xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” เผย “อนุทิน” เร่งประชุมพิจารณาให้กัญชาเป็น “สมุนไพรควบคุม” ป้องกันการเข้าถึงของเยาวชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปานเทพ” เผย “อนุทิน” เร่งประชุมพิจารณาให้กัญชาเป็น “สมุนไพรควบคุม” ป้องกันการเข้าถึงของเยาวชน และการใช้ในที่สาธารณะอย่างไม่เหมาะสม

ภายหลังจากการที่กัญชาได้พ้นจากบัญชีจากเสพติดประเภทที่ 5 เป็นต้นมา ได้ปรากฏว่า ในช่วงระยะเวลา 6 วันที่ผ่านมา มีประชาชนจำนวนมากเข้ามาจดแจ้งในเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” เพื่อการปลูกมากถึง 37 ล้านครั้ง และมีผู้ได้รับการจดแจ้งแล้วกว่า 7 แสนรายแล้ว

ปรากฏการณ์ความต้องการของคลื่นมหาชนดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า มีประชาชนจำนวนมากที่เคยใช้หรือแอบปลูกอยู่ใต้ดินที่ต้องการเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และยังมีประชาชนรายใหม่ที่ได้เรียนรู้ รับทราบ และต้องการเข้าถึงกัญชาทั้งเพื่อสุขภาพและเศรษฐกิจโดยไม่ต้องแอบซ่อนอีกต่อไป

ประโยชน์ของกัญชาที่ทำให้นอนหลับ และเจริญอาหาร ฯลฯ ประโยชน์ต่อสุขภาพเช่นนี้ไม่ควรที่จะปล่อยให้คนเหล่านี้ต้องหลบซ่อนอยู่ใต้ดินต่อไป อันจะทำให้ไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพ สารพิษ และไม่สามารถปกป้องผู้บริโภคได้ จึงควรใช้โอกาสนี้ในการเก็บข้อมูล คัดแยกสิ่งที่ต้องดำรงอยู่หรือส่งเสริมพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติ ตลอดจนเยียวยาแก้ไขในสิ่งที่ไม่ถูกต้องต่อไป

ตลอดระยะเวลา 6 วันที่ผ่านมา แม้กระทรวงสาธารณสุขจะประสบความสำเร็จที่ทำให้กัญชาใต้ดิน รวมถึงนำสายพันธุ์ผสมที่มีการพัฒนาอยู่ใต้ดิน ได้ถูกนำมาขึ้นทะเบียนเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐเป็นครั้งแรกในช่วงสุญญากาศนี้ ซึ่งจะเป็นคุณค่ายิ่งต่อการพัฒนากัญชาและกัญชงในประเทศต่อไปในอนาคต

ความสำเร็จดังกล่าวข้างต้น ได้เกิดกระแสการตื่นตัวในการแสวงหากัญชามาปลูกเพื่อใช้ในควรเรือน อันเป็นการปลุกกระแสความหวังทางด้านเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้น การที่ภารกิจในเฟสแรกในการนำกัญชาใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดินที่ประสบความสำเร็จได้เช่นนี้ก็ด้วยเพราะความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของพี่น้องประชาชน

จากหลักฐานศูนย์ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข (HDC) ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า นับตั้งแต่การการเปิดโอกาสให้ใช้กัญชาทางการแพทย์มาตั้งแต่ปี 2562 พบว่า

แม้ในช่วงแรกของปี 2562 จะมีประชาชนที่ได้รับผลข้างเคียงจากการใช้กัญชาเพิ่มมากขึ้นและต้องได้รับการดูแลจากโรงพยาบาล แต่ภายหลังจากการที่กระทรวงสาธารณสุขจัดการอบรม สื่อสาร ในการให้ความรู้ประชาชน และได้รับความร่วมมือในการเผยแพร่ข้อมูลจากสื่อมวชน ตลอดจนประชาชนได้มีวิวัฒนาการในการเรียนรู้มากขึ้น ปรากฏว่ามีผู้ได้รับผลข้างเคียงลดลงอย่างต่อเนื่อง (ตามภาพที่ 1)


แสดงให้เห็นว่า เมื่อเวลาผ่านไปประชาชนเรียนรู้และเข้าใจในประโยชน์และข้อควรระวังในการใช้กัญชามากขึ้นในที่สุด
จึงขอให้ทุกภาคส่วนได้ช่วยกันในการรับมือการเปลี่ยนผ่านช่วงแรกของการปลดล็อกกัญชาในรอบนี้อีกเช่นกัน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมความพร้อมในการรับมือของผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ให้มากขึ้น และจะรีบดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในการใช้กัญชาอย่างเข้าใจให้ทั่วถึงต่อไปให้มากขึ้น

นอกจากนั้น รายงานของระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ (บสต.) ที่ได้ทำการเก็บข้อมูลระหว่างปี พ.ศ. 2561-2565 พบว่า แม้ในช่วงแรกของปี 2562 ในการประกาศใช้กัญชาทางการแพทย์จะมีผู้ที่เข้ามาบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาในส่วนของกัญชาจะเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่ร้อยละ 5.58 เพิ่มมาเป็นร้อยละ 6.94 ในปี 2562 แต่ปรากฏว่าในปี 2565 ผู้ที่ต้องได้รับการฟื้นฟูจากกัญชาลดลงเหลือร้อยละ 4.33 ซึ่งน้อยกว่าก่อนการประกาศใช้นโยบายกัญชาทางการแพทย์ของรัฐบาลเสียอีก ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับกระท่อมที่มีผู้ที่ต้องการบำบัดรักษาลดลงจากปี 2561 จากร้อยละ 2.12 เหลือร้อยละ 0.78 ในปี 2565 (ตามภาพที่ 2)


หลักฐานข้างต้นย่อมแสดงให้เห็นว่า นโยบายการการนำกัญชาและกระท่อมที่อยู่ใต้ดินให้มาใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องอยู่บนดิน กลับช่วยลดจำนวนผู้ที่ต้องได้รับการบำบัดและฟื้นฟูการใช้กัญชาและกระท่อมน้อยลง และยังหวังว่าทั้งกัญชาและกระท่อมจะช่วยนำมาใช้บำบัดยาเสพติดร้ายแรงอื่นๆได้ด้วย เหมือนดังที่มีการใช้กันในตำรับไทยของการแพทย์แผนไทยในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งสอดรับกับการใช้ในการบำบัดรักษาผู้ที่ติดยาเสพติดในต่างประเทศด้วยเช่นกัน

ขอย้ำว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศมาโดยตลอดว่า การปลดล็อกกัญชาจะมีไว้เพื่อ 3 วัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ และเพื่อประโยชน์ทางด้านสุขภาพ และขอให้พี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวในช่วงสุญญากาศทางกฎหมายในระหว่างรอ ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ…​ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการเร่งรัดในกรรมาธิการอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขก็ยังมีความห่วงใยเช่นเดียวกับทุกภาคส่วน ว่า ยังมีนำกัญชาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านนันทนาการ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ตลอดจนการใช้กัญชาในที่สาธารณะอย่างไม่เหมาะสม อาจสร้างความสับสนจากวัตถุประสงค์ของกระทรวงสาธารณสุขได้

กระทรวงสาธารณสุข ขอน้อมรับ ขอบคุณความเห็นและข้อห่วงใยจากทุกภาคส่วนที่จะช่วยกันทำให้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจของกัญชากัญชง จะยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อลดปัญหาและข้อห่วงใยให้ได้ทันต่อสถานการณ์ที่สุด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงได้เร่งจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยในวันพุธที่ 15 มิถุนายน 2565 เพื่อพิจารณาประยุกต์ใช้ พระราชบัญญัติคุ้มครองส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 มาตรา 44 และ 45 เพื่อให้กัญชาเป็น “สมุนไพรควบคุม” ที่มิให้จำหน่ายครอบครองหรือใช้ประโยชน์โดยเยาวชน ตลอดจนคุ้มครองประชาชนมิให้มีการใช้กัญชาในที่สาธารณะต่อไป

ด้วยจิตคารวะ

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
ในฐานะกรรมการและโฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข

14 มิถุนายน 2565




กำลังโหลดความคิดเห็น