xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” แนะโอกาสทองช่วง “สุญญากาศ” ในการควบคุมกัญชา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
“ปานเทพ” ให้คำแนะนำทำอะไรได้บ้าง หลังวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด แต่จะเกิดภาวะ “สุญญากาศ” ในการควบคุมกัญชา ระหว่างรอ พระราชบัญญัติ กัญชา-กัญชง พ.ศ… แล้วเสร็จ

วันที่ 2 มิ.ย. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โดยสรุปสถานการณ์และคำแนะนำ “กัญชา-กัญชง” หลังวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ดังนี้

1. พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ…. จะยังไม่สามารถพิจารณาแล้วเสร็จในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ย่อมแสดงว่าระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2565 จนถึงวันที่ พระราชบัญญัติ กัญชา-กัญชง พ.ศ… แล้วเสร็จ จะเกิดภาวะ “สุญญากาศ” ในการควบคุมกัญชา เนื่องด้วยเพราะต้นกัญชาจะไม่ได้อยู่ในบัญชียาเสพติดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ใบ กิ่งก้าน ลำต้น เมล็ด และ ช่อดอก จะไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป

2. ใบอนุญาตการปลูกต้นกัญชาในฐานะที่เป็นยาเสพติดที่มีอยู่เดิมจะหมดสภาพไป หมายถึงว่าผู้ปลูกกัญชาไม่จำเป็นต้องขออนุญาตใครทั้งสิ้นในระหว่างนี้ เนื่องจากเป็นช่วงสุญญากาศทางกฎหมาย และไม่มีกฎหมายอื่นใดที่จะควบคุมการปลูกและจำหน่ายต้นไม้ภายในประเทศเพราะไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว

3. ข้อผูกมัดที่หลายวิสาหกิจชุมชนที่มีเอาไว้ในการส่งช่อดอกฟรีให้กับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธาณสุข ก็ไม่จำเป็นต้องส่งให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกอีกต่อไปเช่นกัน เพราะวิสาหกิจชุมชนสามาถขายช่อดอกเองได้ และทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าการส่งมอบให้ภาครัฐฟรี แต่ทางวิสาหกิจชุมชนหากขายไม่ได้หรือขายได้ไม่หมด จะเลือกส่งช่อดอกหรือส่วนอื่นตาม MOU เดิมทางกรมการแพทย์แผนไทยฯก็ยินดีที่จะรับไว้เช่นกัน

4. สำหรับการปลูกและจำหน่ายต้นกัญชา ในช่วงสุญญากาศนี้ ไม่ผิดกฎหมายก็จริง แต่ในอนาคตเมื่อมี พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. จะแยกแยะได้ยากว่าจะมีใครสมควรได้รับการนิรโทษกรรมย้อนหลังช่วงสุญญากาศนี้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและประโยชน์ในอนาคตของผู้ปลูกเอง

ขอแนะนำให้ทุกคนที่จะปลูกใหม่ หรือปลูกเพิ่มเติม ทำการ “จดแจ้ง” การปลูกกัญชา กัญชงทางแอปพลิเคชันของ อย. โดยบอกจำนวนและวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนในเรื่อง เพื่อการใช้ในครัวเรือน หรือ เพื่อการพาณิชย์ หรือเพื่อรักษาตัวเอง โดยในช่วงสุญญากาศนี้ “ไม่มีการจำกัดจำนวน” แต่ พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ….หากแล้วเสร็จจะมีการออกกฎกระทรวงจำกัดจำนวนค่อนข้างแน่นอน (เท่าไหร่ยังไม่รู้)

5. การ “สูบ” กัญชา จะยังถูกห้ามมิให้ใช้ในทางสาธารณะ ในฐานะเป็นการก่อความรำคาญต่อสังคมและสาธารณชน หรืออาจจะมีการควบคุมเพิ่มเติมหลังจากนี้

6. เมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง ที่จะนำเข้าจากต่างประเทศ ให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ถ้าเมล็ดพันธุ์ต่างชาติที่อยู่ในประเทศแล้วก็สามารถจดแจ้งและปลูกได้เช่นกัน จึงเป็นโอกาสทองของนักปรับปรุงพันธุ์พืชที่จะได้นำพันธุ์กัญชาที่พัฒนาแล้วแต่อยู่ใต้ดิน ขึ้นมาอยู่บนดินได้เป็นครั้งแรก

7. การปลูกกัญชา กัญชง เพื่อการใช้ในครัวเรือน สามารถหาซื้อเมล็ด และต้นอ่อน หรือต้นแก่ได้ตามวิสาหกิจชุมชนที่เปิดเผยได้โดยตรง แต่ถ้าจะซื้อจากกลุ่มใต้ดินให้ระวังการถูกหลอกและปลูกไม่สำเร็จ หรือราคาแพงเกินคุณภาพจากมิจฉาชีพ

