xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” ถามนายกฯ บังคับค่าการกลั่นไม่ได้หรือไม่อยากทำ ซัดยึดประโยชน์ธุรกิจใหญ่เหนือประโยชน์ประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อดีต รมว.คลัง ถามนายกฯ บังคับลดค่าการกลั่นไม่ได้ หรือไม่อยากทำกันแน่ ทั้งที่กุมอำนาจรัฐ และ พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติฯ ให้อำนาจไว้แล้ว แต่รัฐบาลยึดประโยชน์ของธุรกิจใหญ่เหนือกว่าประโยชน์ของประชาชน ฟังแต่ข้าราชการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน จึงทำแค่ขอความร่วมมือเอกชนแบบการกุศล

วันที่ 16 มิ.ย.นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ว่า นายกฯ บอกว่าบังคับค่ากลั่นน้ำมันไม่ได้? หรือว่าไม่อยากทำ? ในเวทีสภาที่ 3 วันที่ 6 มิ.ย. 2565 ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แถลงว่า โรงกลั่นน้ำมันในไทยบวกกำไรค่ากลั่นเกินควร จี้ให้นายกฯ กล้าตัดสินใจแก้ไข (ดูยูทูบ ลิงก์ข้างล่าง)

ต่อมา วันที่ 12 มิ.ย. 2565 คุณกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า นำประเด็นนี้ไปขยายความ โดยแถลงข่าวว่า คนไทยโดนปล้น ค่ากลั่นน้ำมันแพง จี้ให้นายกฯ แก้ไข

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2565 พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่สามารถแทรกแซงค่าการกลั่นได้ เพราะมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ ต้องอาศัยการขอความร่วมมือ

หลังจากการกระทุ้งสองฝ่าย ในวันนี้ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ได้ขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน ให้นำส่งกำไรค่าการกลั่นน้ำมันดีเซล คาดว่า จะจัดเก็บได้ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งจะนำเข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ส่วนการจัดเก็บค่าการกลั่นน้ำมันเบนซิน คาดว่า จะจัดเก็บได้ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งส่วนนี้จะนำมาลดราคาน้ำมันเบนซินให้กับผู้ใช้ทันที คาดว่า จะลดลงลิตรอย่างน้อย 1 บาทต่อลิตรจากราคาปัจจุบัน

นอกจากนี้ จะขอความร่วมมือโรงแยกก๊าซส่งกำไรส่วนเกิน 50% เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเช่นกัน น่าจะจัดเก็บได้ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน

ผมตั้งข้อสังเกตดังนี้

1. เป็นที่น่าเสียดาย ที่รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ บริหารประเทศ โดยยึดประโยชน์ของธุรกิจใหญ่เหนือกว่าประโยชน์ของประชาชนมาตลอด กรณีนี้ ถ้าไม่ได้ ม.ล.กรกสิวัฒน์ และคุณกรณ์ ช่วยกันกระทุ้ง พลเอก ประยุทธ์ ก็คงไม่สนใจประชาชนไปเช่นเดิม ทำอย่างนี้มา 8 ปีแล้ว

2. พลเอก ประยุทธ์ เอาแต่ฟังข้าราชการ ซึ่งมีการปฏิบัติไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 9 ซึ่งบัญญัติให้การป้องกันการขัดกันซึ่งผลประโยชน์เป็นหลักการสำคัญ ประกอบกับหลักจริยธรรมในการบริหารราชการแผ่นดิน

โดยมีข้าราชการระดับสูงที่เป็นผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวข้องกับพลังงาน ไปนั่งเป็นกรรมการในกลุ่มบริษัทพลังงาน

แม้แต่ นายดนุชา ผู้แถลงข่าวในวันนี้ ก็เคยไปรับฟังความเห็นจากเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทยที่มหาวิทยาลัยรังสิต ผมร่วมชี้แจงความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ แต่ท่านก็เงียบไป หลังจากนั้น ก็พบว่าท่านได้เข้าไปเป็นกรรมการบริษัทพลังงานกับเขาด้วย

3. นายกฯ เป็นผู้กุมอำนาจรัฐ และเมื่อมีความจำเป็นจะต้องทำงานใดเพื่อประโยชน์ของประชาชน ก็ย่อมสามารถออกกฎกติกาเพื่อบังคับภาคเอกชนได้ทั้งนั้น การที่ท่านกล่าวว่า ไม่สามารถแทรกแซงค่าการกลั่นได้ เพราะมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ นั้น จึงเป็นการแก้ตัวเท่านั้น

4. การขอความร่วมมือนั้นแตกต่างจากการใช้อำนาจในการกำกับ เพราะไม่มีอะไรรับประกันว่า บริษัทเอกชนให้ความร่วมมือโดยเสน่หาเต็มที่หรือไม่ หรือว่าเป็นเพียงการหยอดเหรียญให้ประชาชนคลายใจไปพักหนึ่งเท่านั้น วิธีบริหารบ้านเมืองด้วยการขอร้องแบบการกุศลเช่นนี้ ไม่สมกับเป็นรัฐบาล ไม่มีอะไรยืนยันว่าประชาชนได้รับความเป็นธรรม

5. รัฐบาลมีหน้าที่กำหนดกติกาที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เป็นกฎบังคับที่ลงโทษได้ ที่ต้องปฏิบัติตลอดไป ไม่ใช่ทำเมื่อไหร่ก็ได้ ยกเลิกไม่ทำก็ได้ ไม่ใช่ภาคเอกชนหยอดเหรียญให้เป็นครั้งคราว อันเป็นการบริหารแบบเกาะโต๊ะขอร้อง เสียแรงที่ประชาชนมอบอำนาจเด็ดขาดไปให้บริหารบ้านเมือง

6. พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 5 กำหนดให้นายกฯ เป็นประธาน และมาตรา 6(2) กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ “กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงานให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ”

พลเอก ประยุทธ์ จึงมีหน้าที่จะต้องกำหนดอัตรากำไรในการกลั่นที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยมีผู้มีความรู้แสดงตัวเลขให้ประจักษ์แก่ประชาชน
ท่านจะอ้างว่าไม่มีอำนาจแทรกแซงไม่ได้

หมายเหตุ : การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
https://youtu.be/78ApJK_iY4Q






กำลังโหลดความคิดเห็น