xs
xsm
sm
md
lg

"ม.ล.กรกสิวัฒน์" ชำแหละ "ค่าการกลั่น" ทำน้ำมันแพงเกินจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ม.ล.กรกสิวัฒน์" เผยค่าการกลั่นพุ่ง 10 เท่า ทำน้ำมันแพงเกินจริง แนะเก็บ Windfall tax จากโรงกลั่น เอาเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อช่วยประชาชน ชี้เป็นวิธีที่เป็นไปได้ที่สุดในตอนนี้ พร้อมชำแหละสารพัดปัญหาด้านพลังงาน รัฐเอื้อเอกชนแต่ประชาชนเดือดร้อน



วันที่ 14 มิ.ย. 2565 ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ร่วมสนทนาในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "เปิดต้นทุนพิลึกค่าการกลั่น"

ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า เวลามองราคาน้ำมัน ไม่ใช่ราคาจริงเพราะเรามีกองทุนน้ำมันแบกอยู่ 10 บาทโดยประมาณ ถ้าราคาน้ำมันจริง ๆ เบนซิน ดีเซล 44 บาทหมดแล้ว ดังนั้นอย่าเอาราคาที่อุ้มมาเทียบ เพราะสุดท้ายกองทุนน้ำมันมันเป็นหนี้ที่ประชาชนต้องจ่าย

แล้ว 44 บาทแพงไหม ตนว่าแพง เพราะดูราคาน้ำมันดิบวันนี้ 26 บาท ในอดีตก็เคยมาแล้วเคยแพงกว่านี้ด้วย วันนี้ 26 บาท ถือว่าไม่สูงมากเพราะมันมีช่องว่างให้จัดการตั้งเยอะ สมมติ 26 บาทมีค่านำเข้า มีค่าการกลั่นสัก 2 บาท ออกมาจากหน้าโรงกลั่นเป็น 28 บาท บวกภาษีบวกค่าการตลาด รวม 36 บาท น่าจะจัดการได้ แต่มันไปถึง 44 บาท ต้องถามว่ามันซ่อนอะไรไว้ในนั้น แล้วเราสามารถที่จะลดได้ไหม มีราคาทิพย์ใช่ไหมที่บวกให้ประชาชนต้องจ่ายให้กับผู้ประกอบการ

ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวอีกว่า เราไปดูโครงสร้างราคาน้ำมันที่รัฐเปิดเผยไว้ ปัญหาหลัก ๆ ของพลังงาน มีดังนี้

- ราคาหน้าโรงกลั่น

ประเทศไทยใช้ราคาทิพย์ขายให้ประชาชน ก็คือโรงกลั่นตั้งอยู่ที่ระยอง ศรีราชา หรือบางจากในกรุงเทพฯ แต่ให้สมมติใหม่ว่าโรงกลั่นเหล่านี้ไปตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ไม่ใช่แค่ราคาอ้างอิงเฉย ๆ นะ แต่เหมือนไปตั้งอยู่ที่นั่นเลย พอผลิตน้ำมันได้ให้สมมติว่ามีการนำเข้า มีค่าขนส่ง ค่าประกัน ฯลฯ สมมติกันมา 25 ปีแล้ว ที่ผ่านมามีนักการเมืองคนนึงที่อยากจะแก้ คือ นายศุภชัย พานิชภักดิ์ ตั้งแต่ปี 42 ท่านก็ขอให้แก้โดยให้การปิโตรเลียมไปเจรจา แต่รัฐบาลก็หมดอายุไป หลังจากนั้นไม่เคยมีนักการเมืองคนไหนพูดเรื่องนี้อีกเลย

ค่าการกลั่นน้ำมัน นี่คือข้อมูลของรัฐเอง ปี 2020 อยู่ที่ 70 สตางค์ ปี 2021 อยู่ที่ 89 สตางค์ แต่ตอนนี้เดือนนี้ปาเข้าไป 5.86 บาท คิดเป็น 8 เท่า บางวันแพงกว่านั้นอีก ไปถึง 8 บาท เทียบกับปี 2020 คือเกินกว่า 10 เท่าเข้าไปแล้ว เพราะฉะนั้นตรงนี้ไม่ใช่แค่ทิพย์เรื่องของการนำเข้าอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องนี้ที่ทำให้น้ำมันแพง

