ผู้ว่าฯ กทม. ร่วมแจง กมธ.คมนาคม กรุยทางแก้ระบบสัญจรเมืองกรุง-ปริมณฑล รับหนักอกแก้ปมสายสีเขียว มาพร้อมหนี้แสน ล. แจงเก็บ 59 บ.ตลอดสาย แค่แก้ระยะสั้น ชี้ ตั๋วร่วมไม่ช่วยแก้โครงสร้าง แค่อำนวยความสะดวกจ่ายเงิน จ่อคุย ปธ.กรุงเทพธนาคม เคาะคืบหน้า 2 ก.ค.
วันนี้ (30 มิ.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธาน กมธ. เป็นประธานการประชุม มีวาระที่สำคัญคือการพิจารณาแนวนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมเพื่อชี้แจงรายละเอียดในประเด็นต่างๆ
นายโสภณ กล่าวว่า ที่เชิญ นายชัชชาติ มาวันนี้ เพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงการจัดการการคมนาคมทั้งระบบ ในช่วงวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีของผู้ว่าฯ กทม. เราอยากฟังว่านายชัชชาติจะทำอะไรบ้าง ทาง กมธ.จะได้ช่วยสนับสนุนหากติดขัดเกี่ยวกับกฎหมายประการใด เพื่อให้การทำงานเดินไปได้ ถ้าความเห็นตรงกัน ผู้ว่าฯ กทม.สามารถตั้งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาทำงานร่วมกับ กมธ. ในการศึกษาการคมนาคมของกทม.
ด้าน นายชัชชาติ กล่าวว่า ถ้าเราดูการทำงานในนโยบายด้านคมนาคม ก็เป็นนโยบาย 1 ใน 9 ด้านของ กทม. เกี่ยวกับการสัญจร ซึ่งเราเตรียมจะทำระบบสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะโดยใช้เทคโนโลยีร่วมกับตำรวจ จะมีกล้องควบคุมสภาพการจราจรเชื่อมโยงไปถึงการจ่ายใบสั่งหรือค่าปรับ นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงสภาพถนนจะดึงเทศกิจมาช่วยการจราจรใน กทม. ในอนาคตอาจมีแนวคิดโอนตำรวจจราจรมาขึ้นตรงกับ กทม. แต่ยังมีภารกิจที่ยังเกี่ยวพันกันอยู่ ต้องดูว่าจะพร้อมแค่ไหนหากโอนมาแล้ว กทม.ได้มีการโอนย้ายเจ้าหน้าที่ดับเพลิงมาแล้ว ส่วนระบบขนส่งมวลชน กทม.มีแนวคิดเดินรถเมล์เองในบางจุดเสริม ร่วมกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดย กทม.จะขอใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก เพื่อเดินรถเสริมในบางเส้นทางร่วมกับ ขสมก. ขณะเดียวกันจะเตรียมเพิ่มจำนวนรถเมล์สำหรับผู้พิการด้วย
นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหาที่หนักอกที่สุด คือ เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว กทม.จะมีรถไฟฟ้าในการดูแล 2 สาย คือ 1. รถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ และช่วงพระโขนง-พระราม 3 เลียบทางด่วนรวมอินทราอาจณรงค์-พระราม 3 และ 2. สายสีเงิน ช่วงบางนา-สุวรรณภูมิ ขณะนี้มีแนวคิดว่าการก่อสร้างโครงการใหญ่ต้องให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุน เพราะ กทม.ไม่ได้มีผู้เชี่ยวชาญ หาก กทม.เป็นเจ้าของรถไฟฟ้าเพิ่ม ก็จะกลายเป็นว่าแยกจากระบบขนส่งรวมจากรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถ้าเกิดว่าสามารถรวมให้เกิดตั๋วราคาเดียวกัน หรือตั๋วร่วม และมีเจ้าของเพียงผู้เดียว เหมือนอย่างฮ่องกง หรืออังกฤษ ดังนั้น รถไฟฟ้า 2 สายที่ กทม.ดูแล จะเจรจาว่าสามารถให้รัฐบาลดูแลเพียงผู้เดียวได้หรือไม่
