คลาวดี รุกสมาร์ท ซิตี จับมือเยลโล.เอไอ เปิดบริการแชตบอท ชูจุดเด่นเชื่อมโยงข้อมูลทุกช่องทาง สื่อสารแบบเรียลไทม์ พร้อมนำร่องทดลองบริการเมืองสมาร์ท ซิตี ร่วมกับดีป้า หวังเป็นช่องทางสื่อสารกับประชาชนเพื่อรวบรวมปัญหาและแก้ไขแบบเรียลไทม์
นายอังกุช ภาร์ดวัจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คลาวดี เทเลคอม จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านแอปพลิเคชันเพื่อธุรกิจบนระบบคลาวด์ กล่าวว่า บริษัทคือผู้พัฒนาระบบและบริการแพลตฟอร์มการสื่อสารบนคลาวด์ ทั้งระบบการสื่อสารด้วยเสียง (Voice) ระบบแชตบอทสื่อสารอัตโนมัติทั้งแบบข้อความและเสียง (BOT : Chat and Voice) และระบบการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าหลากหลายช่องทาง โดยบูรณาการทั้งช่องทางการสื่อสารออนไลน์ (Online) และออฟไลน์ (Offline) เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งกว่าให้ลูกค้า ด้วยระบบการสื่อสารที่ชาญฉลาดและไร้รอยต่อในการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าแบบครบวงจร (Omnichannel CRM) เช่น ระบบจัดการข้อความของลูกค้าทั้งหมดผ่านอินเทอร์เฟซ (ClouDee Chatter) และระบบเสียงตอบรับอัตโนมัติ ClouDee Visual IVR ที่ได้รับความเชื่อมั่นจากองค์กรธุรกิจชั้นนำในไทยมากกว่า 600 ราย
ล่าสุด ได้ประกาศความร่วมมือกับเยลโล.เอไอ (Yellow.ai) แพลตฟอร์มระบบอัตโนมัติเพื่อนำเสนอโซลูชันปัญญาประดิษฐ์เพื่อการสนทนา (Conversational AI) ให้แก่ลูกค้าองค์กรชั้นนำในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อลดระยะเวลาในการดำเนินงาน และเสริมสร้างขีดการเติบโตทางธุรกิจ โดยมีจุดเด่นที่ตอบโจทย์การใช้งานได้หลากหลาย ทั้งการสนับสนุนลูกค้า ฝ่ายการตลาด ฝ่ายขาย การซื้อขายผ่านช่องทางแชต (Conversational Commerce) งานทรัพยากรบุคคล และการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อธุรกิจ (ITSM) ด้วยรูปแบบการใช้งานที่สะดวก รวดเร็ว และง่ายดาย ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคล และสื่อสารได้ทันทีแบบเรียลไทม์
“ด้วยสภาวะตลาดที่มีการแข่งขันสูงขึ้น องค์กรธุรกิจต่างๆ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างและนำเสนอประสบการณ์ลูกค้าได้อย่างโดดเด่นเหนือกว่าคู่แข่ง ซึ่งคลาวดีมีความพร้อมที่จะสนับสนุนองค์กรต่างๆ ให้ก้าวข้ามขีดจำกัด ด้วยเทคโนโลยีการให้บริการการสื่อสารครบวงจรผ่านระบบคลาวด์ขั้นสูง Unified Communication as a Service (UCaaS) ประสิทธิภาพสูง เราต้องการปูรากฐานการสื่อสารและการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าของภาคธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการจับมือกับเยลโล.เอไอ ในการนำเสนอโซลูชัน Conversational AI ครั้งนี้จะช่วยให้คลาวดีสามารถผสานขีดความสามารถต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงลูกค้าได้ตรงกับความต้องการเฉพาะบุคคล ความร่วมมือระหว่างคลาวดีและเยลโล.เอไอ ทำให้เรามั่นใจว่าจะสามารถมอบโซลูชันที่ดีที่สุดในตลาดให้แก่องค์กรที่ยึดหลักลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) เพื่อเชื่อมโยงธุรกิจต่างๆ ให้ใกล้ชิดกับลูกค้ามากยิ่งขึ้น”
ดังนั้น องค์กรธุรกิจชั้นนำของไทยสามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มชั้นนำของเยลโล.เอไอ ในการทำงานหลากหลายรูปแบบ ผ่านเทคโนโลยีประมวลผลภาษาธรรมชาติหรือภาษามนุษย์ (Natural language processing หรือ NLP) ที่ผสานการเรียนรู้ด้วยตนเองของหน่วยประมวลผลปัญญาประดิษฐ์ผ่านการรับรู้ความต้องการในหลายปัจจัย การโต้ตอบกับผู้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ และการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดแบบเรียลไทม์ด้วยความแม่นยำสูงถึง 98% รองรับกว่า 120 ภาษา สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้จากทุกช่องทางทั้งโซเชียล มีเดีย อีเมล วอยซ์ ผ่านการทำงานภายใต้มาตรฐานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของยุโรป หรือ GDPR และ PDPA ของไทย
