xs
xsm
sm
md
lg

"ปานเทพ"แจงขายกัญชาไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องไม่ทำผิดประกาศ สธ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะโฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 นั้น ยังมีข้อข้อสงสัยว่า การจำหน่าย การวิจัย หรือแปรรูปเพื่อการค้ากัญชา ยังจะต้องขอนุญาตจากคณะกรรมการคุ้มครองส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยหรือไม่ และหากไม่อนุญาตจะมีบทลงโทษจำคุกหรือไม่?

จึงขอชี้แจงทำความเข้าใจต่อพี่น้องประชาชนให้เกิดความชัดเจนดังต่อไปนี้

ประการแรก ได้กำหนดว่าเมื่อประกาศว่า “กัญชา” เป็น “สมุนไพรควบคุม” ตามมาตรา 44 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 แล้ว กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ย่อมมีผลทำให้ การครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย วิจัย ส่งออก แปรรูป และจำหน่ายนั้น จะต้องขออนุญาต และได้รับอนุญาต ตามมาตรา 46 ในทุกกรณี “ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด” ซึ่งอาจทำให้เกิดความยุ่งยากสำหรับประชาชนเกินสมควร ในระหว่างการอ ร่าง พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ. ….ให้แล้วเสร็จ

ประการที่สอง นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) โดยอาศัยมาตรา 45(3) และ 45(5) ของพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ที่ “กำหนดหลักเกณฑ์” เป็นการ “อนุญาต” ให้ผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป “ทุกคน” สามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์​(รวมวิจัย แปรรูป) ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่าย “กัญชา” ได้ทันที “โดยไม่ต้องมาขออนุญาตอีก”

อย่างไรก็ตามประกาศฉบับดังกล่าวนี้ได้มี “ข้อยกเว้นของการอนุญาต” กรณีการจำหน่าย เพื่อการใช้ประโยชน์ด้วยสูบในที่สาธารณะ, จำหน่ายให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี, จำหน่ายเพื่อใช้ประโยชน์ในสตรีให้นมบุตร และสตรีมีครรภ์เท่านั้นที่จะต้องขออนุญาตและได้รับอนุญาตก่อน “ข้อยกเว้นของการอนุญาต”ดังกล่าวเท่านั้น จึงจะต้องขออนุญาตตามมาตรา 46 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542

โดยในกรุงเทพมหานครต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขตามกฎกระทรวง และในต่างจังหวัดให้ขออนุญาตจากสนำกังานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง

ประการที่สาม ดังนั้นหากใครจำหน่ายให้ผู้ที่มีอายุตำ่กว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร หรือเพื่อประโยชน์ในการสูบกัญชาในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จะส่งผลทำให้เป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 46 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ไปด้วย ซึ่งต้องมีโทษตามมาตรา 78 ที่ต้องถูกจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประการที่สี่ การบังคับใช้กฎหมายข้างต้นมีความเข้าใจตรงกันกับการบังคับใช้กฎหมายของสำนักงานสำรวจแห่งชาติ โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ให้สัมภาษณ์ในวันนี้ว่าได้สั่งการให้ตำรวจทั่วประเทศบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการใช้กัญชาในทางที่ผิด โดยทุกส่วนของกัญชายังอนุญาต ให้ครอบครอง ขนย้าย จำหน่ายกัญชาได้ แต่เน้นย้ำห้ามขายเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และสตรีมีครรภ์

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าผู้ที่ไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ดังกล่าว การครอบครอง ใช้ประโยชน์​(รวมวิจัย แปรรูป) ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายไม่ต้องมาขออนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขอีก