“คลัง-พาณิชย์” แก้ปมเพดานหนี้โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจบ ไม่ต้องขยายกรอบการใช้เงิน หลังหั่นงบประมาณที่จะใช้จาก 1.5 แสนล้านบาท เหลือ 6.6 หมื่นล้านบาท เหตุราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น ใช้เงินลดลง ย้ำชาวนายังได้รับการดูแลเหมือนเดิม ทั้งเงินส่วนต่างไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ รวมถึงการคงอยู่ของมาตรการคู่ขนานที่จะใช้ผลักดันราคาข้าว
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง ในฐานะที่ดูแลงบประมาณของประเทศ ได้หารือกับกระทรวงพาณิชย์ถึงงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 เสร็จแล้ว โดยมีความเห็นตรงกันที่จะปรับลดกรอบงบประมาณสำหรับใช้ในโครงการทั้งแพกเกจลงมา จากเดิมใช้งบประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ลดลงไปกว่า 8 หมื่นล้านบาท คงเหลือประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท เพื่อให้เพียงพอต่อกรอบวงเงินการใช้จ่ายตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังแห่งรัฐที่คงเหลืออยู่ โดยไม่ต้องมีการขยายเพดานจากปัจจุบันเหมือนกับปีที่ผ่านมา
สำหรับรายละเอียดการปรับลดงบประมาณในส่วนของโครงการประกันรายได้ข้าว ปีที่ 4 เดิมมีการขอวงเงิน 86,740 ล้านบาท มีเกษตรกรเข้าร่วม 4.68 ล้านครอบครัว ปรับกรอบวงเงินใหม่ลดเหลือ 1.8 หมื่นล้านบาท เพราะข้าวหลายชนิดราคาสูงขึ้นมาก เช่น ข้าวเปลือกเจ้าปัจจุบันอยู่ตันละ 9,200-9,400 บาท ใกล้เคียงกับราคาประกันที่ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 15,500-16,000 บาท ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ทำให้การจ่ายชดเชยรายได้ลดลงหรือไม่ต้องจ่าย
ส่วนโครงการช่วยต้นทุนและการบริหารจัดการข้าวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาท จำนวน 4.68 ล้านครอบครัว เดิมของบไว้ 55,364 ล้านบาท ลดเหลือประมาณ 40,000 ล้านบาท โดยส่วนที่ขาดไป 15,000 ล้านบาท จะให้นำเงินจากโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวของกรมการข้าว ที่ได้รับงบประจำปี 2566 วงเงิน 15,000 ล้านบาทมาเติมให้แทน เพราะถือเป็นโครงการที่มีความคล้ายคลึงกัน ขณะที่วงเงินสำหรับมาตรการคู่ขนาน 7,107 ล้านบาทจะยังคงเดิม เช่น โครงการจำนำยุ้งฉางให้ชาวนาชะลอการขาย เงินกู้ให้สถาบันเกษตรกรที่ชะลอการขายข้าว และช่วยโรงสีที่เก็บข้าวไว้ไม่ปล่อยออกสู่ตลาด
โดยหลังจากปรับลดกรอบวงเงินเสร็จสิ้นแล้ว จะมีการเสนอแพกเกจทั้งหมดเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 15 พ.ย. 2565 ทันที โดยไม่ต้องเสนอเข้าคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เพราะหลักเกณฑ์ของโครงการยังเหมือนเดิม เพียงแต่ปรับกรอบวงเงินใช้งบประมาณใหม่เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การปรับลดงบประมาณดังกล่าวจะไม่กระทบต่อเงินที่เกษตรกรจะได้รับ โดยทุกโครงการจะยังได้รับเท่าเดิม เพียงแต่จะลดความซ้ำซ้อนของโครงการที่มีความคล้ายคลึงกัน รวมถึงอัปเดตวงเงินที่จะใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาข้าวที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น เพราะขณะนี้ราคาข้าวเปลือกทุกชนิดปรับขึ้นไปมาก เมื่อเทียบกับช่วงกลางปีที่มีการตั้งโครงการ ตอนนั้นราคาข้าวยังไม่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ตอนนี้ราคาข้าวสูงขึ้น ทำให้มีแนวโน้มใช้งบประมาณน้อยลง