เมืองไทย 360 องศา
ยิ่งใกล้วันที่ 30 กันยายน ซึ่งเป็นกำหนดวันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคำร้องที่เรียกแบบเข้าใจง่าย ว่า เป็นวันตัดสินข้อสงสัยเกี่ยวกับวาระ “8 ปี” ของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า เริ่มนับตั้งแต่วันไหน ปีไหน และไปจบที่ปีไหน ทำให้เวลานี้ดูเหมือนว่าบรรยากาศเริ่มตึงเครียด และต้องลุ้นกัน แต่อย่างไรก็ดี จะว่าไปแล้วคนที่ลุ้นหรือเครียดน่าจะเป็นบางพวกบางกลุ่มเท่านั้น เพราะมีส่วนได้เสีย ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ จากคำวินิจฉัยที่จะเกิดขึ้น
หากโฟกัสไปที่กลุ่มการเมืองที่กำลังเคลื่อนไหวกันอยู่ในเวลานี้ โดยเฉพาะสารพัดม็อบที่กำลังมุ่งหน้าไปที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 30 กันยายน กลุ่มแรกที่ต้องจับตา ก็คือ กลุ่มที่เรียกว่า “คณะหลอมรวมประชาชน” ที่มี นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายนิติธร ล้ำเหลือ เป็นแกนนำ รวมไปถึงกลุ่มคนเสื้อแดง ที่มาในสารพัดชื่อ ที่น่าจะเชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่ม็อบสามนิ้วที่มีคนจากพรรคก้าวไกลร่วมเคลื่อนไหวอยู่ด้านหลัง
นอกจากนี้ ยังไม่นับรวมกับฝ่ายการเมืองที่มาจากบรรดาพรรคฝ่ายค้าน ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ที่ร่วมกันขย่มอยู่วงนอก มีการสอดประสานกันอย่างเอาการเอางาน
อย่างไรก็ดี จะว่าไปแล้วการเคลื่อนไหวของบรรดาสารพัดม็อบดังกล่าว มีมานานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยมีการจัดชุมนุม ทั้งที่หน้าทำเนียบรัฐบาล อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รวมไปถึงแยกราชประสงค์ พื้นที่ย่านเศรษฐกิจสำคัญกลางเมืองหลวง เรียกได้ว่าเคลื่อนไหวมาแทบทุกสัปดาห์ แต่ดูเหมือนว่า ยังไม่อาจสร้างกระแสเป็นพลังได้มากพอจนไปถึงเป้าหมายที่ต้องการได้
และแม้ว่าพวกเขายังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังมีการเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง บางครั้งอาจเปลี่ยนมาในรูปแบบการตั้งเวทีเสวนา ตามสถานที่ต่างๆ มีการเชิญนักกิจกรรม เอ็นจีโอ นักวิชาการมาร่วม แต่ก็อย่างว่าแหละ ในความเป็นจริงมันก็ยังไม่เวิร์กเท่าใดนัก ยังไม่อาจสร้างกระแส หรือความรู้สึกร่วมของสังคมได้มากพอ อย่างมากส่วนใหญ่ก็มาแบบ “พวกเดียวกัน” แบบคนกันเอง ที่มาให้กำลังใจกันเสียมากกว่า ประมาณนั้น
แม้ว่าบรรดาแกนนำม็อบพวกนี้จะมีวาทกรรม มีคำพูดที่คมคายแค่ไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคำพูดของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำคนเสื้อแดง รวมไปถึง นายนิติธร ล้ำเหลือ ที่เวลานี้มา “หลอมรวมกัน” แต่ในเมื่อมันยังไม่มีเหตุผลรองรับที่มากพอ หรือประเภทที่เรียกว่า “เงื่อนไข” ยังไม่สุกงอมพอ มันก็ไปต่อได้ยาก
เมื่อวกกลับมาที่ “วาระ 8 ปี” ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำลังจะตัดสินกันในวันที่ 30 กันยายนนี้ หากพิจารณากันตามหลักการ และเหตุผลแล้ว เชื่อว่า มัน “จุดติดยาก” สาเหตุก็ไม่มีอะไรซับซ้อน เนื่องจากเมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นั่นคือ เข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว มีทางเดียวเท่านั้น ก็คือ “ต้องรอฟัง”
