xs
xsm
sm
md
lg

“Thai PBS” เละ! ถูก “จับโป๊ะ” ปม “กุเลาเค็ม” ไม่ได้มาจาก “ตากใบ” ชาวเน็ตถล่มหนัก นักวิชาการ จวก ผิดวิสัยสื่อฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ ประเด็นข่าวดรามา ปลากุเลาเค็มไม่ได้มาจากตากใบ ขอบคุณข้อมูล-ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก The METTADและ “Thai PBS”
เสียดายภาษี! “Thai PBS” หวัง “จับโป๊ะ” รัฐบาล ถูกจับโป๊ะเสียเอง เพราะไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณี “กุเลาเค็ม” ไม่ได้มาจาก “ตากใบ” ชาวเน็ตถล่มยับ นักวิชาการด้านสื่อมวลชน จวกนักข่าวยัน บก.ขัดหลักวารสารศาสตร์

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (15 พ.ย. 65) เพจเฟซบุ๊ก The METTAD โพสต์ภาพ “Thai PBS” จับโป๊ะรัฐบาล กลายเป็นตัวเอง ที่ทำข่าวไม่รอบคอบ จนกลายเป็นความผิดพลาด พร้อมระบุว่า

“ก็ไม่เห็นจะแก้ไขอะไรนะครับ”

ทั้งนี้ มีการแชร์ข่าว Thai PBS ศูนย์ข่าวภาคใต้ ระบุว่า

“ผู้ประกอบการปลากุเลาเค็มตากใบ จังหวัดนราธิวาส หลายราย โวย เมื่อรู้ว่าปลากุเลาเค็มตากใบ ที่ถูกเลือกเป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่จะเสิร์ฟในงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์แก่ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก 2022 ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ กลับเป็นปลามาจากพื้นที่อื่น ที่ถูกนำไปจัดเลี้ยง

นางศิริพร อับดุลมาดิน ชาวมุสลิมที่ได้รับการถ่ายทอดการทำปลากุเลาเค็มจากชาวจีนโพ้นทะเล และมาศึกษาต่อจากคนไทยรุ่นเก่า ซึ่งยึดอาชีพนี้มานานกว่า 30 ปี บอกว่า ความแตกต่างของปลากุเลาเค็มตากใบ คือ การใช้ปลาในพื้นที่ที่มีภูมิประเทศเเตกต่างกับที่อื่น รวมถึงวิธีการทำที่พิถีพิถัน การนำปลาเค็มจากที่อื่นมารับประทาน ก็จะทำให้รสชาติแตกต่างกัน

“ก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมเขาเอาปลาจากที่อื่นมา แทนปลากุเลาเค็มที่ตากใบ ปลาที่นี่ไม่มีใครเหมือน รสชาติก็แตกต่าง เมื่อคนกินแล้วเค้าก็รู้ เราทำทุกกระบวนการเอาใจใส่ ทำมาหลายรุ่น”

เช่นเดียวกับ นางพิชญา เพชรแก้ว เจ้าของร้านป้าเบญปลากุเลาเจ้าเก่า กล่าวว่า ผลผลิตของชาวบ้านได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ถึง 9 เเห่ง แต่กลับไม่มีใครถูกสั่งซื้อเพื่อนำขึ้นโต๊ะ จึงไม่อยากให้นำชื่อของปลากุเลาเค็มตากใบไปใช้

“ไม่ชอบที่เค้าเอาปลาที่อื่นมาคะ พวกเราที่ทำปลาเค็มก็คุยกันว่า ไม่มีเจ้าไหนที่ถูกสั่งไปขึ้นโต๊ะ คือ เราไม่ได้ติดใจว่า เค้าจะเอาปลาจากไหนมาเสิร์ฟ แต่ถ้าเอามาจากที่ไหนก็ควรจะไปใช้เรื่องราวของที่นั้น เเต่นี่เค้าเอาเรื่องราวปลากุเลาเค็มจากตากใบไปโปรโมต แต่ไม่มีปลาจากที่นี้เลย พอรสชาติมันต่าง คนกินก็จะเข้าใจผิดว่า ปลากุเลาเค็มตากใบมันเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่”