นอกจากนี้ การร่วมมือระหว่างคลาวดีกับเยลโล.เอไอยังมีการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการสนับสนุนลูกค้าให้บิทาซซ่า (Bitazza) เพื่อคอยตอบข้อซักถามของลูกค้าผ่านแอปไลน์ เว็บไซต์ และแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ด้วยการลดปริมาณคำร้องขอผ่านระบบการบริการตนเอง จะทำให้ระบบปัญญาประดิษฐ์สามารถรับมือการร้องขอต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับตั้งแต่การสร้างบัญชีผู้ใช้งานและการปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ขั้นตอน KYC การบริหารกระเป๋าเงินดิจิทัล ไปจนถึงการสร้างลีดผ่านการแจ้งเตือนแคมเปญที่สอดคล้องกับความสนใจของผู้ใช้งาน ระบบปัญญาประดิษฐ์ยังสนับสนุนการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าในภาษาไทย มลายู และอังกฤษ ทั้งยังรองรับการแชตแบบเรียลไทม์กับพนักงานเพื่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ
ปัจจุบันยังมีร้านแฟชั่นชั้นนำมากมายที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ เช่น LYN, JELLY Bunny และ Quinn ภายใต้ Jaspal Group เพื่อการจำหน่ายสินค้าผ่านแอปไลน์และเว็บไซต์ ร่วมกับการบริหารจำหน่ายตั๋วผ่านอีเมล ด้วยความสามารถในการรองรับทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ทำให้ระบบปัญญาประดิษฐ์สามารถสร้างลีด ช่วยให้ลูกค้าค้นพบผลิตภัณฑ์ ส่งการแจ้งเตือนดีลข้อเสนอที่น่าสนใจ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแฟชั่นผ่านไลฟ์แชต และตอบข้อซักถามต่างๆ เกี่ยวกับการสั่งซื้อ การชำระเงิน การขอคืนเงินและการคืนสินค้า และอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น บริการของบริษัทจึงสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ค้าปลีก อีคอมเมิร์ซ อุตสาหกรรมโรงงาน กลุ่มภาครัฐ และสมาร์ท ซิตี
ด้านนายภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี กลุ่มงานโครงการพิเศษและศูนย์พัฒนาดิจิทัลและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า ดีป้ามีหน้าที่ในการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างเอกชน ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ให้องค์กรหรือหน่วยงานรัฐ และเอกชน ซึ่งในกลุ่มของผู้พัฒนาแชตบอทนั้น ดีป้าสนับสนุนทุกราย หน่วยงานที่สนใจสามารถเข้ามาหาโซลูชันที่เหมาะสมกับองค์กรตนเองได้ โดยในส่วนของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ท ซิตีนั้น แชตบอทเป็นอีกหนึ่งโซลูชันที่สำคัญในการนำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ ไม่เพียงการเป็นแชตบอทตอบคำถามเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นช่องทางในการส่งเรื่องร้องเรียนให้เมืองต่างๆ ที่ตนเองอาศัยอยู่ได้
ดีป้าต้องการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของเมืองสามารถรวบรวมข้อมูลและระบุถึงปัญหาในด้านนี้ ด้วยการรวบรวมข้อมูลผ่านเซ็นเซอร์ กล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือการเก็บข้อมูลโดยตรงจากประชาชนผ่านการโทรศัพท์ติดต่อหรือกล่องข้อความ หลังจากนั้นจะใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อประมวลผลความต้องการและค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ต่อไป โดยโปรแกรมแชตบอทจะทำหน้าที่สื่อสารกับประชาชนทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อสอบถามถึงความต้องการต่างๆ ก่อนจะส่งต่อไปยังบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทำให้เราสามารถแก้ไขและรับมือกับปัญหาได้หลากหลายช่องทางมากกว่าในอดีต
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีเมืองที่ได้รับสัญลักษณ์สมาร์ท ซิตี จากดีป้าไปแล้ว จำนวน 15 เมือง ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเมืองตามแผนที่ส่งมา ดังนั้นแต่ละเมืองจะค่อยๆ สร้างตามแผนที่กำหนดไว้ แต่ยังมีอีกกว่า 50 เมืองที่ยังไม่ผ่านและจัดอยู่ในเขตส่งเสริม กลุ่มเมืองเหล่านี้ดีป้าจะช่วยจับคู่นำเครื่องมือต่างๆ ที่จะสามารถทำให้แผนของเมืองนั้นๆ ประสบความสำเร็จ อย่างกรณีของคลาวดีและเยลโล.เอไอ จะมีความร่วมมือกันในการทำโครงการนำร่องกับเมืองในเขตส่งเสริมดังกล่าว เพื่อยกระดับไปสู่สมาร์ท ซิตี โดยดีป้าจะให้การสนับสนุนผ่านการร่วมลงทุนกับบริษัทเอกชนในการดำเนินงานต่อไป