นายกฯ ถกบอร์ด BCG ย้ำ เร่งสนับสนุน 3 สาขาโมเดล ศก. BCG เล็งตั้งศูนย์แปลผลข้อมูลพันธุกรรมสำหรับการแพทย์แม่นยำในมะเร็ง-โรควินิจฉัยยาก คาด 4 ล.คนไทยได้ประโยชน์ สร้างมาตรฐานรับการผลิตวัคซีนโรคระบาดในฟาร์ม-หนุนราชบุรี Sandbox จัดการโรคระบาดในสุกร
วันนี้ (31 ต.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ครั้งที่ 2/2565 (ผ่านระบบ Video Conference) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมด้วย ผลการประชุมสรุปดังนี้
นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความสำคัญของการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ซึ่งประเทศไทยได้เสนอในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ต่อการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ และให้ใช้โอกาสนี้ในการประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ให้นานาประเทศได้รับรู้ผ่านกิจกรรม สินค้าและผลิตภัณฑ์ BCG ต่างๆ ของประเทศไทยด้วย รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าการดําเนินงานตามมติคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model ครั้งที่ 1/2565 (7 กุมภาพันธ์ 2565) ทั้ง 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) การจัดสรรงบประมาณ 2) ภาครัฐปรับยุทธศาสตร์บูรณาการ BCG เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ 3) การสร้างระบบนิเวศเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน 4) การสนับสนุนภาคประชาสังคม และ 5) การติดตามผลการดําเนินงานตามแผน BCG ต่อการบรรลุเป้าหมาย SDG ซึ่งมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG และแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566-2570) โดยขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไปให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามแผนเพื่อบรรลุเป้าหมาย BCG และ SDG ตามที่กำหนดไว้
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกภาคส่วน ที่ได้ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเริ่มเห็นผลสําเร็จที่เป็นรูปธรรมโดยลำดับ และขอให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมดําเนินการอย่างเข้มข้น ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG และ SDG ตามนโยบายรัฐบาล ให้ประชาชนและสังคมได้รับทราบอย่างกว้างขวาง และเห็นถึงประโยชน์ที่ประชาชนและประเทศไทยจะได้รับจากการดำเนินการดังกล่าว เพื่อประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมของประเทศไทยร่วมมือกันขับเคลื่อน BCG เดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ร่วมกัน
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบเคาะมาตรการสนับสนุนการขับเคลื่อน 3 สาขายุทธศาสตร์ ได้แก่
1. สาขายาและวัคซีน ให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณ 661.79 ล้านบาท เพื่อการจัดตั้งศูนย์แปลผลข้อมูลพันธุกรรมสำหรับการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง และศูนย์แปลผลข้อมูลพันธุกรรมสำหรับการแพทย์แม่นยำในโรคหายากและโรควินิจฉัยยาก ซึ่งคาดว่าจะมีคนไทยกว่า 4 ล้านคน มีโอกาสได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการดังกล่าว ส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานผลิตวัตถุดิบทางยา (Active Pharmaceutical Ingredient, API) ครั้งแรกของประเทศเพื่อความมั่นคงทางด้านสุขภาพ การจัดตั้งโรงงานดังกล่าวคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท ในรูปแบบของการร่วมทุนระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดย บริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัด องค์การเภสัชกรรม และ สวทช.