ปัญหานี้มันจะไม่เกิดกับประเทศที่รัฐเป็นเจ้าของพลังงาน มาเลเซียวันนี้ทำราคาน้ำมันยังไม่ถึง 20 บาทเลย เพราะรัฐเป็นเจ้าของตลอดเส้นทาง เมื่อพลังงานแพงรัฐก็ยิ่งรวย เมื่อรวยแล้วก็เอามาช่วยประชาชน แต่ของเรารัฐไปยกให้เอกชน พอน้ำมันแพงก็ต้องใช้กองทุนน้ำมันที่มาจากประชาชนเอง

ถ้าจะแก้ค่าการกลั่นได้ ต้องไปแก้ที่กฎหมาย แต่วันนี้เอาเร็ว ๆ เลย ต้องเก็บ Windfall tax จากผู้ประกอบการโรงกลั่น เหมือนประเทศอังกฤษ ซึ่งอังกฤษเก็บ 25% เสร็จแล้วเอากลับมาช่วยประชาชน เราก็เอาเงินกลับเข้ากองทุนน้ำมัน มันทำได้แต่ถามว่าจะทำหรือเปล่า วิธีนี้เป็นไปได้สุดในตอนนี้

- ปัญหาเรื่องน้ำมันผสมทั้งเอทานอลและไบโอดีเซล

น้ำมันผสมเป็นตัวที่ทำให้กองทุนน้ำมันมีปัญหาพอสมควร ตัวที่ 1 ก็คือเอทานอล จริง ๆ มันเป็นเรื่องดีที่เอทานอลวันนี้ต่ำกว่าราคาเบนซินมาก ในอเมริกาวันนี้อยู่ที่ 2 เหรียญกว่าต่อแกลลอน คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 20 บาท ในเมืองไทยที่กลั่นแถวกาญจนบุรี ราชบุรีก็ตาม แต่ 26 บาท ก็แพงกว่าเขา

สมัยก่อนราคาเอทานอลไทยก็ใช้ราคาทิพย์เหมือนกับโรงกลั่น ให้สมมติว่าทั้งหมดไปตั้งอยู่ในประเทศบราซิล ตอนหลังเขายกเลิกสูตรนี้ไป แต่ราคาก็ไม่ลง เขาบอกว่าโรงกลั่นอยากซื้อราคานี้ ตนก็ยุ่งไม่ได้ละ เมื่อโรงกลั่นอยากซื้อราคานี้แต่ประชาชนต้องจ่ายเต็มไง เพราะโรงกลั่นซื้อแพงแต่เขาผลักภาระให้ประชาชนได้ 100% ตรงนี้คือทำไมรัฐถึงไม่ยุ่ง ทั้งที่มันเป็นต้นทุนของประชาชน ซึ่งรัฐควรจะเข้าไปดูแลด้วยซ้ำไป ทำไมปล่อยไปขนาดนั้นไม่เข้าใจ ซึ่งจริง ๆ วันนี้ถ้าเราผสมเอทานอลกันจริง ๆ จะช่วยน้ำมันถูกลงมาก เพราะมันแค่ 19 บาท

น้ำมันผสมส่วนที่ 2 คือ น้ำมันปาล์ม ไปผสมในไบโอดีเซล ก็ให้อ้างอิงน้ำมันปาล์มมาเลเซีย แล้วคือทุกสูตรมันจะมีคำว่า Premium เพื่อให้ประชาชนจ่ายแพงขึ้น อย่าลืมปาล์มขึ้นในประเทศไทยไม่ได้นำเข้า เมื่อเอาผสมน้ำมันดีเซลแล้วมันแพงขึ้น จะใส่ไปเพื่ออะไร อย่าผสมดีกว่า อาเซียนไม่มีใครใช้เขาใช้ดีเซลล้วน เพราะเอาน้ำมันปาล์มไปทำอาหารดีกว่าไหมวันนี้อาหารก็แพงจะตายอยู่แล้ว ที่อ้างว่าถ้าพลังงานไม่ใช้เดี๋ยวราคาตก เขามีราคาต่างประเทศค้ำอยู่คือราคามาเลเซีย มันก็ต่ำกว่านั้นไม่ได้อยู่แล้ว แล้วเรามีการประกันราคาที่ 4.50 บาท เพราะฉะนั้นกระทรวงพลังงานไปยุ่งกับเขาทำไม ให้กระทรวงเกษตรทำไป

