xs
xsm
sm
md
lg

ซูเปอร์โพล ชี้ ปชช.เชื่อกลุ่มทุน-พรรคการเมืองเตะตัดขาขวางนโยบายกัญชา เหตุเสียประโยชน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจ ปชช.ส่วนใหญ่รู้กัญชามีประโยชน์ ไม่จัดอยู่ในพวกยาเสพติดอื่นๆ “ภูมิใจไทย” เป็นพรรคการเมืองเดียวที่กล้าเปลี่ยนแปลง กว่าร้อยละ 80 เชื่อว่า การขัดขวางนโยบายกัญชาเป็นเกมการเมือง เตะตัดขา ไม่ให้ได้เปรียบจากนโยบายเพื่อชาวบ้านประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย

วันนี้ (19 พ.ย.) ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยว่า ตนได้ร่วมกับ นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล นักวิชาการอิสระด้านการเกษตรและการพัฒนาชนบท ดำเนินการสำรวจ เรื่อง กัญชา กับ การเตะตัดขา กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการจากผู้ถามผู้ตอบและเครื่องมือวัด จำนวน 1,226 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15- 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา โดยพบว่า

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 55.6 มีความรู้มากถึงมากที่สุดว่า กัญชาเป็นพืชที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพไม่จัดอยู่ในพวกยาเสพติดอื่นๆ ในขณะที่ ร้อยละ 29.8 มีความรู้ระดับปานกลาง และร้อยละ 14.6 ระบุ มีความรู้น้อยถึงไม่รู้เลย อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.8 เชื่อว่า มีขบวนการกลุ่มทุน กลุ่มการเมืองทั้งคนไทยและต่างชาติ เสียผลประโยชน์จากนโยบายกัญชาเพื่อสุขภาพของพรรคภูมิใจไทย ในขณะที่ ร้อยละ 22.2 ไม่เชื่อ

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.6 รับรู้ว่า พรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคการเมืองเดียวที่กล้าเปลี่ยนแปลง ทำเพื่อชาวบ้านประชาชน คนตัวเล็กตัวน้อยให้มีและใช้กัญชาได้อย่างปลอดภัย และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.3 รับรู้ว่า การขัดขวางนโยบายกัญชาของพรรคภูมิใจไทยเป็นเกมการเมือง เตะตัดขา โดยพรรคการเมืองที่ไม่ต้องการให้พรรคภูมิใจไทยได้เปรียบจากนโยบายเพื่อชาวบ้านประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยได้ประโยชน์

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.9 เห็นด้วยมากถึงมากที่สุดกับ พรรคภูมิใจไทย กำลังทำเรื่องกัญชาเพื่อประโยชน์ของชาวบ้านประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยระดับฐานรากของสังคมได้รับประโยชน์ ร้อยละ 20.5 เห็นด้วยปานกลางและร้อยละ 19.6 เห็นด้วยน้อย ถึง ไม่เห็นด้วยเลย

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.3 เห็นด้วยมากถึงมากที่สุดกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่กล้าได้ กล้าเสีย ทำเรื่องกัญชาเพื่อชาวบ้านประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยได้ประโยชน์มีและใช้กัญชาอย่างปลอดภัย ในขณะที่ ร้อยละ 20.0 เห็นด้วยปานกลาง และร้อยละ 20.7 เห็นด้วยน้อย ถึง ไม่เห็นด้วยเลย

ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.6 ระบุเป็นไปได้มากถึงมากที่สุดที่จะเข้าร่วม ส่งเสริม การปลูกกัญชา เพื่อเหตุผลทางการแพทย์และการวิจัย เพื่อคนไทย ชาวบ้านคนตัวเล็กตัวน้อย เข้าถึงยารักษาโรคจากพืชกัญชาด้วยความปลอดภัย ในขณะที่ ร้อยละ 19.7 ระบุเป็นไปได้ระดับปานกลาง และร้อยละ 18.7 เป็นไปได้น้อย ถึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่สำคัญคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.8 ระบุเป็นไปได้ค่อนข้างมากถึงมากที่สุดที่จะเลือกพรรคภูมิใจไทย ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ในขณะที่ ร้อยละ 17.3 ระบุเป็นไปได้ระดับปานกลาง และร้อยละ 24.9 ระบุเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยถึงเป็นไปไม่ได้เลย


ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มประชาชนทั่วไปกับกลุ่มกระแสในสังคมข้อมูลข่าวสารมีความแตกต่างกันเพราะประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจ ว่า กัญชาเป็นพืชที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพแยกออกจากยาเสพติดและการเสพติดอยู่ที่ตัวคนแต่ละคนมากกว่าว่าจะเสพติดอะไรได้ทั้งนั้น ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องกัญชาเพียงอย่างเดียว และเมื่อพิจารณาเรื่องกัญชาเพื่อสุขภาพจะพบว่ามีขบวนการกลุ่มทุนและกลุ่มการเมืองหลายกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกัญชาของพรรคภูมิใจไทยแต่ชาวบ้านประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยต่างได้ประโยชน์เป็นส่วนใหญ่ในการมีและใช้กัญชาอย่างปลอดภัย ผลที่ตามมา คือ การยกระดับความเป็นไปได้ในการมีส่วนร่วมส่งเสริมสนับสนุนการมีและใช้กัญชาอย่างปลอดภัยและตัดสินใจจะเลือกพรรคภูมิใจไทยถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ประชาชนมองเห็นถึงความกล้าได้กล้าเสียของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่แสดงความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาลเพื่อประโยชน์ของชาวบ้านประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยให้มีและใช้กัญชาอย่างปลอดภัย หลุดออกจากวงจรอุบาทว์เดิมๆ ที่มีการเอาข้อกฎหมายต่างๆ ในอดีตมาแสวงหาผลประโยชน์และหากินกับชาวบ้านและประชาชนโดยอ้างถึงความผิดให้ประชาชนทั่วไปหวาดกลัว เสียงจากประชาชน คือ “ใช้ใต้ดินก็ตามจับ ขอขึ้นบนดินก็ขัดขวาง ตกลงประเทศนี้ต้องการให้พวกเราลงใต้ดินต่อไปใช่ไหม” การนำกัญชาให้กลับมาอยู่ในมือประชาชน คือ ปฏิบัติการจริงของนโยบายเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG ระดับชุมชน” เพราะ กัญชา คือ พืชเศรษฐกิจใหม่ หนึ่งในความหลากหลายทางชีวภาพของไทยที่หาได้ยากจากที่ใดในโลก การให้ชาวบ้านได้กินใช้กัญชาอย่างถูกต้องและปลอดภัย คือ เศรษฐกิจชีวภาพระดับฐานรากและยังเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวไปพร้อมกันตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (Bio-Circular-Green Economy, BCG Economy) ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง แข่งขันระดับโลกได้


ในขณะที่ นักวิชาการอิสระด้านการเกษตรและการพัฒนาชนบท นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล กล่าวว่า ประเด็น “การใช้ประโยชน์จากกัญชา” ที่กำลังเป็นข้อถกเถียงอยู่ในขณะนี้ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมือง ระหว่างการเมืองเพื่อประชาชนกับการเมืองเพื่อกลุ่มทุน แม้ทราบกันมาโดยตลอดว่า กัญชา คือ ยาประจำบ้านของคนไทยมานับแต่อดีต และเป็นหนึ่งในความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญของแผ่นดิน โดยมีหลักฐานการใช้กัญชาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งในการแพทย์แผนไทยและยาสมุนไพร แต่ปัจจุบันการใช้กัญชาในประเทศไทยกลับเป็นสิ่งต้องห้าม ความพยายามให้ “กัญชาให้กลับมาอยู่ในมือประชาชน เพื่อการกินใช้และรักษาตนเอง” กลับยังถูกขัดขวาง โดยมีการนำประเด็นเรื่อง “กัญชาเป็นยาเสพติด” มาสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อสังคม ทั้งที่กัญชาติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่ ข้อเสนอคือเร่งรัดออกแนวทางการใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์ให้ลงไปถึงระดับชาวบ้านโดยเร็ว “ให้กัญชาอยู่ในมือชาวบ้านอย่างปลอดภัย” และนำประเด็น “กัญชา” กลับไปพิจารณาในสภา เพื่อให้เกิดข้อถกเถียงสาธารณะ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับรู้ข้อเท็จจริง และเห็นธาตุแท้ของนักการเมือง เพื่อการตัดสินใจเลือกตั้งในเวลาอันใกล้นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น