ภาพ ปลากุเลาเค็ม จาก อ.ตากใบ ขอบคุณข้อมูล-ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก The METTADและ “Thai PBS”
ขณะที่ชาวบ้านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย จังหวัดปัตตานี ที่ถูกใช้ภาพในการเผยแพร่ผ่านสื่อโซเซี่ยลของกลุ่ม ในการจำหน่ายปลากุเลาเค็ม ชี้ว่า ทางกลุ่มก็ไม่ได้ถูกสั่งซื้อปลากุเลาเค็มเช่นกัน แต่มีการนำภาพของกลุ่มที่มีลายน้ำของสมาคมชาวประมงพื้นบ้าน จังหวัดปัตตานี ชัดเจนไปใช้ จึงเกรงว่าจะเกิดความเข้าใจผิดว่าสั่งซื้อมาจากกลุ่มนี้

#ปลากุเลาเค็มตากใบ #ThaiPBSศูนย์ข่าวภาคใต้
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม :
https://www.thaipbs.or.th/news/content/321453...
https://www.thaipbs.or.th/news/content/321500...

ขณะเดียวกัน จากกรณี Thai PBS ศูนย์ข่าวภาคใต้ ของ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รายงานว่า ผู้ประกอบการปลากุเลาเค็มตากใบ จังหวัดนราธิวาส หลายรายโวย เมื่อรู้ว่าปลากุเลาเค็มตากใบที่ถูกเลือกเป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่จะเสิร์ฟในงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์แก่ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก 2022 กลับเป็นปลามาจากพื้นที่อื่น นั้น

ภาพ ภาพป้าอ้วน ที่ออกมายืนยันว่า รัฐบาลซื้อปลากุเลาตากใบจริง ขอบคุณข้อมูล-ภาพจากเพจเฟซบุ๊กปลากุเลาเค็มป้าอ้วนตากใบ
ต่อมาเพจเฟซบุ๊ก “ปลากุเลาเค็มป้าอ้วนตากใบ” โพสต์ข้อความระบุว่า จากกรณีดรามาในโลกออนไลน์เรื่องปลากุเลาปลอม ยืนยันว่า มาจากร้านของตน เพราะเป็นร้านจำหน่ายปลากุเลาเค็มเพียงรายเดียวในอำเภอตากใบ ที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดด้านคุณภาพที่เหมาะสมกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนที่น่าเชื่อถือ (มผช.) ในระดับ 5 ดาว ซึ่งก่อนหน้านี้ มีเจ้าหน้าที่ได้มาซื้อปลากุเลาเค็มไปจำนวน 1 ตัว เพื่อนำไปชิม กระทั่งมีการสั่งซื้อผ่านออนไลน์ แต่เนื่องจากมีการซื้อวันละหลายหมื่นบาทในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา หลังจากมีกระแสข่าวเอเปก ทำให้ร้านไม่ทันได้ตรวจสอบ ซึ่งยืนยันว่า หน่วยงานภาครัฐ โดยตัวแทนได้สั่งผ่านระบบออนไลน์ไป จึงเกิดข้อผิดพลาดกันในกลุ่มผู้ค้าปลากุเลาเค็มตากใบ

สอดคล้องกับ นายชุมพล แจ้งไพร เชฟมิชลินสตาร์ชื่อดังของไทย ซึ่งเป็นผู้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าเชฟในงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์แก่ผู้นำเอเปก 2022 ยืนยันว่า กระแสโซเชียลมีเดีย ที่ระบุว่า เมนูปลากุเลาตากใบเป็นปลากุเลาปลอมนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะได้สั่งปลากุเลาตากใบจากร้าน “ปลากุเลาเค็มตากใบป้าอ้วน” ซึ่งเป็นสินค้าโอทอป 5 ดาว โดยผู้ประกอบการกลุ่มอื่นไม่ได้ทราบในข้อมูลตรงนี้ จึงเกิดความเข้าใจผิด โดยจะใช้เป็นส่วนประกอบในเซตอาหารจานหลัก เพื่อเพิ่มความโดดเด่นในเรื่องของกลิ่นในซอสราดมัสมั่นเนื้อน่องโคขุนจากสหกรณ์โพนยางคำ จ.สกลนคร และข้าวกล้อง 9 ชนิด อบตะไคร้หอม

