xs
xsm
sm
md
lg

“หมอประเวศ” ชี้ ฟางเส้นสุดท้าย! ต้อง “ปฏิรูปตำรวจ” ขึ้นกับชุมชน-ท้องถิ่น “ปริญญา” จี้ รัฐบาลรับผิดชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส แนะทางออก โศกนาฏกรรม อดีตตำรวจสังหารหมู่เด็กเล็กที่หนองบัวลำภู จากแฟ้ม
ฟางเส้นสุดท้าย! “หมอประเวศ” ชี้ โศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู ได้เวลาปฏิรูประบบพิทักษ์สันติราษฎร์ใหม่ ให้ตำรวจขึ้นกับ “ชุมชน-ท้องถิ่น” ถนอมรักกัน “ปริญญา” อยากได้คำตอบที่รัฐบาล “รับผิดชอบ” จะไม่ให้เกิดซ้ำรอย

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (7 ต.ค. 65) ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เผยแพร่บทความเรื่อง โศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู “ฟางเส้นสุดท้ายต้องปฏิรูประบบพิทักษ์สันติราษฎร์” โดยมีเนื้อหาดังนี้

1. ตำรวจเครียดจัดฆ่าตัวตายสูง และฆ่าผู้อื่นตาย ตำรวจเป็นข้าราชการที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุดและฆ่าผู้อื่นตาย เกิดกรณีกราดยิงที่หนองบัวลำภู ที่มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจำนวนมาก

2. สาเหตุ

2.1 เป็นระบบรวมศูนย์อำนาจทางดิ่ง ทำให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบน ทั้งนายและพลตำรวจ

2.2 ตำรวจผู้น้อยถูกบีบคั้นจากทั้งข้างบนและข้างล่าง ด้วยระบบรีดไถ ส่งส่วยนาย ทำให้เป็นที่เกลียดชังของประชาชน

2.3 ภาระหนักเกิน ลองไปดูที่สถานีตำรวจยามค่ำคืน เพราะต้องรับภาระอย่างโดดเดี่ยว

2.4 เงินเดือนน้อย ต่างจากตำรวจญี่ปุ่นที่เงินเดือนสูงกว่าข้าราชการอื่นๆ เพราะต้องคัดเลือกอย่างพิถีพิถัน

3. หลักคิดในการปฏิรูป ใช้หลักคิดระบบภูมิคุ้มกันประเทศ เลียนแบบระบบร่างกายมนุษย์ ซึ่งเป็นระบบที่ดีที่สุดในจักรวาล ร่างกายมนุษย์แม้จะสมบูรณ์แข็งแรงเพียงใดถ้าไม่มีระบบภูมิคุ้มกันชีวิตก็ไม่รอด เพราะภยันตรายเกิดขึ้นทั้งจากภายในและภายนอกตัว ระบบภูมิคุ้มกันจึงสำคัญยิ่งและเชื่อมโยงกับระบบอื่นๆ ทุกระบบ ประเทศก็ควรมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงและเชื่อมโยงกับระบบอื่นๆ ทุกระบบ ระบบตำรวจเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันแบบมีส่วนร่วม ไม่ใช่ทั้งหมด

4. แนวทางปฏิรูประบบตำรวจ

4.1 กระจายอำนาจพิทักษ์สันติราษฎร์ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น ให้มีตำรวจที่ขึ้นกับชุมชนและตำรวจที่ขึ้นกับท้องถิ่น ยามชุมชนก็คือตำรวจของชุมชนได้รับเงินเดือนจากชุมชนจะรับผิดชอบต่อชุมชนสูง เพราะถ้าไม่รับผิดชอบชุมชนเขาก็ไล่ออก ตำรวจที่ขึ้นกับท้องถิ่นก็เช่นเดียวกันตำรวจชุมชนและตำรวจท้องถิ่น ไม่ต้องมีหน้าที่รีดไถ ส่งสวยนาย ตำรวจจึงเป็นที่รักของประชาชน ทุกชุมชนและท้องถิ่นควรมีตำรวจของตัวเองและถนอมรักตำรวจของตัวเองอย่างดี มีเงินเดือนและสวัสดิการสูง

4.2 ลดภาระความรับผิดชอบ อะไรที่ให้คนอื่นทำได้ก็ควรกระจายภารกิจออกจากตำรวจ ชุมชนท้องถิ่นควรจัดให้มีอาสาสมัครความปลอดภัยของชุมชนและท้องถิ่น ดูแลความปลอดภัยทุกอย่างเป็นชุมชนปลอดภัย ท้องถิ่นปลอดภัย ทีมอาสาสมัครความปลอดภัยชุมชนท้องถิ่นทำงานเป็นทีมกับตำรวจชุมชนและตำรวจท้องถิ่น อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีศักยภาพ

แค่ 2 ประการนี้ คือ การกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่น และระบบความปลอดภัยของชุมชนท้องถิ่นก็จะส่งผลให้ประชาชนมีความปลอดภัยสูง ตำรวจทั้งประเทศมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เป็นที่รักของประชาชน ไม่เครียดอีกต่อไป

โดยสรุปทั้งประชาชนและตำรวจ ต่างถนอมรักซึ่งกันและกัน

5. ปฏิรูปบทบาทขององค์กรตำรวจส่วนกลาง

องค์กรตำรวจส่วนกลางเหลือกำลังพลน้อย เพราะตำรวจเกือบทั้งหมดไปขึ้นกับชุมชนท้องถิ่นแล้ว องค์กรตำรวจส่วนกลางแม้มีขนาดเล็กแต่มีบทบาทใหญ่ คือ

5.1 สนับสนุนระบบตำรวจทางวิชาการ

5.2 บทบาททางนโยบาย

5.3 เสริมกำลังตำรวจชุมชนท้องถิ่นในกรณีมีปัญหาที่เกินความสามารถของกำลังในชุมชนท้องถิ่น

ในทางวิชาการนั้น ต้องวิจัยสำรวจความปลอดภัยของประชาชนทั่วประเทศ และนำมาสังเคราะห์เป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ความปลอดภัยของประชาชนทั้งประเทศ และทำการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์

ทำโครงการฝึกอบรมตำรวจทั้งประเทศให้มีคุณธรรมและสมรรถนะสูง

ตำรวจส่วนกลางก็ควรมีเงินเดือนและสวัสดิการสูงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

ดังนี้ ตำรวจทั้งประเทศจะเป็นคนเก่งและคนดี เป็นที่รักของประชาชน ไม่เป็นต้นเหตุของโศกนาฏกรรม แต่เป็นผู้ป้องกันโศกนาฏกรรมทางสังคม

6. กลไกในการปฏิรูประบบพิทักษ์สันติราษฎร์คือคณะกรรมการอิสระปฏิรูประบบตำรวจ

ต้องเข้าใจหลักการของคณะกรรมการอิสระ อันได้แก่ การเฟ้นหาประธานซึ่งมีปัญญาบารมีเป็นที่เชื่อถือของสังคมแล้วให้ประธานเลือกกรรมการเอง โดยรัฐบาลไม่เข้าไปเกี่ยวข้องนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระตามข้อเสนอของประธาน รัฐสนับสนุนและเอื้ออำนวยความสะดวกในการทำงานของคณะกรรมการอิสระทุกทาง

ขอเสนอ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เป็นประธานคณะกรรมการอิสระปฏิรูประบบตำรวจ ท่านเป็นอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม มีแนวคิดเรื่องการปฏิรูประบบความยุติธรรมแนวคิดประสบการณ์เรื่องระบบความยุติธรรมชุมชน ซึ่งพบว่า ตำรวจคนเดียวกัน ถ้าอยู่ในระบบความยุติธรรมแนวดิ่งจะเป็นที่เกลียดชังของประชาชน แต่ถ้าอยู่ในระบบความยุติธรรมชุมชนจะเป็นที่รักของประชาชน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “ระบบ” กำหนดพฤติกรรมของบุคคล ไม่ใช่ กรรมส่วนบุคคลอย่างเดียว จึงสมควรปฏิรูประบบ

ขออวยพรให้การปฏิรูประบบตำรวจ สัมฤทธิ์ผล ประชาชนปลอดภัย ตำรวจทั้งประเทศเป็นคนเก่งและคนดี เป็นที่ถนอมรักของประชาชน (จากสยามรัฐออนไลน์)

ภาพ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เสนอปฏิรูปตำรวจใหม่ จากแฟ้ม
อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) กล่าวถึงกรณีนายปัญญา คำราบ หรือ อดีต ส.ต.อ. สภ.นาวัง จ.หนองบัวลำภู ก่อเหตุกราดยิงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ทำให้มีผู้เสียชีวิต 36 ศพ ว่า

ปัญหาการกราดยิง หรือ “สังหารหมู่” เกิดขึ้นจากความคับแค้นใจและสิ้นหวังทางสังคมของบุคคลผู้มีจิตใจไม่ปกติ ซึ่งถ้าเป็นการกระทำของประชาชนทั่วไป ก็ไม่น่ากลัวเท่ากับคนที่เป็นหรือเคยเป็นทหารและตำรวจ เพราะส่วนใหญ่ได้รับอนุญาตจากรัฐให้มีและใช้ หรือแม้กระทั่งเข้าถึงอาวุธสงครามตามกฎหมาย รวมไปถึงสามารถพกพาโดยชอบได้ แม้กระทั่งเวลาที่ไม่ได้อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่อะไร จึงเป็นเรื่องยากที่จะป้องกันหรือยับยั้งได้ง่ายกว่าที่เกิดจากการกระทำของบุคคลทั่วไป

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวต่อว่า การที่เด็กเล็กจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของการสังหารหมู่ที่จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งทำให้ผู้คนรู้สึกสะเทือนใจอย่างมาก ซ้ำคนร้ายยังกลายเป็นอดีตตำรวจที่พึ่งถูกไล่ออกจากราชการอีกด้วยนี้ จึงเป็นเรื่องที่สังคมต้องทบทวนวิเคราะห์ว่า บุคคลผู้มีพฤติกรรมเสพยาเสพติดและจิตใจอำมหิตผิดมนุษย์เช่นนี้ เข้ารับราชการเป็นตำรวจผู้รักษากฎหมายของบ้านเมืองได้อย่างไร และสามารถปฏิบัติหน้าที่ในสถานีตำรวจต่างๆ ได้นานถึง 10 ปี จะมีประชาชนผู้ต้องรับเคราะห์กรรมเดือดร้อนจากการกระทำของเขาไปแล้วมากน้อยเพียงใดและใครคือผู้รับผิดชอบ?

“ปัญหาตำรวจที่แท้จริงเกิดจากการจัดโครงสร้างองค์กรและระบบการปกครองบังคับบัญชาตามชั้นยศที่ล้าหลัง ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของการปฏิบัติงานรักษากฎหมาย ได้แต่คอยฟังคำสั่งให้ทำโน่นทำนี่แบบทหาร ตำรวจผู้น้อยส่วนใหญ่อยู่ในสภาพคับแค้นใจและไม่ศรัทธาในตัวผู้บังคับบัญชาทุกระดับที่มีพฤติกรรมทุจริตรับส่วยสินบนกันจนร่ำรวยมากมาย แต่ละคนทำงานหนักด้วยความสุจริตแค่ไหนก็ไม่มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยุติธรรม ทำให้หลายคนมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนกลายเป็นอาชญากรร้ายไปก็มากมาย จำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน” พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว (จากไทยโพสต์)

ที่น่าสนใจเช่นกัน เพจเฟซบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul ของ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความระบุว่า

“ในสหรัฐอเมริกา การกราดยิงประชาชนหรือเด็กนักเรียนแม้จะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่เท่าที่ผมทราบ คือ ไม่มีสักครั้งที่คนลงมือจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่ผู้ลงมือกราดยิงในประเทศไทย 2-3 ครั้งที่ผ่านมา #ล้วนแต่เป็นทหารหรือตำรวจทั้งสิ้น

ภาพ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เรียกร้องรัฐบาลรับผิดชอบ จากแฟ้ม
เหตุการณ์ที่หนองบัวลำภู ผู้ลงมือคือ #เจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้จะถูกให้ออกจากราชการ แต่ก็ยังไม่นาน ส่วนที่นครราชสีมา เมื่อสองปีก่อน คนกราดยิงก็เป็น #ทหาร แต่ที่หนองบัวลำภูน่าตกใจและเศร้าสลดกว่ามาก เพราะนอกจากจำนวนผู้เสียชีวิตจะมากกว่าแล้ว ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงเด็กเล็กๆ แบบที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีใครใจร้ายทำกับพวกเขาได้ลงคอแบบนี้

การที่คนก่อเหตุทั้งสองครั้งเป็นทหารและตำรวจ ไม่น่าจะเป็นเพียงปัญหาที่ตัวคนลงมือที่เครียดหรือติดยาเท่านั้น แต่น่าจะเป็นปัญหาบางอย่างภายในกองทัพและในสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ต้องแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้อีก

สิ่งที่ประชาชนอยากได้ยินจากรัฐบาล คือ #จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้อีกได้อย่างไร และกองทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะ #ดูแลเจ้าหน้าที่ที่มีปืนไม่ให้เอาปืนมากราดยิงประชาชนและเด็กๆ อีกได้อย่างไร!

