วันนี้ (29 ต.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ ทั้งในเรื่องการขยายตลาด หาตลาดใหม่ การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร รวมถึงการรักษามาตรการสุขอนามัยให้เป็นไปตามมาตรฐานประเทศผู้ซื้อ ทำให้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปต่างประเทศมีมูลค่าเพิ่มต่อเนื่อง
นางสาวรัชดา กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานตัวเลขส่งออกหมวดสินค้าเกษตร 9 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่า 7 แสนล้านบาท +5.2% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สินค้าสำคัญ เช่น ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป มูลค่า 1 แสนกว่าล้านบาทเพิ่ม +26.9% ผลไม้แช่แข็ง และผลไม้แห้ง มูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท +39.1% ขณะที่ข้าวขยายตัวได้ดี 9 เดือนแรก +23.6% มูลค่ารวม 9.5 หมื่นล้านบาท ตลาดที่ขายได้มากขึ้น เช่น อิรัก เบนิน แองโกลา แคเมอรูน และแคนาดา เป็นต้น
นางสาวรัชดา กล่าวต่อไปว่า ในส่วนการส่งออกผลไม้ไทย 9 เดือนแรก ส่งออก 3.1 ล้านตัน มูลค่า 2.1 แสนล้านบาท เฉพาะที่ส่งไปไปจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทย มีปริมาณสูงถึง 1.7 ล้านตัน สร้างมูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท โดยผลไม้สดที่ส่งออก 5 อันดับแรก คือ ทุเรียน มังคุด ลำไย สับปะรด และ ส้มโอ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีสินค้าพืชที่มีศักยภาพในการส่งออกอีกหลายชนิด อาทิ อินทผลัม เสาวรส สละ และ สนใบพาย ซึ่งเป็นสินค้าพืชที่เป็นที่ต้องการในตลาดจีน ขณะนี้กระทรวงเกษตรอยู่ระหว่างการผลักดันให้มีการส่งออกไปประเทศจีนด้วย
ทั้งนี้ อินทผลัม มีพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 14,000 ไร่ ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ 5,000 ตัน มีแหล่งปลูกที่สำคัญที่ กาญจนบุรี นครราชสีมา สุพรรณบุรี ร้อยเอ็ด และบุรีรัมย์ เสาวรส มีพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 6,000 ไร่ ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ 3,100 ตัน แหล่งปลูกที่สำคัญที่ เชียงราย เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน และบุรีรัมย์ สละ มีพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 6,000 ไร่ ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ 3,100 ตัน แหล่งปลูกที่สำคัญที่ เชียงราย เชียงใหม่ บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ สระแก้ว ส่วนสนใบพาย เป็นไม้ประดับที่มีรูปทรงสวยงาม มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ นิยมนำไปปลูกเป็นไม้มงคล หรือทำบอนไซ แหล่งปลูกที่สำคัญ คือ สมุทรสาคร นครนายก และสระบุรี มูลค่าการส่งออกไปจีนคาดว่าประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อปี
“การส่งออกสินค้าเกษตรสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมาก และปีนี้เป็นปีที่มีปริมาณและมูลค่าเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งพืชผลการเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการเป็นครัวโลกของไทย สามารถผลิตพืชผลเพียงพอทั้งประมาณและมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล โดยรัฐบาลมุ่งเน้นเรื่องการยกระดับการผลิต ให้มีการใช้นวัตกรรมทั้งการผลิตและแปรรูป เพื่อประสิทธิภาพและความโดดเด่นของสินค้า รวมถึงภาครัฐต้องเป็นเซลส์แมนช่วยหาตลาดและอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ และที่สำคัญ ขอเน้นย้ำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรักษาคุณภาพมาตรฐานการส่งออก โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าไทย” นางสาวรัชดา กล่าว