- ปัญหากองทุนน้ำมัน

ตัวที่กองทุนน้ำมันต้องพยุงหนักที่สุดก็คือ LPG ราคา LPG ในไทย ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาบริหารประเทศ มีราคา 10 บาทต่อกิโล หลังปฏิวัติยกเลิก 10 บาททิ้งไปเลย ไม่รู้อะไรดลใจ แต่ก่อนนี้ 333 เหรียญต่อตัน เพราะเรามีแหล่งก๊าซในประเทศไทย จากแหล่งบงกช เอราวัณ ลานกระบือ เป็นก๊าซเปียกที่สามารถทำก๊าซหุงต้มได้เพียงพอให้ประชาชนใช้ ครัวเรือนใช้ปีละ 2 ล้านตัน แหล่งเหล่านี้ทำก๊าซหุงต้มได้ 3 ล้านตัน

แล้วก๊าซหุงต้มประชาชนก็ใช้ราคาทิพย์อีกแล้ว ให้สมมติว่าเป็นก๊าซจากซาอุ เพื่อจะได้เป็น Premium จากเดิม 10 บาท กลายเป็น 28 บาท แต่ราคาที่เราจ่ายจะจ่ายน้อยกว่านี้เยอะเพราะกองทุนน้ำมันแบกไว้ 280 บาททุกถัง จริง ๆ ก๊าซหุงต้มถังละ 500 กว่าบาทแล้ว เราจ่าย 300 กว่าบาท ซึ่งมาเลเซียจ่ายอยู่ที่ประมาณ 228 บาทต่อถัง

ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิวัติมา กำไรบริษัทธุรกิจก๊าซเพิ่มขึ้นมาก บริษัทใหญ่บริษัทหนึ่งเดิมกำไรในธุรกิจก๊าซอยู่ประมาณ 4 หมื่นล้าน ผ่านมาหลังจากแก้กฎหมายไปสัก 3-4 ปี มีกำไร 9 หมื่นล้าน ขณะที่ช่วงโควิดขายได้น้อยล งแต่กำไรเพิ่มขึ้น 2 เท่าก็มาจากเรื่องนี้ใช่หรือไม่

การแก้เรื่องนี้ อันดับแรกต้องแก้ที่การจัดสรรก๊าซ ในเมื่อก๊าซในเมืองไทยมันพอสำหรับประชาชน ทำไมไม่จัดสรรให้ประชาชนก่อน ราคาก็ควรเป็นราคาในประเทศด้วย ส่วนโรงกลั่นก็ใช้ของนำเข้าไป แล้วให้เขาขายแพง ๆ ไปเลยให้ปิโตรเคมี เขาก็เป็นเครือกันอยู่แล้ว คุณก็ขายราคานำเข้าอย่างที่คุณอยากได้สิ ให้เอกชนดีลกันเองรัฐไม่เกี่ยว แต่ส่วนที่เกี่ยวเนื่องจากทรัพยากรของคนไทยอันนี้รัฐต้องดูแล

- ปัญหาค่าการตลาด

ค่าการตลาดหลายครั้งมันจะเกิน 1 บาท หลายคนก็ติงปั๊มว่าได้เยอะ ตนคุยกับปั๊มเขาบอกว่าได้ 1 บาทก็บุญแล้ว เวลาเห็น 3 บาท ปั๊มไม่เคยได้ อย่างมากก็ได้ 90 สตางค์ ส่วนที่เหลือไปอยู่ที่ผู้ค้ามาตรา 7 ก็คือรายใหญ่ทั้งหลาย ทั้งโรงกลั่นด้วยทั้งผู้ค้ารายใหญ่ด้วย

ตนก็เคยเสนอภาครัฐว่าค่าการตลาดก็เคยกำหนดมาแล้วไม่ใช่หรือ ไม่ให้เกิน 1.80 บาท สูงไปหน่อยแต่ตนก็ยอมรับได้ ให้กำหนดไว้เลยว่าปั๊มจะต้องได้ไม่ต่ำกว่า 1 บาท ส่วนผู้ค้ามาตรา 7 เอาสัก 25 สตางค์ เพราะเขาค้าส่ง แต่รัฐก็ไม่ทำ วันนี้ถ้าจะแก้ ต้องมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ทำหน้าที่ช่วยประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น