เพราะนั่นคือ “กระบวนการมาตรฐาน” เป็นกระบวนการยุติธรรม ที่เหมือนกับการค้ำคอทุกฝ่ายให้ต้องยอมรับกระบวนการแบบนี้ เพราะหากไม่ยอมรับคำตัดสินของศาล มันก็ไม่ต่างจากการไม่ยอมรับกระบวนการศาลหรือเปล่า
หากจะบอกว่า กลุ่มม็อบรวมไปถึงฝ่ายที่เคลื่อนไหวต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมไปถึง “กลุ่มสาม ป.” อาจจะเรียกว่าพลาดก็ได้ ที่ดันไปยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเมื่อยื่นเข้าไปแล้ว ก็มีทางเดียวเท่านั้นคือ ต้องรอฟังคำวินิจฉัย ไม่เช่นนั้น จะยื่นคำร้องไปทำไม
ทำไมไม่เคลื่อนไหวชุมนุมขับไล่กันตั้งแต่แรก โดยไม่ต้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ แบบนี้น่าจะได้แนวร่วมมากกว่า เพราะยังมีกลุ่มที่ “ไม่เอา” พล.อ.ประยุทธ์ และ “สาม ป.” ไม่น้อย นั่นคือ ชุมนุมกันแบบปักหลักพักค้างกันให้รู้ดำรู้แดงกันไปเลย แต่ก็อย่างว่าแหละ ที่ผ่านมา ก็เคยใช้วิธีนี้มาแล้ว แต่มันก็ไม่เคยได้ผล เรียกว่า “จุดไม่ติด” สักที ซึ่งอาจจะเป็นเพราะสาเหตุหลายประการ ทั้งในเรื่องสถานการณ์ไม่อำนวย คนเบื่อ หรือมองเป็นเรื่องผลประโยชน์การเมือง บรรดาแกนนำมีเบื้องหลังบางอย่าง ไม่น่าไว้ใจ อีกทั้งอีกไม่กี่เดือนก็จะมีการเลือกตั้งกันอยู่แล้ว ดังนั้น การชุมนุมก็มักจะเป็นกลุ่มพวกเดียวกันเอง ล้วนหน้าเดิมๆ ไม่ค่อยน่าสนใจ
อีกทั้งหากมองให้ลึกลงไปบางกลุ่มการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย แม้ว่าต้องการให้ “บิ๊กตู่” พ้นไปวันนี้ พรุ่งนี้ แต่ก็เชื่อว่าไม่อยากให้กระเพื่อมจนถึงขั้นยุบสภา หรือทำให้เกิดการเลือกตั้งในช่วงเวลาแบบนี้แน่นอน เพราะพวกเขายังต้องรอกฎหมายเลือกตั้ง ที่มี “กติกาใหม่” ที่พวกเขามั่นใจว่า ตัวเองจะได้เปรียบในสนามเลือกตั้ง ซึ่งเวลานี้กระบวนการยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากยังมีผู้ร้องคัดค้านที่ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องรอเวลาอีกระยะหนึ่ง แม้ว่าในที่สุดแล้วก็ยังเชื่อว่า น่าจะผ่าน แต่ทุกอย่างก็ต้องเดินไปตามขั้นตอน
หากพิจารณากันตามรูปการณ์แล้ว การเคลื่อนไหวของบรรดาสารพัดม็อบทั้งหลายที่หลอมรวมกันมา ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ตาม นาทีนี้ยังเชื่อว่า “ไม่น่าจะเวิร์ก” เพราะยังไม่มีเงื่อนไข หรือเหตุผลรองรับเพียงพอ เนื่องจากเมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการศาลแล้ว จะไปเคลื่อนไหวอย่างอื่นมัน ก็ไม่มีน้ำหนัก นอกเหนือจากถูกมองว่าเป็นเจตนาที่ต้องการ “กดดันศาล” เท่านั้น ซึ่งหลายคนก็มองมาทางนี้อยู่แล้ว
ดังนั้น สรุปกันแบบปรามาสกันล่วงหน้าได้เลยว่า ม็อบขับไล่ “บิ๊กตู่” ในเวลานี้ หรือยิ่งต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน ซึ่งเป็นวันชี้ชะตา มันก็ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะกลายเป็นว่าบั่นทอนกำลังของตัวเอง เนื่องจากจะถูกมองในด้านลบทันที ว่าไม่เคารพศาลยุติธรรม มีเจตนากดดันชี้นำศาล
อย่างไรก็ดี การขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้พ้นไปและสำเร็จได้ ก็น่าจะเป็นด้วยสาเหตุเดียวเท่านั้น ก็คือ หากผลการวินิจฉัยออกมาแล้วว่าออกมาเป็นลบ แต่ยังยึกยัก นั่นแหละถึงเวลาที่จะออกมามืดฟ้ามัวดิน แต่ที่ผ่านมาเขาก็ยืนยันแล้ว จะเคารพคำวินิจฉัย มันถึงได้บอกว่า งานนี้น่าจะไม่ใช่หลอมรวม แต่ส่อไปในทางหลอมละลาย หรือเปล่า !!