xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์นิด้าจวกไทยพีบีเอส ทำเป็นจับโป๊ะปลากุเลาตากใบ เชฟเสียหาย ประเทศไทยเสียชื่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ฯ นิด้า ตั้งคำถามไทยพีบีเอส ทำไมข่าวจับโป๊ะปลากุเลาตากใบนักข่าวถึงเชื่อมั่นว่าไม่มีการซื้อจริง ไม่ถามต้นทางคือเชฟชุมพลหรือโฆษกสำนักนายกฯ แต่ลงพาดหัว "จับโป๊ะ" ทำเชฟชุมพลเสียหาย และเสียชื่อเสียงประเทศไทย ชี้ที่ผ่านมาข่าวออนไลน์พลาดหลายครั้ง แล้วบอกว่าจะแก้ไข ใครรับผิดชอบ

วันนี้ (15 พ.ย.) จากกรณีที่เฟซบุ๊ก "Thai PBS ศูนย์ข่าวภาคใต้" ของศูนย์ข่าวภาคใต้ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รายงานว่า ผู้ประกอบการปลากุเลาเค็มตากใบ จังหวัดนราธิวาสหลายรายโวย เมื่อรู้ว่าปลากุเลาเค็มตากใบที่ถูกเลือกเป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่จะเสิร์ฟในงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์แก่ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก 2022 กลับเป็นปลามาจากพื้นที่อื่นที่ถูกนำไปจัดเลี้ยง ไม่เข้าใจว่าทำไมเอาปลาจากที่อื่นมา ไม่ใช่ร้านของตน จึงไม่อยากให้นำชื่อของปลากุเลาเค็มตากใบไปใช้ รวมทั้งมีการนำภาพของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย จังหวัดปัตตานี ไปใช้โปรโมต จึงเกรงว่าจะเกิดความเข้าใจผิดว่าสั่งซื้อมาจากกลุ่มนี้ กลายเป็นที่วิจารณ์สนั่นโซเชียลฯ

ต่อมาเฟซบุ๊ก "ปลากุเลาเค็มป้าอ้วนตากใบ" โพสต์ข้อความระบุว่า จากกรณีดรามาในโลกออนไลน์เรื่องปลากุเลาปลอม ยืนยันว่ามาจากร้านของตน เพราะเป็นร้านจำหน่ายปลากุเลาเค็มเพียงรายเดียวในอำเภอตากใบที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดด้านคุณภาพที่เหมาะสมกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนที่น่าเชื่อถือ (มผช.) ในระดับ 5 ดาว ซึ่งก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่ได้มาซื้อปลากุเลาเค็มไปจำนวน 1 ตัวเพื่อนำไปชิม กระทั่งมีการสั่งซื้อผ่านออนไลน์ แต่เนื่องจากมีการซื้อวันละหลายหมื่นบาทในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาหลังจากมีกระแสข่าวเอเปก ทำให้ร้านไม่ได้ทันได้ตรวจสอบ ซึ่งยืนยันว่าหน่วยงานภาครัฐ โดยตัวแทนได้สั่งผ่านระบบออนไลน์ไป จึงเกิดข้อผิดพลาดกันในกลุ่มผู้ค้าปลากุเลาเค็มตากใบ

สอดคล้องกับนายชุมพล แจ้งไพร เชฟมิชลินสตาร์ชื่อดังของไทย ซึ่งเป็นผู้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าเชฟในงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์แก่ผู้นำเอเปก 2022 ยืนยันว่า กระแสโซเชียลมีเดียที่ระบุว่าเมนูปลากุเลาตากใบเป็นปลากุเลาปลอมนั้นไม่เป็นความจริง เพราะได้สั่งปลากุเลาตากใบจากร้าน “ปลากุเลาเค็มตากใบป้าอ้วน” ซึ่งเป็นสินค้าโอทอป 5 ดาว ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มอื่นไม่ได้ทราบในข้อมูลตรงนี้ จึงเกิดความเข้าใจผิด โดยจะใช้เป็นส่วนประกอบในเซตอาหารจานหลัก เพื่อเพิ่มความโดดเด่นในเรื่องของกลิ่นในซอสราดมัสมั่นเนื้อน่องโคขุนจากสหกรณ์โพนยางคำ จ.สกลนคร และข้าวกล้อง 9 ชนิดอบตะไคร้หอม

อ่านประกอบ : ปลากุเลาเค็มตากใบ มาจากตากใบจริง แต่ซื้อร้านป้าอ้วนผ่านออนไลน์ ไม่รู้ว่าภาครัฐซื้อ 

“เชฟชุมพล” สยบดรามา มาตอบเอง เผยใช้ปลากุเลาเค็มตากใบ “ร้านป้าอ้วน” 

โฆษกรัฐโต้ดรามา "ปลากุเลาตากใบปลอม" เสิร์ฟผู้นำเอเปก ยันซื้อจริงร้านป้าอ้วน ตอนนี้ขายดีสุดๆ 

ล่าสุดเฟซบุ๊ก Warat Karuchit ของ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความหัวข้อ "จับโป๊ะใครกันแน่?" ระบุว่า "กรณีการลงข่าวนี้ ข่าวไทยพีบีเอสจะ "จับโป๊ะ" รัฐบาล หรือว่าข่าวไทยพีบีเอสจะถูก "จับโป๊ะ" เสียเอง?