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล โพสต์ในทวิตเตอร์ @Rachadaspoke มีความเข้าใจผิดว่า “ปลากุเลาเค็มตากใบ” ที่เสิร์ฟในงานเลี้ยงผู้นำเอเปกไม่ได้มาจากตากใบ

ความจริงคือ เชฟชุมพลสั่งซื้อจากร้าน “ปลากุเลาเค็มป้าอ้วนตากใบ” ได้โอทอปห้าดาว ค่ะ #ปลากุเลาเค็มตากใบ"

ภาพ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต จากแฟ้ม
ด้าน ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์เฟซบุ๊กว่า “จับโป๊ะ” ใครกันแน่?

กรณีการลงข่าวนี้ ข่าวไทยพีบีเอสจะ “จับโป๊ะ” รัฐบาล หรือว่าข่าวไทยพีบีเอส จะถูก “จับโป๊ะ” เสียเอง?

เนื้อหาข่าวไทยพีบีเอส เป็นการให้สัมภาษณ์ของผู้ประกอบการในพื้นที่ตากใบ “บางคน” ที่ให้ข้อมูลว่าไม่เห็นรู้เรื่องว่ามีการซื้อปลากุเลาเค็มจากร้านใดร้านหนึ่งใน 9 ร้าน ที่ได้ขึ้นทะเบียน GI ของจังหวัดไปเลย จึงสรุปได้ว่า ที่รัฐบาลโปรโมตว่าจะนำเอาปลากุเลาเค็มไปทำอาหารในการประชุมเอเปกนั้น “ไม่จริง”

ซึ่งต่อมาเชฟชุมพล และรองโฆษกรัฐบาล ก็ออกมาให้ข้อเท็จจริงว่า เชฟชุมพลซื้อปลากุเลาเค็มมาจากตากใบจริง จากร้านป้าอ้วน เพราะเป็นร้านเดียวที่ผ่านมาตรฐาน ซึ่งต่อมาเฟซบุ๊กของร้านป้าอ้วนก็ออกมายืนยันว่า มีการสั่งซื้อไปจริง แต่ด้วยการที่ร้านขายจำนวนมาก ก็ไม่รู้ว่าใครซื้อไปบ้าง (แล้วก็คงบอกกันไปในกลุ่มว่า ไม่รู้เรื่องที่ขายปลาเค็มไปทำอาหารเอเปก เพราะไม่เห็นมีใครมาติดต่อแจ้งอย่างนั้น)

ผมไม่แน่ใจว่า นักข่าวที่ทำข่าวนี้ เรียนจบวารสารศาสตร์มาหรือไม่ หรือ บก. ที่ตรวจข่าวนี้ (มีไหม) ใช้หลักการอะไรในการปล่อยให้ข่าวนี้ออกมาได้ แต่ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ ผมก็มีคำถามที่คนทั่วไปก็น่าจะสงสัยเหมือนกัน คือ ทำไมนักข่าวที่ทำข่าวนี้ถึง ...

1. เชื่อมั่นว่าไม่มีการซื้อจริง ด้วยคำบอกเล่าของร้าน (บางคน) ทำไมไม่คิดว่า คนที่ไปสัมภาษณ์นั้น เขารู้จริงหรือไม่ เข้าใจผิดหรือไม่ รู้ได้อย่างไรว่าไม่มีคนซื้อไปทำอาหารเอเปก การหาข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานนี่คือหลักการวารสารศาสตร์เบื้องต้นเลย

2. ถ้าไม่แน่ใจว่าร้านค้าจะรู้ข้อมูลหรือไม่ ทำไมไม่ทำสิ่งที่ง่ายที่สุด ก็คือ ถามไปที่ต้นทาง นั่นคือ เชฟชุมพล หรือทางสำนักนายกฯก็ได้ ว่าซื้อจริงไหม ซื้อยังไง ใครซื้อ การหาข้อมูลจากอีกฝั่ง ก็เป็นหลักวารสารศาสตร์เบื้องต้นสุดๆ เช่นกัน (ถ้าติดต่อไม่ได้ ก็ระบุไปว่ายังไม่ได้รับคำตอบ)

