"เรืองไกร" ซัด "พิธา" ไม่เข้าใจเนื้อหาอย่างถ่องแท้ ปมเสนอตัดงบบำนาญข้าราชการ ลั่นอยู่สภามา 4 ปีแล้ว น่าจะมีความรู้ความเข้าใจในงานนิติบัญญัติมากกว่านี้ แฉ ส.ส.-ส.ว. รับเงินประจำตำแหน่งล่วงหน้า 2-3 เดือน ตั้งแต่ยังไม่เข้าปฏิญาณตน ทีอย่างนี้พร้อมใจกันเงียบเพราะสมประโยชน์กันหมด
วันที่ 7 มิ.ย. 2565 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ร่วมสนทนาในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "ผ่าความจริง ร่าง พ.ร.บ.งบ 66 ช้างป่วยจริงหรือไม่?"
จากการประชุมสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ 2566 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ฝ่ายค้านขนานนามว่าเป็นงบประมาณช้างป่วย
นายเรืองไกร กล่าวว่า เห็นตรงกันข้าม เพราะเหตุผลในการชี้แจงเขาก็เสนอให้ ส.ส. ทั้งสภาทราบอยู่แล้ว รายงานวิเคราะห์งบประมาณอธิบายภาพชัดเจน แต่คนที่จะติงงบหยิบบางส่วนมาอธิบายว่าช้างป่วย ช้างอุ้ยอ้าย ยกตัวอย่างเรื่องที่สังคมสนใจ งบบำเหน็จบำนาญ 3.2 แสนล้าน คงเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะจริง ๆ แล้ว งบบำเหน็จบำนาญที่อยู่ในรายการงบกลาง 3.2 แสนล้านจริง แต่ไม่ใช่ยอดสูงที่สุด ที่สูงที่สุดคืองบบุคลากร ก็คือข้าราชการที่กำลังทำหน้าที่อยู่ งบ 7 แสนกว่าล้าน ฉะนั้นงบบุคลากรกับงบบำเหน็จบำนาญเป็นก้อนเดียวกัน กว่า 1 ล้านล้านบาท เป็นคำอธิบายอยู่ในบันทึกเหตุผล บันทึกวิเคราะห์อยู่แล้วว่าสัดส่วนเป็นเท่าไหร่
ฉะนั้นการที่พูดเรื่องนี้ขึ้นมา เปรียบเทียบกับบำนาญประชาชน จะทำให้พี่น้องข้าราชการที่ทำงานอยู่ และที่เกษียณ รับบำเหน็จบำนาญอยู่เกิดความรู้สึกน้อยใจ
นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า ต้องทำความเข้าใจกับผู้อภิปราย คนอภิปรายไม่เข้าใจเนื้อหาอย่างถ่องแท้หรือเปล่า เพราะว่ามีการแก้ตัวแต่ในภายหลัง ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องขอชื่นชมท่านรองวิษณุ เครืองาม ท่านตอบกลับมานิ่ม ๆ ว่าคนพูดอาจจะไม่เข้าใจกฎหมาย ว่ากฎหมายพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญ 2494 กับ พระราชบัญญัติกองทุน 2539 มันเป็นก้อนเงินที่กฎหมายกำหนดให้จ่าย จะมาพูดว่าต้องทำโน่นทำนี่แล้วไปเทียบกับสิ่งที่ยังไม่เป็นกฎหมาย ตนเห็นว่าไม่ถูกต้อง
"อยู่สภามาเข้าปีที่ 4 แล้ว น่าจะมีความรู้ความเข้าใจในงานนิติบัญญัติมากขึ้น การเทียบสัดส่วนถึง 57 เท่า ผมยังหาไม่เจอเลยว่ามันมายังไง แล้วก็ผมก็ตรวจกลับไปหลังจากมีการอภิปราย แนวความคิดนี้มีมาก่อนหรือไม่ ก็มีมาตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. เราประชุม 31 พ.ค. วันที่ 28 ก็โผล่ขึ้นมาอยู่แล้วว่ามันมีงบส่วนนี้อยู่ ที่มาอธิบายภายหลังว่าไม่มีเจตนาจะไปปรับลด เป็นการแก้ตัวมากกว่า ในชั้นเชิงทางการเมือง ผมถือว่าเสียหาย รองวิษณุพูดชัด ว่ามันเป็นกฎหมาย ฉะนั้นจะปรับอะไรต้องไปแก้กฎหมายก่อน" นายเรืองไกร กล่าว
นายเรืองไกร ยังกล่าวถึงเงินบำนาญ ส.ส. - ส.ว. ว่า สมัยก่อนไม่มี ตอนหลังมีการแก้กฎหมาย ตนเป็น ส.ว. ปี 51 พ้นตอนปี 54 ตนก็ได้รับเงินนี้มา เงินกองทุนผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ได้มา 15,000 บาท ต่อมาคนที่ปรับลดคือ พลเอกประยุทธ์ ลดเหลือ 9,000 บาท และมีช่วงเวลาพอครบกำหนดก็หยุดได้ อย่างตนเป็น ส.ว. อยู่ 3 ปี ก็ได้รับเงินมาหลายปีอยู่ แต่ทุกวันนี้ไม่ได้รับแล้ว นอกจากนี้สมาชิกรัฐสภา ยังมีการรักษาพยาบาลฟรีด้วย
ปัญหาคือ คนเป็น ส.ส. - ส.ว. ต้องเสียสละเป็นตัวอย่างก่อน ปกติ ส.ส. - ส.ว. ต้องรอปฏิญาณตนก่อนค่อยรับเงินประจำตำแหน่งได้ แต่ปัจจุบัน แก้กฎหมายตั้งแต่ 24 มี.ค. 2562 สามารถเอาเงินล่วงหน้าได้ 2-3 เดือน ทั้งที่ยังไม่ได้เข้ามากล่าวคำปฏิญาณเลย อย่างนี้ทำไมไม่พูด เรื่องอย่างนี้ควรบอกประชาชน แล้วรับเงินกันทุกคน ใครไม่รับบอกมาสิ
กล้ารับเงินทั้งที่ยังไม่ปฏิบัติหน้าที่ แต่พอยื่นบัญชี ป.ป.ช. บอกนับจากวันที่ปฏิบัติหน้าที่ คิดดู 500 คน คนละแสนสองแสน ทั้งที่ยังไม่ทำอะไรเลย ซึ่ง ส.ว. ก็น่าจะลักษณะเดียวกัน แต่ไม่มีใครพูด หรือเพราะสมประโยชน์กันหมด