xs
xsm
sm
md
lg

คาดวัคซีน mRNA และซับโปรตีนยูนิต ฝีมือคนไทยทดลองเสร็จ 2566 ขึ้นทะเบียนนำออกใช้ในปี 2567 ส่วนชนิดเชื้อตายได้ใช้ปีหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย วัคซีนโควิดฝีมือคนไทย ชนิด mRNA และซับโปรตีนยูนิต ทดลองแล้วเสร็จ 2566 ขึ้นทะเบียนนำออกใช้ภายในปี 2567 ด้านวัคซีนเชื้อตายความร่วมมือ อภ.-สถาบัน PATH สหรัฐฯ ขึ้นทะเบียนภายในปีหน้า

วันนี้ (15 ก.ย.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาวัคซีนต้นแบบตั้งแต่ต้นน้ำและเตรียมความพร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งเป็นโครงการที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้รับการจัดสรรงบกลางปี 2563 เพื่อดำเนินการใน 3 กิจกรรมวงเงินรวม 995.03 ล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าทั้ง 3 กิจกรรม ประกอบด้วย 1) งานด้านการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนชนิด Viral vector เพื่อทดสอบกระบวนการผลิตวัคซีนกลุ่ม Adenovirus ตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการระดับโรงงานต้นแบบจนถึงระดับอุตสาหกรรมและรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตวัคซีนที่ได้มาตรฐาน งบประมาณดำเนินการ 596.24 ล้านบาท ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

2) การพัฒนาวัคซีนต้นแบบตั้งแต่ต้นน้ำในประเทศไทยชนิด mRNA มีงบประมาณดำเนินการ 365 ล้านบาท มีการพัฒนาวัคซีน 2 รุ่น ประกอบด้วย วัคซีนรุ่นที่1 (1st Gen ChulaCoV-19, Wild-type) จะใช้เวลาเกินกว่าแผนเดิมที่มีกำหนดเสร็จสิ้นเดือนก.ย. 65 ประมาณ 4-6 เดือน เนื่องจากมีการปรับกระบวนการผลิต ทำให้ต้องทดสอบเรื่องความปลอดภัยและความเป็นพิษในสัตว์ทดลองและในอาสาสมัครเพิ่มเติมเพื่อเทียบเคียงวัคซีนที่ผลิตในต่างประเทศ วัคซีนรุ่นที่ 2 (2nd Gen ChulaCoV-19;New variants) ที่ตอบสนองต่อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอนโดยศึกษาในสัตว์ทดลอง จะดำเนินการจนถึง พ.ค. 2566

3) การเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านสัตว์ทดลอง งบประมาณที่ได้รับ 33.79 ล้านบาท เพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบวัคซีนและยาในสัตว์ไพรเมท คาดว่า จะนำมาติดตั้งได้ในเดือน ก.ย. 2565 นี้ และสามารถรับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพระดับที่ 3 ได้ในเดือน ต.ค. 65 และสามารถทดลองใช้งานได้ระหว่างเดือน พ.ย. 65 - ม.ค. 66

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2566 จะเป็นการวิจัยคลินิกระยะที่ 3 หลังจากนั้น จะเป็นขั้นตอนนรับการอนุมัติขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และนำออกใช้ ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) ได้รายงานว่าจะมีการอนุมัติภายในปี 2567

สำหรับวัคซีน Baiya SARS-CoV2-Vax (ผลิตจากโปรตีนใบยาสูบ) ซึ่งเป็นวัคซีนที่พัฒนาโดยคนไทยทั้งหมด คือ ระหว่างบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทรวง อว. ได้รายงานว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับสูตรเพื่อทดสอบทางคลินิกในระยะที่ 2 จะศึกษาวิจัยในระยะที่ 3 ในต้นปี 2566 ก่อนจะขึ้นทะเบียนภายในปี 2567 เช่นเดียวกัน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ด้านโครงการที่ร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศ คือ การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย NDV-HXP-S ซึ่งองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกับสถาบัน PATH สหรัฐฯ ดำเนินการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 2 ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และจะเริ่มระยะที่ 3 ในปลายปี 2565 นี้ และขึ้นทะเบียนภายในปี 2566

นอกจากนี้ กระทรวง อว. รายงานให้ทราบถึงความคืบหน้าของวัคซีนชนิดหยอดจมูก (Ad-5 Wuhan) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ว่า ได้มีการทดสอบพบว่าสามารถกระตุ้นภูมิได้ดี ปลอดภัยในสัตว์ทดลอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการผลิตวัคซีนในโรงงานต้นแบบ จะมีการพัฒนาต่อเนื่องสำหรับรองรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น