความเข้มแข็งสามารถให้บริการประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า แบบประเมินสุขภาพการคลังท้องถิ่นจะมีการประเมินตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 โดยใช้ข้อมูลผลการปฏิบัติงานของปีงบประมาณ 2565 จะมีการชี้วัดในด้านต่างๆ 8 ด้าน

1. ด้านรายได้ ประเมินประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ของ อปท. รวมทั้งการใช้นวัตกรรมในการจัดเก็บรายได้

2. ด้านการเงิน ประเมินประสิทธิภาพในการชำระเงินที่ผ่านหลายช่องทาง สะดวก รวดเร็ว

3. ด้านงบประมาณรายจ่าย ประเมินความสอดคล้องการจัดทำคำของบประมาณประจำปีกับแผนพัฒนาท้องถิ่น ความพร้อมในการดำเนินโครงการ และความสามารถในการก่อหนี้ผูกพัน

4. ด้านการจัดซื้อจัดจ้าง ประเมินความสามารถในการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐได้อย่างถูกต้องตามระยะเวลา ขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด มีความโปร่งใส และมีการดำเนินการตามข้อตกลงคุณธรรม

5. ด้านการบัญชีและสินทรัพย์ จัดทำรายงานบัญชีและสินทรัพย์ตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐและรายงานต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน

6. ด้านการกำกับดูแลตนเอง ประเมินการควบคุมภายใน การตรวจสอบภายใน จัดทำรายงานการตรวจสอบภายใน และการจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยง

7. ด้านการก่อหนี้ระยะยาว ประเมินความคุ้มค่าของโครงการที่ก่อหนี้ระยะยาวหรือโครงการที่ใช้เงินกู้ว่าสอดคล้องกับวิสัยทัศน์การพัฒนาท้องถิ่น และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

8. ด้านเงินสะสม ประเมินประสิทธิผลของการใช้เงินสะสมตามวัตถุประสงค์ และรักษาระดับของเงินสะสมเพื่อเสถียรภาพทางการคลัง

“การมีแบบประเมินนี้ก็เพื่อการบริการเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ต้องสามารถเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบได้ พร้อมกับสามารถนำไปปรับปรุงระบบการกำกับดูแลตนเองได้ ” น.ส.ทิพานัน กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น