แต่ไม่ครับ นักข่าวที่ทำข่าวนี้ ไม่ได้ทำทั้งสองข้อ แล้วก็ลงข่าวพร้อมพาดหัวเลยว่า “จับโป๊ะ” ที่แปลว่า “จับโกหก”

คำถามต่อไปของผมคือ

1. ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชื่อเสียงของเชฟชุมพล จากการเกิดความเข้าใจผิดด้วยข้อมูลบิดเบือน ไทยพีบีเอสและนักข่าวคนนี้จะรับผิดชอบอย่างไร?

2. ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชื่อเสียงของประเทศไทยในสายตาชาวโลกจากการเกิดความเข้าใจผิดด้วยข้อมูลบิดเบือน ไทยพีบีเอสและนักข่าวคนนี้จะรับผิดชอบอย่างไร?

3. ไทยพีบีเอส เคยลงข่าวออนไลน์ด้วยข้อมูลที่ผิดพลาดมาแล้วหลายครั้ง และทุกครั้งก็ให้สัญญาว่าจะแก้ไข ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก รวมทั้งมีกลไกการตรวจสอบข่าวก่อนเผยแพร่ กลไกการป้องกัน การตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้นคืออะไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบ?

เหนื่อยใจเหมือนกันนะครับ เสียเวลาด้วย ที่ต้องมาคอยแก้ไขข้อมูลผิดๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก จากองค์กรสื่อที่ได้งบประมาณจากภาษีปีละ 2,000 ล้าน ที่ควรมีมาตรฐานการทำข่าวและสร้างประโยชน์ให้สาธารณะ ไม่ใช่การสร้าง Fake News เสียเอง

แล้วก็ไม่เข้าใจว่า จะทำเรื่องนี้ให้เป็นดราม่าเชิงลบ สร้างความขัดแย้ง และจะมาดิสเครดิตคนทำงานที่พยายามทำเพื่อชาติทำไม ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยได้รับเกียรติสำคัญระดับโลกเช่นนี้? มันมีผลดีกับใครหรือครับ?

(รายการเด็ก สารคดี ซีรีส์ รายการอื่นๆ ดีนะครับ แต่ข่าวออนไลน์ของไทยพีบีเอส ผิดซ้ำซากอย่างมีนัยสำคัญ และกรณีนี้ยิ่งชัดเจนว่าไม่มีระบบการตรวจสอบก่อนลงข่าวครับ)

ขณะที่ ชาวเน็ตจำนวนมาก ได้วิพากษ์วิจารณ์ Thai PBS ที่เสนอข่าวบิดเบือนข้อเท็จจริง.(จากไทยโพสต์)

แน่นอน, ความผิดพลาดในการทำข่าว และนำเสนอข่าว มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ด้วยความที่ต้องต่อสู้กับความสดของข่าว และเวลาอันจำกัด แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ ปัญหาจะไม่เกิดขึ้น ถ้าหากไม่ “ฟันธง” ว่า สิ่งที่นำเสนอข่าว เป็นความจริง ตราบใดที่ยังไม่สามารถตรวจสอบความจริงได้อย่างเชื่อมั่น มีหลักฐานยืนยันหนักแน่น รวมทั้งตรวจสอบแหล่งข่าว ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ถึงกระนั้น บางข่าวก็ยังไม่อาจ “ฟันธง” ได้

แต่ “Thai PBS” ทำเรื่องนี้แบบด่วนสรุป เหมือนต้องการ “ยืมปากชาวบ้าน” ด่า หรือ ดิสเครดิตรัฐบาล จึงไม่สนใจตรวจสอบอีกฝ่ายหนึ่ง คือ เจ้าของเรื่อง หรือไม่

เหนืออื่นใด สิ่งที่ชาวเน็ตวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ก็คือ “Thai PBS” จะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร แต่ก็ยังไม่มีอะไรออกมา แม้แต่คำขอโทษสักคำ ต้องติดตามว่า จะฝืนกระแสได้หรือไม่!?


กำลังโหลดความคิดเห็น