เนื้อหาข่าวไทยพีบีเอสเป็นการให้สัมภาษณ์ของผู้ประกอบการในพื้นที่ตากใบ "บางคน" ที่ให้ข้อมูลว่าไม่เห็นรู้เรื่องว่ามีการซื้อปลากุเลาเค็มจากร้านใดร้านหนึ่งใน 9 ร้านที่ได้ขึ้นทะเบียน GI ของจังหวัดไปเลย จึงสรุปได้ว่าที่รัฐบาลโปรโมตว่าจะนำเอาปลากุเลาเค็มไปทำอาหารในการประชุมเอเปกนั้น "ไม่จริง"

ซึ่งต่อมาเชฟชุมพล และรองโฆษกรัฐบาล ก็ออกมาให้ข้อเท็จจริงว่า เชฟชุมพลซื้อปลากุเลาเค็มมาจากตากใบจริง จากร้านป้าอ้วน เพราะเป็นร้านเดียวที่ผ่านมาตรฐาน ซึ่งต่อมาเฟซบุ๊กของร้านป้าอ้วนก็ออกมายืนยันว่ามีการสั่งซื้อไปจริง แต่ด้วยการที่ร้านขายจำนวนมาก ก็ไม่รู้ว่าใครซื้อไปบ้าง (แล้วก็คงบอกกันไปในกลุ่มว่าไม่รู้เรื่องที่ขายปลาเค็มไปทำอาหารเอเปก เพราะไม่เห็นมีใครมาติดต่อแจ้งอย่างนั้น)

ผมไม่แน่ใจว่านักข่าวที่ทำข่าวนี้เรียนจบวารสารศาสตร์มาหรือไม่ หรือ บก.ที่ตรวจข่าวนี้ (มีไหม) ใช้หลักการอะไรในการปล่อยให้ข่าวนี้ออกมาได้ แต่ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ ผมก็มีคำถามที่คนทั่วไปก็น่าจะสงสัยเหมือนกัน คือ ทำไมนักข่าวที่ทำข่าวนี้ถึง ...

1. เชื่อมั่นว่าไม่มีการซื้อจริง ด้วยคำบอกเล่าของร้าน (บางคน) ทำไมไม่คิดว่า คนที่ไปสัมภาษณ์นั้นเขารู้จริงหรือไม่ เข้าใจผิดหรือไม่ รู้ได้อย่างไรว่าไม่มีคนซื้อไปทำอาหารเอเปก การหาข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานนี่คือหลักการวารสารศาสตร์เบื้องต้นเลย

2. ถ้าไม่แน่ใจว่าร้านค้าจะรู้ข้อมูลหรือไม่ ทำไมไม่ทำสิ่งที่ง่ายที่สุด ก็คือถามไปที่ต้นทาง นั่นคือเชฟชุมพล หรือทางสำนักนายกฯ ก็ได้ ว่าซื้อจริงไหม ซื้อยังไง ใครซื้อ การหาข้อมูลจากอีกฝั่ง ก็เป็นหลักวารสารศาสตร์เบื้องต้นสุดๆ เช่นกัน (ถ้าติดต่อไม่ได้ ก็ระบุไปว่ายังไม่ได้รับคำตอบ)

แต่ไม่ครับ นักข่าวที่ทำข่าวนี้ ไม่ได้ทำทั้งสองข้อ แล้วก็ลงข่าวพร้อมพาดหัวเลยว่า "จับโป๊ะ" ที่แปลว่า "จับโกหก"

คำถามต่อไปของผมคือ

1. ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชื่อเสียงของเชฟชุมพล จากการเกิดความเข้าใจผิดด้วยข้อมูลบิดเบือน ไทยพีบีเอสและนักข่าวคนนี้จะรับผิดชอบอย่างไร?

2. ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชื่อเสียงของประเทศไทยในสายตาชาวโลกจากการเกิดความเข้าใจผิดด้วยข้อมูลบิดเบือน ไทยพีบีเอสและนักข่าวคนนี้จะรับผิดชอบอย่างไร?

3. ไทยพีบีเอสเคยลงข่าวออนไลน์ด้วยข้อมูลที่ผิดพลาดมาแล้วหลายครั้ง และทุกครั้งก็ให้สัญญาว่าจะแก้ไข ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก รวมทั้งมีกลไกการตรวจสอบข่าวก่อนเผยแพร่ กลไกการป้องกัน การตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้นคืออะไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบ?

เหนื่อยใจเหมือนกันนะครับ เสียเวลาด้วย ที่ต้องมาคอยแก้ไขข้อมูลผิดๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก จากองค์กรสื่อที่ได้งบประมาณจากภาษีปีละ 2,000 ล้าน ที่ควรมีมาตรฐานการทำข่าวและสร้างประโยชน์ให้สาธารณะ ไม่ใช่การสร้าง Fake News เสียเอง

แล้วก็ไม่เข้าใจว่า จะทำเรื่องนี้ให้เป็นดรามาเชิงลบ สร้างความขัดแย้ง และจะมาดิสเครดิตคนทำงานที่พยายามทำเพื่อชาติทำไม ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยได้รับเกียรติสำคัญระดับโลกเช่นนี้? มันมีผลดีต่อใครหรือครับ?

(รายการเด็ก สารคดี ซีรีส์ รายการอื่นๆ ดีนะครับ แต่ข่าวออนไลน์ของไทยพีบีเอส ผิดซ้ำซากอย่างมีนัยสำคัญ และกรณีนี้ยิ่งชัดเจนว่าไม่มีระบบการตรวจสอบก่อนลงข่าวครับ)"

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่
















กำลังโหลดความคิดเห็น