xs
xsm
sm
md
lg

ซักฟอกเหมาเข่ง ย้อนศรฝ่ายค้าน-รมต.ลอยลำ !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา-นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว
เมืองไทย 360 องศา

สังเกตหรือไม่ ทั้งก่อนและหลังจากที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติ “ซักฟอก” รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวมทั้งหมด 11 คน กลายเป็นว่า ฝ่ายรัฐบาล หรือบรรดารัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่มีใครที่มีอาการทุกข์ร้อน ตรงกันข้ามส่วนใหญ่อยู่ในอารมณ์แบบที่เรียกว่า “ชิลๆ” เป็นที่สุด มีการมองข้ามช็อต เดินสายลงพื้นที่เน้นย้ำเรื่องการสร้างผลงานเสียมากกว่า

ตรงกันข้ามกับฝ่ายค้าน ที่ล่าสุด มาสะดุดอยู่กับเรื่องการลงลายมือชื่อของ ส.ส.และมีรายชื่อของรัฐมนตรีบางคนที่เพิ่ง “งอก” ออกมาล่าสุดก่อนที่จะมีการยื่นญัตติเพียงไม่กี่อึดใจ จน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องส่งคืนมาให้มีการทบทวนลงนามลายมือชื่อกันใหม่

แม้ว่า ไม่ใช่เป็นการเรียกว่า “ถูกตีกลับ” แต่การส่งมาให้ยืนยันรายชื่อ ส.ส.ลงนามกันใหม่ดังกล่าว อีกด้านหนึ่งมันก็สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นมืออาชีพ หรือไม่ความหนักแน่นเพียงพอ

นี่ยิ่งไม่นับเรื่องที่จะมีการอภิปรายรัฐมนตรี “นอกญัตติ” ซักฟอก ที่ฝ่ายค้านอ้างว่าจะใช้ “สิทธิพาดพิง” นำมาอภิปรายในครั้งนี้พ่วงเข้ามาด้วย ซึ่งถือว่า “พิลึก” ไม่เบา และรัฐมนตรีที่คาดว่าจะ “ถูกหวย” ที่ว่านั้นก็น่าจะเป็น นายสุพัฒน์พงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งก็คาดเดาได้ไม่ยากว่า ต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาพลังงาน เรื่องค่าการกลั่น อะไรแบบนี้

แต่ที่ต้องตั้งคำถาม ก็คือ หากมีข้อมูลหรือมีหลักฐานที่ไม่ชอบมาพากล ก็น่าจะมีชื่อติดโผการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ แต่ก็ไม่มี และจะมีการ “อภิปรายพ่วง” ภายหลัง มันก็แปลกดี

สำหรับบรรดารัฐมนตรีทั้ง 11 คน ที่ถูกฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคล นอกเหนือจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว อีก 10 คนที่เหลือ มีแยกเป็นกลุ่มให้เห็นภาพ ดังนี้

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

เมื่อทบทวนข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านที่ระบุในญัตติไม่ไว้วางใจ ก็ต้องทบทวนกันอีกครั้ง โดยฟังจากคำพูดของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้าน ที่ระบุพอสังเขป ว่า เน้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อกล่าวหาว่า ผิดพลาดบกพร่องล้มเหลวการบริหารราชการแผ่นดิน จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย มาตรฐานจริยธรรม ปล่อยปละละเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เอื้อประโยชน์พวกพ้อง ไม่ปฏิบัติตามคำแถลงนโยบายรัฐบาล มีพฤติกรรมที่ปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำลายผู้เห็นต่าง ปล่อยปละละเลยให้มีการทำลายประชาธิปไตยระบบรัฐสภา มีภาวะผู้นำที่พิการทางสมอง แม้ว่าจะแรงพอสมควร แต่เป็นเรื่องของลักษณะความรู้ความสามารถ

ส่วนข้อกล่าวหาของ นายจุรินทร์ เน้นเรื่องความไม่ซื่อสัตย์สุจริต เอื้อประโยชน์ให้มีการทุจริตต่อพวกพ้อง, นายอนุทิน ข้อกล่าวหาสำคัญ คือ การบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลวผิดพลาดบกพร่อง สนับสนุน หรือทำให้เกิดกระบวนการทำลายการปกครองระบบรัฐสภา มีการใช้เงินให้ได้มาซึ่งอำนาจ

พล.อ.ประวิตร จงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เอื้อประโยชน์สนับสนุนให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ พล.อ.อนุพงษ์ ข้อกล่าวหา คือ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาดล้มเหลว เอื้อประโยชน์ สนับสนุนให้มีทุจริต นายศักดิ์สยาม ข้อกล่าวหา คือ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์

