“หม่อมกรณ์” ชี้ตัวเลขค่าการกลั่นที่ ก.พลังงาน ระบุคิดจากค่าเฉลี่ย ซึ่งไม่สะท้อนค่าการกลั่นที่แท้จริง ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ 8 บาทต่อลิตร ติงกลั่นน้ำมันจากโรงกลั่นในไทย กำลังการกลั่นล้นเหลือ แต่กลับคิดค่าการกลั่นอิงราคาสิงคโปร์ซึ่งแพงลิ่ว เนื่องจากกำลังการกลั่นขาดแคลนหนัก ข้องใจ ข้าราชการ ก.พลังงาน นั่งบอร์ด บ.ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน จะคุมราคาได้อย่างไร? ด้าน “รสนา” แนะ 3 แนวทางแก้ปัญหาพลังงาน จี้นายกฯ ใช้อำนาจประธาน กพช. แก้วิกฤตราคาน้ำมัน
ปัญหาวิกฤตราคาพลังงานที่กำลังเขย่าเศรษฐกิจไทยและส่งผลให้คนไทยได้รับความเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้ กำลังถูกตั้งคำถามว่าเป็นราคาที่เกิดจากกลไกตลาดที่แท้จริงหรือไม่? โดยเฉพาะ “ค่าการกลั่น” ซึ่งล่าสุด นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ออกมาแฉว่าประชาชนถูกปล้นจากค่าการกลั่นน้ำมันซึ่งสูงมากเป็นประวัติการณ์ โดยในปี 2563 ค่าการกลั่นอยู่ที่ 0.88 บาทต่อลิตร ปี 2564 อยู่ที่ 0.87 บาทต่อลิตร แต่ ณ วันที่ 10 มิ.ย.2665 ค่าการกลั่นสูงถึง 8.56 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า ภายในเวลาแค่ปีเดียว ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลต่างดาหน้าออกมายืนยันว่าค่าการกลั่นเป็นไปตามกลไกตลาด และรัฐไม่สามารถแทรกแซงได้
ส่วนว่าค่าการกลั่นที่แพงขึ้นแบบก้าวกระโดดจะเกิดขึ้นจากสาเหตุใด เป็นไปตามกลไกตลาดที่แท้จริงหรือไม่ คงต้องฟังความเห็นจากนักวิชาการด้านพลังงาน
ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ชี้ว่าตัวเลขค่าการกลั่นที่กระทรวงพลังงานออกมาระบุว่าค่าเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.2565) อยู่ที่ 3.27 บาทต่อลิตรนั้น เพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่าตัวเลขค่าการกลั่นไม่ได้สูง คือมันดูไม่สูงเพราะเป็นตัวเลขค่าเฉลี่ย ไม่ใช่ตัวเลขของแต่ละเดือน อีกทั้งยังไม่มีการเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าการกลั่นในแต่ละช่วง ซึ่งหากพิจารณาค่าการกลั่นตามข้อเท็จจริงจะเห็นว่า ปี 2563 ค่าการกลั่นอยู่ที่ 70 สตางค์ต่อลิตร ปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 89 สตางค์ต่อลิตร ส่วนปี 2565 ค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่เดือน ม.ค.อยู่ที่ 1 บาทกว่าต่อลิตร และเพิ่มขึ้นเป็น 5 บาทต่อลิตร ในเดือน มิ.ย. คือเวลาที่กระทรวงพลังงานพูดถึงค่าการกลั่นใน 1 ปี เขาเอาตัวเลขต่ำๆ มาเฉลี่ยเพื่อให้ตัวเลขน้อยๆ ทั้งที่ความจริง ณ วันที่ 14 มิ.ย.2565 ค่าการกลั่นอยู่ที่ 8 บาทต่อลิตรด้วยซ้ำ
ดูง่ายๆ ค่าการกลั่นอยู่ที่ 40 เหรียญต่อบาร์เรล ตีเป็นเงินไทยประมาณ 8 บาทกว่าต่อลิตร คือค่าการกลั่นของไทยคิดราคาโดยอิงราคานำเข้าจากสิงคโปร์ ซึ่งราคาสิงคโปร์นั้นตอนนี้โรงกลั่นจากต่างประเทศกำลังการกลั่นขาดแคลน ขณะที่กำลังการกลั่นของไทยล้นเกินเพราะเรามีโรงกลั่นจำนวนมาก ดังนั้นความจริงค่าการกลั่นของไทยควรจะถูกลงเพราะกำลังการกลั่นเหลือ แต่กลับไปคิดค่าการกลั่นเท่าสิงคโปร์ซึ่งกำลังการผลิตขาดแคลน ถ้าค่าการกลั่นเป็นไปตามกลไกตลาดเสรีจริง เรามีโรงกลั่นจำนวนมาก กำลังการผลิตเหลือ ต้องเกิดการแข่งขัน ค่าการกลั่นของไทยต้องถูกลง ไม่ใช่แพงขึ้น
