รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือทางดิจิทัล 6 ด้าน เพื่อกำหนดอนาคตร่วมกัน พัฒนาความร่วมมือด้านดิจิทัล เพื่อความมั่นคง ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และเปิดกว้างสำหรับทุกคน
วันนี้ (8 พ.ย.) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 มีมติเห็นชอบร่างปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือทางดิจิทัลเพื่อกำหนดอนาคตร่วมกัน (Ministerial Declaration on Digital Cooperation for Shaping Our Common Future) ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ โดยจะมีการลงนามรับรองร่างปฏิญญาฯ ในการประชุม Asia-Pacific Digital Ministerial Conference 2022 วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ณ กรุงโซล เกาหลีใต้ โดยมีกระทรวงวิทยาศาสตร์และไอซีที เกาหลีใต้ ร่วมกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสาหรับเอเชียและแปซิฟิก หรือ UNESCAP เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมซึ่งจะเป็นการประชุมรัฐมนตรีดิจิทัลเอเชีย-แปซิฟิกครั้งแรก
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของร่างปฏิญญาฯ จึงได้กำหนดข้อตกลงด้านการดำเนินงาน 6 ด้านหลัก ดังนี้
1. ด้านโครงข่าย (Network) กำหนดขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี (best practices) เพื่อสร้าง การเชื่อมโยงที่ทั่วถึง มั่นคง และปลอดภัย ในราคาที่เข้าถึงได้ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
2. ด้านจริยธรรม (Ethics) กำหนดให้ใช้และพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล (emerging digital technologies) รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์
3. ด้านการใช้ข้อมูล (Data use) กำหนดให้พัฒนาการเข้าถึงข้อมูลทางดิจิทัลที่เป็นธรรมและถูกกฎหมาย สนับสนุนการใช้ข้อมูลเพื่อสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม และเชื่อมโยงข้อมูลสาธารณะและข้อมูลส่วนบุคลเพื่อกระตุ้นนวัตกรรมและสร้างระบบฐานข้อมูลสาหรับการตัดสินใจ
4. ด้านกำลังคน (Workforce development) กำหนดให้บ่มเพาะให้เกิดกลุ่มกำลังคนที่เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลอย่างแท้จริง (Digital native generations) เสริมสร้างขีดความสามารถด้านดิจิทัลให้กับคนในภูมิภาค และพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัลในการทำงานของแรงงานเพื่อรักษาระดับความมั่นคงและยั่งยืนของการพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัล รวมถึงประโยชน์ที่จะเกิดจากนวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล
5. ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ จะมีการส่งเสริมการสร้างฉันทามติและการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ เช่น ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ
6. ด้านอื่นๆ คือ จะมีการนำเสนอปฏิญญาฯ ในการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสาหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) สมัยที่ 79 รวมทั้งจะมีการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีดิจิทัลเป็นประจำ
“ร่างปฏิญญาฯ ดังกล่าวเป็นก้าวสำคัญในความร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ร่วมกันในการตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลต่อชีวิตประจำวัน การพัฒนาอุตสาหกรรม การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และประเทศต่างๆ แสดงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านดิจิทัลโดยการสร้างระบบนิเวศทางดิจิทัลที่มั่นคง ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และเปิดกว้างสำหรับทุกคนผ่านการดำเนินงานที่สำคัญตามที่ตกลงกัน” น.ส.ทิพานัน กล่าว