ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต เผยผู้อำนวยการไทยพีบีเอสแจ้งว่ามีการสอบสวนกรณีลงข่าวปลากุเลาตากใบ หากผิดจริงลงโทษทางวินัย ขณะที่เพจ "ซึ่งต้องพิสูจน์" ระบุคนทำข่าวนี้โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว พอไม่เป็นความจริงก็แก้ไขข้อความ แต่ไร้คำขอโทษใดๆ
วันนี้ (15 พ.ย.) จากกรณีที่ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความหัวข้อ "จับโป๊ะใครกันแน่?" กรณีที่เฟซบุ๊ก "Thai PBS ศูนย์ข่าวภาคใต้" ของศูนย์ข่าวภาคใต้ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นำเสนอข่าวกล่าวหาว่าปลากุเลาเค็มตากใบ จังหวัดนราธิวาสที่ถูกเลือกเป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่จะเสิร์ฟในงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์แก่ผู้นำเอเปก 2022 กลับเป็นปลามาจากพื้นที่อื่น ทั้งที่ภายหลังพบว่าซื้อมาจากร้านปลากุเลาเค็มป้าอ้วนตากใบ และนายชุมพล แจ้งไพร เชฟมิชลินสตาร์ หัวหน้าเชฟในงาน ยืนยันว่าปลากุเลาปลอมไม่เป็นความจริง
โดยตั้งคำถามถึงผู้สื่อข่าวและกองบรรณาธิการข่าวว่าใช้หลักการอะไรในการนำเสนอข่าว อีกทั้งการพาดหัวคำว่า "จับโป๊ะ" ที่แปลว่าจับโกหก ทั้งที่ไม่เป็นความจริง นอกจากเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของเชฟชุมพลแล้ว ยังเสียชื่อเสียงของประเทศไทยในสายตาชาวโลกจากการเกิดความเข้าใจผิดด้วยข้อมูลบิดเบือน จะรับผิดชอบอย่างไร และที่ผ่านมาไทยพีบีเอสเคยลงข่าวออนไลน์ด้วยข้อมูลที่ผิดพลาดมาแล้วหลายครั้ง และทุกครั้งก็ให้สัญญาว่าจะแก้ไข ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก รวมทั้งมีกลไกการตรวจสอบข่าวก่อนเผยแพร่ กลไกการป้องกัน การตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้นคืออะไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งที่เป็นสื่อสาธารณะได้งบประมาณจากภาษีปีละ 2,000 ล้านบาท ควรมีมาตรฐานการทำข่าวและสร้างประโยชน์ให้สาธารณะ ไม่ใช่การสร้างเฟกนิวส์
อ่านประกอบ : อาจารย์นิด้าจวกไทยพีบีเอส ทำเป็นจับโป๊ะปลากุเลาตากใบ เชฟเสียหาย ประเทศไทยเสียชื่อ
ล่าสุดเฟซบุ๊ก Warat Karuchit ของ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความว่า "ผอ.ไทยพีบีเอสได้แจ้งผมว่ามีการสอบสวนกรณีลงข่าวผิดพลาดแล้ว หากพบว่าผิดจริงจะมีการลงโทษทางวินัย รวมทั้งขอบคุณผมที่ทำหน้าที่ช่วยตรวจสอบการทำหน้าที่ของไทยพีบีเอส ถ้าเป็นภาษาวัยรุ่น อาจจะสรุปสาเหตุของความผิดพลาดนี้ได้ว่า มาจากภัยความมั่น"
ด้านเฟซบุ๊กเพจ "ซึ่งต้องพิสูจน์" โพสต์ภาพเฟซบุ๊กส่วนตัวของผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายหนึ่ง (ขอสงวนชื่อและนามสกุล) ที่ทำข่าวประเด็นปลากุเลาตากใบ พร้อมระบุว่า "ย้อนดูไทม์ไลน์นักข่าว TPBS ที่ทำข่าว ผู้ผลิตกุเลาเค็ม โวยเวทีเอเปกไม่ใช้ปลาตากใบ ที่นำเรื่องนี้โพสต์ที่เฟซฯ ส่วนตัว มีการแก้ไขข้อความ เเต่ไม่มีคำขอโทษ เเละไม่มีคำชี้เเจงใดๆ"