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว กำลังคลี่คลายปัญหาอยู่ เนื่องจากสัญญาจะหมดในปี 2572 แต่บังเอิญมีการต่อสัญญาล่วงหน้าออกไปอีกจากปี 2572-2585 ในการจ้างเอกชนเดินรถ เมื่อมีสัญญาผูกพันกับเอกชนแล้ว ต้องไปดูเงื่อนไขว่า เราจะทำอะไรเกินจำเป็นไม่ได้ รวมทั้งมีภาระเรื่องหนี้ที่รัฐบาลลงทุนไป แล้วโอนมาให้ กทม. รวมกับหนี้ที่จ้างเดินรถประมาณ 100,000 ล้านบาท ที่ยังค้างชำระ แต่ต้องมาพิจารณาอีกทีว่าจะแบ่งจ่ายอย่างไร นี่คือ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาแล้ว เราก็คงต้องดูแลต่อไป
นายชัชชาติ กล่าวถึงข้อเสนอของให้เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าในเพดานไม่เกิน 59 บาท ว่า รถไฟฟ้าแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนขยายที่ 1 เราเก็บค่าโดยสาร 15 บาท ส่วนไข่แดงเก็บค่าโดยสาร 44 บาท แต่ส่วนขยายที่ 2 ไม่เคยเก็บเลย แต่ไม่ได้ฟรี เนื่องจาก กทม.จ้างเอกชนเดินรถ ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI จึงเสนอให้ขยายเพดานเป็นไม่เกิน 59 บาท ในทั้ง 3 ส่วน ขณะที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ออกมาระบุ มีประชาชนเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ ที่ใช้บริการรถไฟฟ้า ซึ่งหากเอาภาษีประชาชนไปใช้จ่ายในส่วนนี้อาจจะไม่ค่อยแฟร์นั้น ยืนยันว่า แนวคิดการเก็บค่าโดยสารเพดานไม่เกิน 59 บาท เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้นในส่วนขยายที่ 2 เท่านั้น สำหรับข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ให้เก็บค่าโดยสารเพดานไม่เกิน 44 บาท จึงเป็นไปได้ยาก เพราะแค่ในส่วนไข่แดงเก็บ 44 บาทก็ขาดทุนแล้ว นอกจากนี้ แนวคิดตั๋วร่วม อย่าเข้าใจผิดว่าจะเป็นวิธีแก้ไขปัญหาราคารถไฟฟ้าได้ เพราะตั๋วร่วมเป็นเพียงการอำนวยความสะดวกในการชำระเงิน แต่ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างราคา ปัจจุบันมีการใช้ระบบเทคโนโลยีต่างๆ เพียงใช้บัตรเครดิตก็สามารถใช้บริการได้ทุกที่
ต่อมาภายหลังหารือแล้วเสร็จ ในเวลา 12.00 น. นายโสภณ ให้สัมภาษณ์ว่า ในฐานะที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เราอยากทำงานร่วมกับผู้ว่าฯ กทม. คือ มาเอกซเรย์ปัญหาและกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานใน กทม. โดยทาง กมธ.จะตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยทางผู้ว่าฯ กทม. จะส่งคนมาร่วมเป็นอนุกรรมาธิการด้วย
ขณะที่ นายชัชชาติ กล่าวว่า การทำงานของ กทม.ต้องประสานกับหลายหน่วยงานรวมทั้งรัฐบาลด้วย เพราะหลายอย่างไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา รวมทั้งกฎหมายต่างๆ บางครั้งอาจจะต้องมีการปรับแก้เพื่อให้กฎหมายที่ทันสมัย สามารถตอบโจทย์คน กทม.ได้ จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ กมธ.เชิญมา เพราะสุดท้ายแล้วประชาชนจะได้ประโยชน์ และการตั้งอนุกรรมาธิการ เพื่อที่จะได้เห็นปัญหาและแก้ปัญหาได้เลย ส่วนเรื่องปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว สัปดาห์หน้าน่าจะมีความคืบหน้า โดยตนจะพบ นายธงทอง จันทรางศุ ประธานบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ในวันที่ 2 ก.ค.นี้