xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ผ่านร่างmouความร่วมมือไทย-ลาวด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม สารสนเทศและการสื่อสาร-ดิจิทัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีดิจิทัล ระหว่างไทยและสปป.ลาว พัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือในระยะยาวและยั่งยืน

วันนี้ (25ต.ค.) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีดิจิทัล ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยและกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสารแห่ง สปป.ลาว ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ เพื่อเดินหน้าพัฒนาความร่วมมือด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีขอบเขตความร่วมมือ จำนวน 15 ด้าน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาด้านไปรษณีย์โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและเทคโนโลยีดิจิทัลบนพื้นฐานของความเท่าเทียม ต่างตอบแทนและผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือในระยะยาวและยั่งยืน

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ขอบเขตความร่วมมือทั้ง 15 ด้านประกอบด้วย 1.ด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีดิจิทัล 2.รัฐบาลดิจิทัล 3.เศรษฐกิจดิจิทัล 4.เมืองอัจฉริยะ 5.ทักษะด้านดิจิทัล 6.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 7.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 8.การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีที โทรคมนาคม และดิจิทัล ได้แก่ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ดิจิทัลคอนแทนต์ (Digital content) และการบริการที่เกี่ยวข้อง 9.โครงสร้างพื้นฐานด้านบรอดแบนด์ และการพัฒนา การให้บริการ 10.นวัตกรรมด้านไอซีทีและเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) อินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง [Internet of Things (IoT)] และคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud computing) 11.โอกาสด้านดิจิทัล เช่น การรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital literacy) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลส่งเสริมโอกาสและศักยภาพของประชาชน (Digital inclusion) และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์(e-Commerce) 12.การวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมในด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีดิจิทัล 13.การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมถึงความร่วมมือและความช่วยเหลือในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 14.ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่วิสาหกิจเพื่อสร้างความร่วมมือด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีดิจิทัล และ 15.สาขาอื่นๆ

“เพื่อให้บรรลุเป้าหมายพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือในระยะยาวและยั่งยืน รูปแบบการดำเนินความร่วมมือจะประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จ ความก้าวหน้าและแผนการพัฒนา การแลกเปลี่ยนการเยือน การประชุม และการหารือ รวมถึงการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนที่เกี่ยวข้อง จะมีการดำเนินโครงการ ความร่วมมือ (Joint projects) ในด้านต่าง ๆ และมีการอำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจ Start-ups ในด้านไอซีที และเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากนี้จะมีการจัดนิทรรศการ โครงการฝึกอบรม ประชุมเชิงปฏิบัติการ และสัมมนา และรูปแบบความร่วมมืออื่น ๆ ตามที่ตกลงร่วมกัน” น.ส.ทิพานัน กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น