เมืองไทย 360 องศา
“ก็ไม่รู้สินะ” กับข่าวที่มีการรายงานถึงเรื่องการรัฐประหาร เพื่อล้มการเลือกตั้ง ที่โผล่ออกมาในช่วงเวลานี้ เนื่องจากยังมองไม่ออกว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และข่าวแบบนี้มาจากไหนกันแน่ รวมไปถึงใครจะได้ประโยชน์จากเรื่องแบบนี้
แน่นอนว่า การกระพือข่าวแบบนี้แรงขึ้นหลังจากที่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ออกมากล่าวทำนองแกมขู่ก่อนหน้านี้ ทำนองว่า หากเกิดความวุ่นวาย “อาจจะไม่มีการเลือกตั้ง” ซึ่งก็ได้ผล ทำให้ฝ่ายค้านและพวกแกนนำม็อบต่างออกมาโวยวายกันยกใหญ่ และใช้เป็นเงื่อนไขในการโจมตีกลับไปยังฝั่งรัฐบาล ว่า พยายามสร้างสถานการณ์เพื่อรักษาอำนาจต่อไป อะไรประมาณนั้น
เขากล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครบ 8 ปี ว่า พรรคพลังประชารัฐ ก็เตรียมฟังคำวินิจฉัยเท่านั้น ไม่มีอะไร โดยพรรคเคารพและยอมรับคำวินิจฉัยของศาลอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ก็ต้องทำงานต่อไปให้ดี ส่วนไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร จะมีการสนับสนุน พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ต่อไปเลยหรือไม่ นายชัยวุฒิ ระบุว่า ยังไม่ทราบ ให้ถึงเวลาก่อน
นายชัยวุฒิ ยอมรับว่า หากมีม็อบออกมาเคลื่อนไหวในวันที่ 30 กันยายนนี้ ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี และน่าเป็นห่วงอยู่แล้ว ถ้าไม่อยากให้บ้านเมืองวุ่นวาย หรือเกิดการกระทบกระทั่งกัน จนถึงขั้นบาดเจ็บ ก็ไม่อยากให้ออกมาเคลื่อนไหวกันในช่วงนี้ และตอนนี้ก็เป็นช่วงที่ประชาชนหลายคน เดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วม และปัญหาต่างๆ รัฐบาลก็อยากจะทำหน้าที่ ให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า และหากไม่พอใจรัฐบาลก็อยากให้ใจเย็นๆ เพราะอีกไม่กี่เดือนก็จะถึงช่วงของการเลือกตั้งแล้ว พร้อมเตือนว่า “ถ้าเคลื่อนไหวมากๆ ระวังจะไม่ได้เลือกตั้งนะ”
คำพูดที่บอกว่า “ระวังจะไม่ได้เลือกตั้ง” ดังกล่าวอาจมองได้หลายมุม อาจจะมาจากสาเหตุ เช่น อาจมีการ “ยื้อ” ให้การเลือกตั้งทอดเวลานานออกไป ซึ่งเกิดขึ้นจากฝีมือของฝ่ายรัฐบาล และ สองเกิดจากสถานการณ์บางอย่าง เช่น การรัฐประหารเกิดขึ้นหรือเปล่า
อย่างไรก็ดี หากพูดถึงเรื่องแบบนี้หากพูดเรื่อยเปื่อย ใครก็พูดได้ แต่หากพิจารณาถึงความเป็นไปได้และความเป็นจริงในสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ถามว่าใครจะเป็นคนทำ และเมื่อทำแล้วจะสำเร็จแค่ไหน และสุดท้ายใครจะได้ประโยชน์ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีคำถามก็ย่อมต้องมีคำตอบตามมาหลากหลายแน่นอน
เมื่อพูดถึงเรื่องการก่อรัฐประหารทุกครั้งในอดีตที่ผ่านมาย่อมต้องเกี่ยวข้องกับฝ่ายกองทัพ แต่คำถามก็คือ เวลานี้มีเงื่อนไข หรือความขัดแย้งเกิดขึ้นภายในที่จะนำไปสู่การก่อการแบบนั้นหรือไม่ รวมไปถึงเกิดสถานการณ์ความวุ่นวายยืดเยื้อ และอาจนำไปสู่ปัญหากระทบความมั่นคง ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมองไม่ออกว่าจะเกิดเงื่อนไขแบบนี้ ได้อย่างไร