นายชัยวุฒิ บริหารราชการผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง ทำให้เกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงขาดมาตรฐานจริยธรรม ประพฤติปฏิบัติมิชอบ ในทางเสื่อมเสียศีลธรรมอันดี นายจุติ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ล้มเหลวไร้ความรู้ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน และ นายสุชาติ ข้อกล่าวหาคือไม่มีความซื่อสัตย์ เอื้อประโยชน์ แสวงหาประโยชน์ในหน้าที่

แม้ว่าจะเป็นข้อกล่าวเพียงสังเขปบางช่วงบางตอนที่สรุปมา แต่หากพิจารณาจากฉบับเต็มที่เขียนยาวเหยียดแล้ว หากนอกเหนือจาก “คำด่า” ที่ถือว่าดุดันพัฒนาไปถึงขั้นสุดแล้ว นอกนั้นยังมองไม่เห็นถึงข้อกล่าวหาที่ว่า “ทุจริต” ที่ชัดเจนหนักแน่น คือเรื่องอะไรบ้าง อาจจะอ้างว่าเพื่อป้องกัน “ข้อสอบรั่ว” แต่เชื่อเถอะ ที่ผ่านมา ก็โหมโรงตีปี๊บแบบนี้ทุกครั้ง เพราะที่ก่อนหน้านี้ฝ่ายค้านก็ได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจกันทุกสมัยประชุม ทั้งแบบลงมติ และไม่ลงมติ ใช้สิทธิกันอย่างเต็มที่ทุกครั้ง แต่ก็ไม่เคยระคายผิวฝ่ายรัฐบาล หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นผู้นำรัฐบางได้สักครั้งเดียว

ตรงกันข้าม หลังการลงมติก็จะเกิดปัญหา “งูเห่า” ที่ “ยั้วเยี้ย” ในพรรคฝ่ายค้านเต็มไปหมดทำให้เสียหน้าตามมาทุกครั้ง และคราวนี้ก็มีแนวโน้มซ้ำรอยแบบเดิมอีก หลังจากได้เห็นเมื่อครั้งการ “สวนมติ” ในการอภิปรายญัตติร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่ผ่านมา

หากมองจากจำนวนรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่มีจำนวนมากรวมกันถึง 11 คน ที่ถือว่ามากเกินไป ในลักษณะแบบ “เหมาเข่ง” ทำให้เมื่อพิจารณาจาก “น้ำหนัก” ดูลดลงไปอย่างแน่นอน ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากข้อหาที่เขียนในญัตติที่ดูแล้ว “กว้างไกล” จนไม่รู้ว่าจะโฟกัสไปที่เรื่องใด หากเน้นในเรื่องทุจริต มันก็ต้องมีเรื่องราวที่ชาวบ้านจับต้องได้บ้าง ว่าเป็นเรื่องอะไร ไม่ใช่เป็นเรื่องที่รับรู้กันเฉพาะสมาชิกฝ่ายค้านบางคนเท่านั้น และที่น่าแปลกก็คือ ในญัตติคราวนี้ไม่มีการพูดถึงเรื่องปัญหาผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 และวัคซีน ที่คราวที่แล้วเคยกล่าวหาอย่างรุนแรงถึงขั้นระบุว่า “ค้าความตาย” แต่มาคราวนี้ไม่มีการพูดถึงเลย ทั้งที่ปัญหาโรคระบาดยังไม่จบ

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากอาการของทั้งฝ่ายรัฐมนตรีที่มีอารมณ์แบบ “ชิลๆ” ไม่รู้สึกร้อนใจ กับญัตติซักฟอกในครั้งนี้เท่าใดนัก มันย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจ ทั้งในเรื่องของเสียงสนับสนุนและข้อกล่าวหา ขณะที่ฝ่ายค้านแค่เริ่มต้นก็สะดุดแล้วทั้งจากเรื่องญัตติที่ต้องส่งกลับมาให้ยืนยันรายชื่ออีกครั้ง และยังมีเรื่องที่จะซักฟอกแบบพาดพิงรัฐมนตรีนอกญัตติเป็นครั้งแรก ที่ถือว่าเป็นเรื่องพิลึกกึกกือ ดังหากสรุปแบบ “ปรามาส” ล่วงหน้า มันก็พอเล็งเห็นผลสรุปได้ชัดเจนไว้ก่อนว่าจะออกมาแบบไหน !!



กำลังโหลดความคิดเห็น