“ปานเทพ” แจ้งความคืบหน้าความเห็นกรรมาธิการ ให้ปลูก “กัญชา” เพื่อใช้ในครัวเรือน โดยไม่มีการจำหน่าย ได้ครัวเรือนละไม่เกิน 10 ต้น ใครจดแจ้งช่วงนี้กับ อย. อาจให้เวลา “บทเฉพาะกาล” สำหรับการเปลี่ยนผ่าน 1 ปี
วันที่ 20 มิ.ย. 2565 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. สภาผู้แทนราษฎร โพสต์เฟซบุ๊ก ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แจ้งความคืบหน้าในการพิจารณาหลักการการปลูกกัญชาของคณะกรรมาธิการ ระบุว่า ...แจ้งความคืบหน้าความเห็นกรรมาธิการ “กัญชา 10 ต้น” ใครจดแจ้งช่วงนี้กับ อย. อาจให้เวลา “บทเฉพาะกาล” สำหรับการเปลี่ยนผ่าน 1 ปี
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ได้ประชุมกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….ของสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่เช้า ผมได้แถลงข่าวในเวลาเที่ยง แต่ต่อมามีการประชุมเพิ่มเติมจนถึงตอนเย็น และยังทำให้มีการปรับปรุง “หลักการ” เพิ่มเติมในเรื่องกัญชาดังต่อไปนี้ (ยังมีการเปลี่ยนแปลงได้อีก)
ประการแรก ทางกรรมธิการเสียงข้างมากได้เห็นชอบในหลักการกำหนดให้การปลูก “เพื่อใช้ในครัวเรือน” โดยที่ “ไม่มีการจำหน่าย” มีได้ครัวเรือนละไม่เกิน 10 ต้น ยกเว้นเป็นผู้ป่วยให้มีใบสั่งแพทย์สามารถปลูกได้มากกว่านั้นสำหรับดูแลตัวเอง โดยไม่ต้องขออนุญาตแต่ให้มีการจดแจ้ง
ประการที่สอง การปลูกกัญชาเพื่อ “จำหน่าย” สำหรับ “รายเล็ก” ทางกรรมาธิการ กำหนดให้รายเล็ก คือ ไม่เกิน 5 ไร่ โดยจะให้เป็นการ “อนุญาต” โดยจะจัดกลุ่มดังกล่าวนี้ให้มีความสะดวกในการได้รับการอนุญาต และค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด หรือไม่มีค่าใช้จ่ายเลย ซึ่งจะมีการพิจารณาในรายละเอียดต่อไป
ประการที่สาม การปลูกกัญชาเพื่อ “จำหน่าย” สำหรับ “รายกลาง” ทางกรรมาธิการ กำหนด “รายกลาง” คือ ปลูกเพื่อการพาณิชย์ 5 ไร่ขึ้นไป ถึงไม่เกิน 20 ไร่, ส่วนรายใหญ่สำหรับผู้ปลูกเพื่อการพาณิชย์เกินกว่า 20 ไร่ขึ้นไป ทั้งรายกลางและรายใหญ่จะให้เป็นการ “อนุญาต” โดยค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายให้กับภาครัฐ (โดยหลักการคือผู้ปลูกขนาดใหญ่จะต้องจ่ายมากกว่าผู้ปลูกรายขนาดกลาง)
ประการที่สี่ ผู้ประกอบวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน แพทย์แผนปัจจุบันสามารถปลูก หรือสกัดเพื่อการปรุงยาเฉพาะรายในสถานประกอบการของตัวเอง ด้วยการ “จดแจ้ง” ไม่ต้องขออนุญาต
ประการที่ห้า การสกัดเพื่อการแปรรูปอย่างง่ายในบ้านสามารถทำได้เพื่อใช้ในครัวเรือนเท่านั้น โดยห้ามจำหน่ายโดยเด็ดขาด
ประการที่หก การสกัดเพื่อการจำหน่ายไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดจะต้องขออนุญาตเท่านั้น ส่วน “ผลิตภัณฑ์” ให้เป็นไปตามมาตรฐานของกฎหมายในการควบคุมผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น อาหาร, เครื่องสำอาง, เครื่องดื่ม, ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา
ประการที่เจ็ด การสูบกัญชาในที่สาธารณะไม่สามารถกระทำได้, แต่จะไม่ก้าวล่วงการใช้ในครัวเรือน แต่ห้ามจำหน่ายให้ใช้ในผู้ที่ต่ำกว่าอายุ 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ
ส่วนการสูบกัญชาเพื่อนันทนาการอยู่ระหว่างการพิจารณา เนื่องจากมีข้อคิดเห็นไม่เพียงด้านสุขภาพเท่านั้น แต่มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนบางกลุ่มให้เปิดช่องสำหรับการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ “อย่างมีการควบคุม” เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นทางกรรมาธิการ เห็นว่า จะต้องมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของแต่ละพื้นที่ ซึ่งอาจมีการปฏิเสธหรือความต้องการแตกต่างกันในเรื่องการใช้เพื่อนันทนาการ และจะรับฟังเสียงของประชาชนในประเด็นนี้อย่างรอบด้านเพิ่มมากขึ้น
ประการที่แปด สำหรับการใช้ “กัญชาในร้านอาหาร” จะต้องมีการแสดงสัญลักษณ์เรื่องร้านอาหารและเมนูอาหารที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามที่กฎหรือประกาศกระทรวงกำหนด
ประการที่เก้า กรรมาธิการบางท่านเสนอให้เพิ่มขนาดสำหรับการพิจารณาอำนวยความสะดวกและค่าใช้จ่ายในการขออนุญาตปลูกกัญชง เช่น พื้นที่ขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไร่ (ใช้การจดแจ้งไม่มีค่าใช้จ่าย), พื้นที่ขนาดกลางมากกว่า 10 ไร่ ถึง 40 ไร่ และพื้นที่ขนาดใหญ่มากกว่า 40 ไร่ขึ้นไปใช้การขออนุญาต
ประการที่สิบ ห้ามโฆษณาการสูบกัญชาเพื่อนันทนาการในทุกกรณี
ประการที่สิบเอ็ด กำหนดบทเฉพาะกาลสำหรับผู้ที่จดแจ้งกับ อย.ในวันนี้ ทั้งในการขอจดแจ้งใหม่ หรือขออนุญาตเปลี่ยนแปลงตามเกณฑ์ใหม่ตาม พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
ประการที่สิบสอง เห็นว่า ควรมีการปรับปรุงคณะกรรมการกัญชา กัญชง ให้มีความคล่องตัวและเป็นตัวแทนจากทุกภาคส่วนรอบด้านมากขึ้น
ข้อคิดเห็นในเรื่อง “หลักการ” ข้างต้นจะนำไปสู่การแปรญัตติรายมาตราในวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2565 นี้ แต่ยังเปิดรับฟังความคิดเห็นรอบด้านจากประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อช่วยกันปรับปรุงแก้ไขทำให้กฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด
จึงเรียนมาเพื่อทราบ
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. สภาผู้แทนราษฎร
20 มิถุนายน 2565