“คำว่าเสรีของกระทรวงพลังงานคือเสรีในการทำกำไร ไม่ใช่เสรีในการแข่งขัน เพราะฉะนั้นค่าการกลั่นของไทยควรมีเพดาน เมื่อก่อนโรงกลั่นเคยคุยกันว่าค่าการกลั่น 6-8 เหรียญต่อบาร์เรลก็พอใจแล้ว ปัจจุบันบางวันค่าการกลั่นขึ้นไป 40 เหรียญต่อบาร์เรล หรือ 8 บาทต่อลิตร กำไรอ้วนเลย แค่ไตรมาสเดียวกำไรเกือบเท่ากำไรทั้งปีแล้ว ถามว่ารัฐอยากกำกับไหม ไม่อยาก เพราะคนของรัฐนั่งเป็นกรรมการในธุรกิจโรงกลั่น ถามว่าข้าราชการกระทรวงพลังงานไปนั่งเป็นกรรมการจริงไหม จริงครับ มันมีกฎหมายรองรับ แถมมีบางคนไม่ได้นั่งแต่อยากนั่ง ต้องทำตัวน่ารักๆ กับธุรกิจพลังงาน ดังนั้นไม่ควรมีการนั่งทับซ้อนกัน คุณเป็นข้าราชการกระทรวงพลังงาน จะนั่งเป็นกรรมการในบริษัทพลังงานไม่ได้เลย กฎหมายนี้มีมาตั้งแต่ยุคทักษิณแปรรูปกิจการพลังงานแล้ว พอยุค พล.อ.สุรยุทธ์ ก็ต่อเติมกฎหมายขึ้นมา จนปัจจุบันไม่ต้องนั่งในรัฐวิสาหกิจแล้ว บริษัทลูกที่รัฐวิสาหกิจถือหุ้น 5-10% คนของรัฐเข้าไปนั่งในบริษัทลูกได้แล้ว จริงแล้วข้าราชการควรจะเป็นกรรมการกลางที่ควบคุมธุรกิจพลังงาน ไม่ใช่ไปนั่งเป็นบอร์ด” ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ ระบุ
สำหรับทางออกในการแก้ปัญหาวิกฤตพลังงานของไทยนั้น ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ มองว่า ทำได้ทางเดียวคือต้องเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี นายกฯ ต้องเป็นคนดีและกล้าหาญ ถึงจะแก้ปัญหาวิกฤตพลังงานได้ เพราะจริงๆ แล้วนายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการสั่งการเรื่องพลังงาน เพราะนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แต่ตอนนี้นายกฯ ทำไม่รู้ไม่ชี้ บอกว่าเป็นอำนาจกระทรวงพลังงาน
ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.และนักรณรงค์ด้านสุขภาพและสิทธิผู้บริโภค ระบุว่า เนื่องจากขณะนี้เกิดวิกฤตพลังงานที่ส่งผลกระทบต่อคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาราคาพลังงาน ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า สามารถดำเนินการได้ 3 วิธี คือ
1) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ควรใช้อำนาจในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ออกคำสั่งยกเลิกโครงสร้างราคาน้ำมันที่อิงราคานำเข้าจากสิงคโปร์ คือปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันกำหนดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น โดยสมมติว่านำเข้าจากประเทศสิงคโปร์ ทำให้ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นประกอบด้วย ราคาเนื้อน้ำมัน ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย และค่าสูญเสียระหว่างทาง ซึ่งส่วนนี้เป็นการกำหนดโครงสร้างราคาเพื่อจูงใจในช่วงที่มีการส่งเสริมให้สร้างโรงกลั่นในประเทศไทยใหม่ๆ แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงกลั่นอยู่เป็นจำนวนมาก โครงสร้างราคาดังกล่าวจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป
2) ออกพระราชกำหนดเก็บภาษีลาภลอย ซึ่งบริษัทน้ำมันได้กำไรจากค่าการกลั่นที่สูงมากในปัจจุบัน แล้วนำภาษีลาภลอยดังกล่าวมาใส่ในกองทุนน้ำมันแทนการกู้เงินมาอุดหนุนกองทุน โดยกำหนดให้ชัดเจนเลยว่าจะเก็บภาษีลาภลอยตั้งแต่เดือนนี้ถึงเดือนนี้ และหากครบกำหนดแล้ววิกฤตพลังงานยังไม่หมดไปสามารถต่อเวลาการเก็บภาษีลาภลอยไปได้เรื่อยๆ ซึ่งการออกพระราชกำหนดนั้นสามารถทำได้ภายในเวลาแค่ 2 วัน เพราะแค่นำพระราชกำหนดเข้าสภาเพื่อให้สภารับทราบ ไม่ต้องให้สภาพิจารณาเหมือพระราชบัญญัติ
3) ยกเลิกการกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซที่อิงราคานำเข้าจากซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากก๊าซหุงต้มที่ประชาชนใช้ส่วนใหญ่เป็นก๊าซที่ได้จากแหล่งก๊าซภายในประเทศ เพราะประชาชนใช้ก๊าซแค่ 30% ของปริมาณที่ผลิตได้ภายในประเทศจึงไม่จำเป็นต้องนำเข้า แต่ก๊าซที่ใช้ส่วนใหญ่ใช้โดยบริษัทปิโตรเคมี ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. ปริมาณก๊าซจึงไม่เพียงพอเลยต้องนำเข้า แต่รัฐบาลไปอิงราคานำเข้าจากซาอุดีอาระเบีย ประชาชนก็ต้องใช้ก๊าซแพงไปด้วย อีกทั้งปัจจุบันราคาก๊าซของซาอุดีอาระเบียสูงมากเพราะเกิดสงครามระหว่างประเทศยักษ์ใหญ่ เกิดวิกฤตการเมืองระดับโลก ซาอุฯ เลยได้อานิสงส์
“ในเมื่อรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ปตท.ถึง 51% ดังนั้นรัฐบาลจึงมีอำนาจเข้าไปจัดการเรื่องราคาน้ำมันได้ มีอำนาจที่จะเข้าไปแก้ปัญหาค่าการกลั่นสูง ปตท.บอกว่าตัวเองเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ เมื่อเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติรัฐบาลต้องสั่งการได้ เพราะตอนนี้ประเทศไทยเกิดวิกฤตพลังงาน แต่ถ้ารัฐบาลอ้างว่าสั่ง ปตท.ไม่ได้ ก็ออกเป็นพระราชกำหนดภาษีลาภลอย จากกำไรที่เกิดจากค่าการกลั่นที่พุ่งขึ้นสูงมาก แล้วเอาภาษีลาภลอยไปชดเชยกองทุนน้ำมัน แทนการกู้เงินเพื่อมาชดเชยกองทุนน้ำมันอย่างที่รัฐบาลทำอยู่ในปัจจุบัน” น.ส.รสนา กล่าว
ทั้งนี้ ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้เสนอทางออกในการแก้ปัญหาวิกฤตพลังงาน 3 แนวทางด้วยกัน คือ
1 ) กำหนดเพดานค่าการกลั่น โดยเฉพาะโรงกลั่นที่เป็นของบริษัท ปตท. ในฐานะที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยกำหนดเพดานที่เหมาะสมว่ากำไรจากค่าการกลั่นควรจะเป็นเท่าไหร่ และเพื่อความยุติธรรมควรกำหนดค่าการกลั่นขั้นต่ำด้วย เพื่อไม่ให้ขาดทุน ซึ่งการกำหนดเพดานจะเป็นเครื่องมือป้องกันไม่ให้บริษัทน้ำมันทำกำไรเกินควร ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการกำหนดเพดานค่าการกลั่นเนื่องจากในอดีตไม่เคยมีราคาค่าการกลั่นที่ทิ้งห่างจากราคาค่าน้ำมันดิบขนาดนี้
2) ออกกฎหมายเก็บภาษี ‘ลาภลอย’ จากกำไรจากสต๊อกนํ้ามันที่ซื้อมาในราคาถูกแต่สามารถขายได้ในราคาสูง และเก็บภาษีลาภลอยจากค่าการกลั่นที่สูงเกินจริง แล้วนำภาษีลาภลอยดังกล่าวกลับมาช่วยลดภาระด้านพลังงานให้แก่ประชาชน โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือนำเงินภาษีลาภลอยมาอุดหนุนกองทุนน้ำมัน แทนการเรียกเก็บจากประชาชนในรูปของราคาพลังงานที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น
3) รัฐบาลต้องจริงจังกับมาตรการประหยัดพลังงาน เช่น ปรับอุณหภูมิแอร์ในห้องประชุม ส.ส. ถอดเสื้อนอก ถอดเน็กไท เป็นต้น
อย่างไรก็ดี สังคมกำลังตั้งคำถามว่าค่าการกลั่นที่เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่านั้น นอกจากบริษัทผู้ผลิตน้ำมันที่ฟันกำไรมหาศาลแล้ว ในส่วนของภาครัฐเองได้ประโยชน์อะไรบ้างหรือไม่?