วันนี้ (11 มิ.ย.) นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเพจส่วนตัว Panich Vikitsreth - พนิต วิกิตเศรษฐ์ โดยมีรายละเอียดว่า กลายเป็นว่า เราต้องมานั่งจับจ้องกันว่า วันนี้ พรุ่งนี้ มะรืนนี้ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคชนิดไหนจะปรับขึ้นราคาเท่าไหร่ เช่นเดียวกับราคาน้ำมันมีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่รู้ว่าจุดสูงสุดจะไปแตะที่ตรงไหน ที่น่าแปลกใจ คือ เรากลับไม่เคยได้ยินรัฐบาลและผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องพูดว่า จะแก้ไขปัญหาราคาสินค้าและราคาน้ำมันอย่างไร เพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชน
ผมคิดว่า เรายังไม่ถึงจุดที่สิ้นไร้ไม้ตอกถึงขนาดนั้น แน่นอนว่า ผลกระทบเกิดขึ้นกับทั้งโลก แต่หลายประเทศไม่ได้ยอมจำนน หรือเอาแต่กู้เงิน พยายามหาวิธีช่วยประชาชน โดยการหารายได้ให้กับประเทศเพิ่ม
ในขณะที่ประเทศไทย ผมคิดว่า นอกจากรายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออก ยังมีอีกหลายช่องทาง ที่เรามองข้าม หรือเห็นแต่ไม่เลือกที่จะทำหรือไม่
โดยเฉพาะการเก็บภาษี E-Service จากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติ ซึ่งมีหลายประเทศเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในกลุ่มธุรกิจประเภทนี้ อาทิ ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ กันแล้ว
รู้หรือไม่ว่า แพลตฟอร์มออนไลน์ข้ามชาติเหล่านี้ มีรายได้จากกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าในประเทศไทยมากขนาดไหน ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2564 Grab ที่ให้บริการเรียกรถ สั่งอาหาร มีรายได้ถึง 12,128 ล้านบาท Lazada ที่ให้บริการโลจิสติกส์ มีรายได้ 24,314 ล้านบาท Shopee ที่ให้บริการโลจิสติกส์และกระเป๋าเงินออนไลน์ มีรายได้ 32,054 ล้านบาท แอบเปิล เซาท์ เอเชีย (ประเทศไทย) บริษัทลูกของ Apple Inc. มีรายได้ 94,255 ล้านบาท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการเกมออนไลน์ มีรายได้ 7,098 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้น 6.5% จากปีก่อน
ในขณะที่รัฐบาล และ โดยกระทรวงการคลัง เก็บภาษีจากพวกเขาได้เพียงน้อยนิด แม้ปัจจุบันเราจะมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติ่มประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 หรือเรียกว่า ภาษี E-Service ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 1 กันยายน 2564 แล้วก็ตาม
ขณะที่การเก็บภาษีในปัจจุบัน เรากลับไปเรียกเก็บจากผู้ประกอบการในประเทศ หรือกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ แทนที่จะเรียกเก็บจากแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้ามาประกอบธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการกับลูกค้า
กลายเป็นว่า การเก็บภาษีตัวนี้เป็นการไปสร้างภาระให้กับประชาชน ที่ไม่สามารถรู้ได้ว่า ค่าบริการที่เราต้องเสียให้กับแพลตฟอร์มออนไลน์ข้ามชาติเหล่านี้ มีการชาร์ตค่าภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปด้วยหรือไม่ ยังไม่นับการไม่ยอมจ่ายภาษีนิติบุคคล ที่พยายามอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายหลีกเลี่ยง หรือจ่ายน้อยที่สุดใช่หรือไม่
ดังนั้น นอกจากรัฐบาล จะละเลยช่องทางในการเก็บรายได้เข้าประเทศเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการลงทุน หรือช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤตแล้ว ยังปล่อยให้คนไทยถูกเอาเปรียบใช่หรือไม่ ส่วนแนวทางการแก้ไข และหน่วยงานใดจะหยุดบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ได้ ขออนุญาตเล่าในโพสต์ต่อไป