2. สาขาเกษตร ได้สั่งการให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิต Autogenous Vaccine ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ได้มาตรฐานเพื่อรองรับการผลิตวัคซีนใช้ป้องกันโรคระบาดที่สำคัญในฟาร์ม เสริมการดำเนินงานของราชบุรี Sandbox ในการจัดการโรคระบาดในสุกร และมอบให้ทุกหน่วยงานที่จัดเก็บข้อมูลตลอด Supply Chain เปิดเผยข้อมูลเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการสู่เกษตรสมัยใหม่ด้วยการใช้คลังข้อมูลขนาดใหญ่ ทั้งนี้ มีเป้าหมายเพิ่มรายได้เกษตรกร ผลิตได้ตรงเป้าและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติต่างๆ ด้วยการวางแผนรับมือได้ล่วงหน้า
3. สาขานวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ให้กระทรวงการคลังเร่งพิจารณาแนวทางลดอุปสรรคทางภาษีเพื่อสนับสนุนการร่วมลงทุนระหว่างบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท Braskem ซึ่งเป็นผู้ผลิตโพลิเมอร์ชีวภาพรายใหญ่ที่สุดในโลก ในการจัดตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ พอลิเอทิลีน (Bio-PE) ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท กำลังการผลิต 2 แสนตัน/ปี ใช้เอทานอล 450 ล้านลิตร/ปี โดยทุกตันของ Bio-PE ที่ผลิตปล่อยก๊าซคาร์บอนออกไซด์ต่ำกว่าปิโตรเลียม 5 เท่า
นอกจากนี้ นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการและเน้นย้ำให้ภาครัฐทุกกระทรวงเร่งเครื่องสนับสนุนการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการและให้หารือสภาพัฒน์ฯ เพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ BCG ทุ่งกุลาร้องไห้ ต่อไป รวมทั้งให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสนับสนุนการใช้สัญลักษณ์ T-Mark (Thailand Trust Mark) สำหรับผู้ประกอบการ BCG และกลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อมเพื่อสนับสนุนการขยายตลาดให้กับผู้ประกอบการ BCG อีกทางหนึ่ง
ขณะเดียวกัน ให้สำนักงบประมาณนำแนวคิด BCG ไปเป็นแนวทางการจัดสรรงบประมาณและเตรียมผลักดันให้มี “งบบูรณาการ BCG” ในปีงบประมาณ 2567 และหน่วยงานต่างๆ ได้มีการปลดล็อกกฎหมายเพิ่มเติม ได้แก่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง “กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก” อนุญาตให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติกแปรใช้ใหม่ (Recycled Plastic) เพื่อการบรรจุอาหารได้ ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่อง “ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ” เพื่อการอนุรักษ์ รักษา ฟื้นฟู ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ และประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอใช้สิทธิเสียภาษีในอัตราศูนย์สำหรับสุราสามทับที่นำไปใช้ในการอุตสาหกรรม” ให้แก่อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องสำอางตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพิ่มเติม
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวคิดการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล ได้ดำเนินการภายใต้จุดแข็งของประเทศทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ซึ่งสอดคล้องต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ส่งผลดีทำให้ภาคเอกชนไทยต่างขานรับโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 มีเอกชนขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มูลค่าประมาณ 80,000 ล้านบาท มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 36 ของมูลค่าโครงการ โดยธุรกิจนวัตกรรมที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน เช่น การผลิตวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ ผลิตชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์และน้ำยาสำหรับชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ การผลิตพืชด้วยโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) และการผลิตโปรตีนจากพืช และสถาบันการเงินมีการให้สินเชื่อเพื่อการสนับสนุนการประกอบอาชีพ และการดำเนินธุรกิจ BCG ด้วยมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านบาท ภายในปี 2570 ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีวงเงิน 6 หมื่นล้านบาท ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) มีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อเพิ่มจาก 5 หมื่นล้านบาท เป็น 1 แสนล้านบาท
สำหรับการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในภาคสังคมได้เตรียมการจัดตั้ง “ธนาคารอาหารออนไลน์” ด้วยระบบ “คลาวด์ ฟู้ด แบงก์” ครั้งแรกในประเทศไทยด้วยความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ แบบจตุภาคี ซึ่งแพลตฟอร์ม “คลาวด์ ฟู้ด แบงก์” เป็นแพลตฟอร์มกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ที่ต้องการบริจาคอาหารกับกลุ่มคนที่ขาดแคลนอาหารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการรับและการส่งต่ออาหาร โดยเอสโอเอสเป็นผู้พัฒนาและดูแลระบบโดยมีบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาแพลตฟอร์ม