ขอแสดงความเสียใจต่อคุณพ่อคุณแม่และผู้สูญเสียทุกท่าน เราทุกคนขอเป็นกำลังใจให้ครับ ขอให้เด็กๆ ทุกคนหลับให้สบาย และจากนี้ไปขออย่าให้มีเด็กคนไหนโดนกระทำอย่างนี้อีกครับ”

แน่นอน, ประเด็นที่น่าคิดวิเคราะห์ให้หนัก ก็คือ ต้นเหตุของปัญหา “โศกนาฏกรรม” ที่หนองบัวลำภู ว่าเกิดจากอะไรกันแน่?

ยิ่งเมื่อตรวจสารเสพติดในตัว “ฆาตกร” ไม่พบ แม้ว่าจะมีประวัติติดยาเสพติดมาตั้งแต่ก่อนเข้ารับราชการตำรวจ และเสพติดมาอย่างเนื่องมาจนกระทั่งถูกออกจากราชการ แสดงว่า ขณะก่อเหตุ “ฆาตกร” ไม่ได้เสพยาหรือไม่?

ถ้าเช่นนั้น ปัญหาคืออะไร? แค่ความเครียด ตกงาน และทะเลาะกับภรรยา ตามที่เป็นข่าว สามารถเป็นแรงจูงใจได้จริงหรือ? เพราะถ้าวิเคราะห์สาเหตุและต้นเหตุไม่กระจ่าง ก็ไม่อาจที่จะระวังป้องกันเหตุร้ายไม่ให้เกิดขึ้นอีกได้เช่นกัน

ดังนั้น แม้ยังถือว่า ประเด็นยาเสพติดไม่อาจโยนทิ้งได้ แต่ประเด็นอื่นอย่างที่หลายฝ่ายพยายามชี้ให้เห็น ก็นับว่าเป็นประเด็นอยู่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่ององค์กรตำรวจ ที่เสนอให้ “ปฏิรูป” ใหม่ เพื่อให้ทันสมัยและเป็นที่รักของประชาชน เรื่อง การมีอาวุธครอบครอง อย่างถูกกฎหมาย หรือเข้าถึงง่ายเนื่องจากเคยเป็นตำรวจ และการฝึกฝนใช้อาวุธที่เป็น “ดาบสองคม” สิ่งเหล่านี้ก็ไม่อาจมองข้าม

ที่สำคัญ สิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครพูดถึงก็คือ “ตำรวจกับยาเสพ” ติด ซึ่งไม่แต่เฉพาะติดยาเสพติดเท่านั้น แต่ยังหากินกับผู้ติดยาเสพติด ผู้ค้ายาเสพติด โดยเฉพาะ “ยาบ้า” อีกด้วย

อยากรู้ลองหาข้อมูลเบื้องลึกดู แล้วจะรู้ว่า “สายตำรวจ” บางคน บางท้องที่ นั่นแหละของแท้

เรื่องนี้คนในชุมชน ท้องถิ่นต่างรู้ดี เพราะลูกหลานของเขาต้องพบกับชะตากรรมที่ถอนตัวไม่ได้

ยิ่งกว่านั้น “ตำรวจผู้ใหญ่” บางคน ก็รู้ทั้งรู้ว่า ตำรวจคนไหนหากินกับ “ยาเสพติด” แต่เพราะมีการ “ส่งส่วย” จึงไม่ปราบปรามอย่างจริงจัง แถมทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ทำให้ประชาชนไม่แน่ใจว่า เจ้าหน้าที่รู้เห็นกันหมดหรือไม่ จึงไม่กล้าแจ้งเอาผิด แถมยังมีความไม่ปลอดภัยอีกด้วย หรือเรื่องแดงขึ้นมา ก็ย้ายตำรวจดังกล่าวไปอยู่ที่อื่น ซึ่งก็ไปสร้างอิทธิพลหากินกับยาเสพติดที่อื่น

ตำรวจเหล่านี้ ไม่รู้ว่ามีมากแค่ไหน แต่ถ้ามีวิธีหาข้อมูลจากชุมชน-ท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยที่ประชาชนในพื้นที่ไม่เดือดร้อน อาจเห็นต้นเหตุที่ชัดเจนของหลายเรื่องที่เกิดอาชญากรรมก็เป็นได้

เห็นด้วย ที่จะปฏิรูปตำรวจมาขึ้นกับ “ชุมชน-ท้องถิ่น” แต่จะปฏิรูปตำรวจทั้งที ควรหาข้อมูลจากประชาชนให้รอบด้านที่สุด จึงจะเกาถูกที่คัน ไม่เช่นนั้น แค่เรื่อง “ตำรวจกับยาบ้า” ก็ตกม้าตายแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น