8. สำหรับการปลูกเพื่อประโยชน์พาณิชย์ ให้ระมัดระวังเรื่อง “คุณภาพ” และการ “ปนเปื้อน” จากวิธีการและสถานที่ปลูก เพราะสุดท้าย ผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น อาหาร เครื่องสำอางค์ เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และยา ที่มีการขึ้นทะเบียนกับ อย.นั้น จะต้องมาจากต้นกัญชาที่มีการตรวจสอบว่าปลอดภัยเท่านั้น ดังนั้น หากมีการควบคุมไม่ดี สุดท้ายอาจเกิดความเสียหายได้ จึงควรศึกษาและรับทราบความต้องการของผู้ซื้อและเจ้าของผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจนเสียก่อน และดียิ่งกว่านั้นหากใครจะปลูกเพื่อการค้าพาณิชย์ควรจะต้องรู้ว่าใครจะเป็นผู้ซื้อ ซื้อด้วยสายพันธุ์อะไร ปลูกอย่างไร อย่าคิดเอง

9. “สารสกัด” กัญชา กัญชงที่มีค่า THC เกินกว่า 0.2% โดยน้ำหนักยังคงเป็นยาเสพติด ต้องได้รับการอนุญาตในการครอบครอง ผลิต และจำหน่าย

10. การขออนุญาต “ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป” ที่มีกัญชา กัญชงให้เป็นไปตามกฎหมายตามประเภทของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น และสามารถขายได้ ไม่ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการยาเสพติด

11. ผลิตภัณฑ์ใด ไม่ว่าอาหาร เครื่องสำอางค์ อาหารเสริม เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และยา ที่ได้ขึ้นทะเบียนรับรองจาก อย. แล้ว กระบวนการผลิตจะไม่ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการยาเสพติด รวมถึงวัตถุดิบที่เป็น “สารสกัด” แม้อาจจะมี THC เกิน 0.2% ที่อยู่ในกระบวนการผลิตก็ไม่ต้องขอขอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดเช่นกัน

12. การผลิต “สารสกัด” ซึ่งเป็น “วัตถุดิบขั้นกลาง” สำหรับนำไปผสมในผลิตภัณฑ์ใดก็ตามที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนรับรองจาก อย. ต้องมีใบอนุญาตสกัดและครอบครองยาเสพติดจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดเสียก่อน และถ้าสารสกัดดังกล่าวถูกดำเนินการทำให้ THC ต่ำกว่า 0.2% แล้ว ก็จะไม่ใช่ยาเสพติดเช่นกัน

13. ยาแผนไทย น้ำมันกัญชา น้ำมันกัญชง ที่ใช้ในการรักษาหรือเพื่อสุขภาพ จะต้องนำไปดำเนินการตามขั้นตอนเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไปเช่นกัน

14. ทาง อย. ได้รับฟังผู้ประกอบการเกินกว่า 13 ครั้งแล้ว จะมีการแก้ไขปรับปรุงในเรื่องประกาศกระทรวงสาธารณสุข ทั้งในเรื่องมาตรฐาน THC และ CBD ในผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์ และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น ควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้บริโภค

15. ผู้ประกอบวิชาชีพ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ได้รับสิทธิในการปรุงยาเฉพาะราย (หมายถึงน้ำมัน หรือตำรับยาที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคน) โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร แต่จะใช้ได้เฉพาะในสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย

16. จะมีการย้ายหมวดผลิตภัณฑ์บางอย่าง เช่น ชากัญชา จากเดิมเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้กลายเป็น “อาหาร” เพื่อความสะดวกในการขึ้นทะเบียนให้ง่ายขึ้น

17. ความรู้ในการใช้กัญชาอย่างเข้าใจยังมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะสมุนไพรทุกชนิดที่มีประโยชน์ก็เกิดโทษได้หากมีการใช้อย่างไม่ถูกต้อง

ขอย้ำว่า ตามงานวิจัย “กัญชา” เสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่ แต่กลับมีประโยชน์ในด้านสุขภาพกว่าเหล้าและบุหรี่ แต่ถึงกระนั้นในระหว่างการรอ พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ…. ก็อาจจะต้องมีมาตรการควบคุมตามสมควรไม่ให้ก่อความรำคาญคล้ายบุหรี่ และควบคุมการใช้ไม่ให้เสี่ยงเมาแล้วเกิดอันตรายหรือเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุคล้ายเหล้าต่อไป

ทั้งนี้ระหว่างวันนี้จนถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2565 หากมีการเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมจะนำเสนอรายงานในโอกาสต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น