"อนุทิน" ร่วมแสดงสัตยาบันไทยเข้าร่วมภาคีสถาบันวัคซีนนานาชาติ (IVI) ส่งผู้เชี่ยวชาญเรียนรู้งาน แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี แสดงศักยภาพโรงงานไทยมาตรฐานสูงพร้อมป้อนตลาดโลก ชงขอพิจารณาตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทย พร้อมลงนามความร่วมมือสาธารณสุขร่วม "เกาหลีใต้" สร้างความเข้มแข็งระบบสุขภาพ
เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเข้าร่วมพิธีแสดงสัตยาบันกับสถาบันวัคซีนนานาชาติ (IVI) พิธีเปิด World Bio Summit 2022 “อนาคตของวัคซีนและชีวอนามัย” หารือทวิภาคีระหว่างไทยและเกาหลีใต้ โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง สธ.ไทยกับเกาหลี ว่า IVI เป็นองค์กรระดับโลกด้านวัคซีน ก่อตั้งเมื่อปี 2540 เพื่อพัฒนาและส่งมอบวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ราคาไม่แพงสำหรับประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทยก่อตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เมื่อปี 2555 เพื่อเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานของวัคซีน ให้พร้อมรับมือกับโรคระบาดในอนาคต ในนามของรัฐบาลไทยต้องขอบคุณ IVI ที่จัดพิธีแสดงสัตยาบันของการที่ไทยเข้าร่วมเป็นภาคี (State Party) IVI ซึ่งไทยเพิ่งได้รับการคัดเลือกทำให้เกิดความร่วมมือวิจัยพัฒนาวัคซีน บุคลากรด้านวัคซีน โดยปีนี้ส่งบุคลากรผู้เชี่ยวชาญของสถาบันฯ 3 คนไปเรียนรู้และทำให้เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกัน ซึ่งสถานที่ทำงานเขามีมาตรฐานแบบสหประชาชาติเลย
นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ก็ต้องทำให้เขาเชื่อมั่นโรงงานผลิตวัคซีนที่มีในไทย ซึ่งเรามีทั้งขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ไบโอเนทเอเชีย สยามไบโอไซเอนซ์ แสดงศักยภาพโรงงานเราว่าผลิตวัคซีนส่งป้อนตลาดโลกที่มีมาตรฐานสูง และให้เขาพิจารณาว่า IVI ที่กำลังคิดตั้งสำนักงานตัวแทนในภูมิ-าค็ขอให้พิจารณาไทยด้วย
นายอนุทินกล่าวว่า ส่วนการประชุม World Bio Summit 2022 ตนนำเสนอภายในงานว่า บทเรียนการระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 คือ ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย และต้องเตรียมพร้อมสำหรับภัยคุกคามต่อสุขภาพในอนาคต ซึ่งการพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรค ยา และวัคซีนเพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ต้องได้รับความร่วมมืออย่างมากจากนานาประเทศ อย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะเป็นเรื่องยากสำหรับประเทศใดประเทศหนึ่งที่จะพร้อมในทุกด้าน เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แหล่งเงินทุน ต้นแบบของไวรัสที่มาจากการระบาด และโอกาสในการทดลองวัคซีน ดังนั้น จึงต้องร่วมกันคิดหาวิธีวางแผนและบรรลุเป้าหมาย ทั้งนี้ ไทยมีนโยบายการดูแลปกป้องประชากรทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศ โดยให้บริการวัคซีน ซึ่งทำได้ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 82 ของประชากร มีการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนที่ รพ.สต.เพื่อให้เข้าถึงอย่างสะดวก และมีการวิจัยวัคซีนหลายโครงการ เช่น ChulaCov19, HexaPro - GPO Vac และวัคซีนใบยา เป็นต้น เชื่อว่าประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของไทยที่จะแบ่งปันในการประชุมนี้ จะนำไปสู่การวางแผนเชิงกลยุทธ์ใหม่หรือดีขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความมั่นคงด้านสุขภาพร่วมกันทั่วโลก จึงจะสามารถป้องกันผู้คนทั่วโลกจากโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ได้
นายอนุทินกล่าวว่า ส่วนการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข มุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพ การดูแลสุขภาพดิจิทัล และการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญและเป็นรากฐานของระบบสุขภาพ เพราะเราได้บทเรียนจากโควิด 19 คือ ระบบสุขภาพต้องยืดหยุ่นเพื่อรับมือต่อวิกฤตต่างๆ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาให้บริการในช่วงโควิด เช่น หุ่นยนต์ การให้คำปรึกษาออนไลน์ และ Telemedicine การพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ส่งผลให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงต้องปรับตัวและเรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที ข้อตกลงฉบับนี้เป็นเสมือนการปูทางไปสู่การแบ่งปันความรู้และความเชี่ยวชาญระหว่างสองประเทศ เพื่อเสริมสร้างระบบสุขภาพของทั้งสองประเทศให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนของทั้งสองประเทศให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมอย่างยั่งยืน