ขณะเดียวกัน เชื่อว่า หลายคนคงเห็นตรงกันว่า คงไม่มี “บิ๊ก” ในกองทัพคนไหน “อยากฆ่าตัวตาย” ด้วยการก่อรัฐประหารในสถานการณ์ปัจจุบันนี้อย่างแน่นอน แม้ว่ายังมีความเชื่อว่า การรัฐประหารอาจยังต้องเกิดขึ้นได้อีก แต่จะเกิดขึ้นเมื่อสถานการณ์บางอย่างสุกงอม แต่รับรองว่าไม่ใช่ตอนนี้
เวลานี้ทุกฝ่ายกำลังนับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่เกิน 5-6 เดือนข้างหน้า บรรดาพรรคการเมืองต่างก็เริ่มหาเสียงกันอย่างคึกคัก ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้ออกข้อกำหนดออกมาเตือนพรรคการเมือง และนักการเมืองว่าสิ่งไหนทำได้ ทำไม่ได้ เรียกว่ากำลังเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งอย่างเดียว
ถามว่า แบบนี้แล้วใครจะ “เสียสติ” ลากรถถังถือปืนออกมาก่อรัฐประหาร ล้มกระดานการเลือกตั้ง หากทำแบบนั้นก็รอติดคุกข้อหากบฏ ไว้ล่วงหน้าได้เลย
แต่อีกด้านหนึ่งก็ไม่อาจมองข้ามไปได้เช่นเดียวกัน กับแผน “สร้างสถานการณ์” ให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย ซึ่งก็มาจากการจงใจของฝ่ายใดก็ได้ ทั้งฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล หรือไม่ก็อาจมาจากฝ่ายรัฐบาล โดยกลุ่มอำนาจบางกลุ่มก็เป็นไปได้ แต่ปัญหาก็คือ แม้จะมี“เงื่อนไข” แต่คำตอบกับสถานการณ์ในความเป็นจริงในปัจจุบันยังเชื่อว่า “ไม่มีใครเอาด้วยกับการรัฐประหาร” รวมไปถึงหากย้อนสถานการณ์เปรียบเทียบกับปี 49 หรือ ปี 57 มันก็ยังไม่ใกล้เคียงเลยแม้แต่น้อย
เมื่อพิจารณาจากปัจจัยรอบด้านแล้วก็ยังมองไม่เห็นว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นมาได้เลย แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังเชื่อว่ามีคนภาวนาอยากให้เกิดการัฐประหารเกิดขึ้นให้ได้ ก็มีเหมือนกัน เพราะจะกลายเป็น “เงื่อนไขมุมกลับ” นั่นคือ จะกลายเป็นการสร้างกระแสเพื่อขัดขวางการก่อการ โดยมีเป้าหมาย “เพื่อล้มล้าง” บางอย่าง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงศูนย์อำนาจเป็นเป้าหมายหลัก
อย่างไรก็ดี หากให้สรุปแบบรวบยอดก็ต้องฟันธงได้เลยว่าการรัฐประหารในช่วงเวลานี้ไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน ถึงมีก็ไม่มีทางสำเร็จ ตรงกันข้ามอาจกลายเป็นเหยื่ออันโอชะของบางฝ่ายที่ต้องการ “ล่อ” ให้ออกมาด้วยซ้ำไป ดังนั้น แม้ว่าในช่วงเวลานับจากนี้ไป จนถึงวันที่ 30 กันยายน ที่เป็นวันชี้ชะตา “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในเรื่องวาระ 8 ปี จากศาลรัฐธรรมนูญ ที่อาจจะมีการชุมนุม มีม็อบเข้ามากดดันมาก แต่ด้วยกระแสที่มันยังไม่เป็นใจ มันก็ยังไม่มีพลังมากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้
เอาเป็นว่า คำขู่เรื่องการไม่มีเลือกตั้ง จากปากของบางคน ก็อาจเป็นเพียงแค่การพูดแบบไม่คิด หรือมีเจตนาเพื่อข่มขู่จริง แต่มันไม่มีทางเกิดขึ้นจริง เพราะนั่นเท่ากับว่า “เข้าทาง” และฆ่าตัวตายชัดๆ ไม่ฉลาดเลย !!