xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับยกฟ้อง “รสนา” แสดงความเห็นคดีแปรรูป ปตท.ไม่ละเมิดอำนาจศาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลปกครองสูงสุด พิพากษากลับ จากให้ลงโทษสถานเบา เป็นยกฟ้อง “รสนา” ข้อหาละเมิดอำนาจศาล กรณีแสดงความเห็นคดีแปรรูป ปตท. ชี้ มีเจตนาปรารถนาดีต่อประเทศชาติที่ต้องการให้ศาลพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน
วันนี้ (10 มิ.ย.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล ว่า เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษากลับคำพิพากษาเดิมขององค์คณะที่มีคำสั่งว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 (น.ส รสนา โตสิตระกูล) ละเมิดอำนาจศาลปกครองสูงสุด เมื่อ 22 ธันวาคม 2559 และมีบทลงโทษสถานเบาให้ตักเตือนนั้น ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาใหม่เป็นยกคำร้องของผู้กล่าวหา (ปตท.) ลงวันที่ 29 เม.ย. 2559 และ ลงวันที่ 27 พ.ค 2559 ในส่วนที่ให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
ความเดิมของเรื่องนี้ คือ เมื่อวันที่ 14 พ.ค 2559 ดิฉันได้เขียนบทความในเฟซบุ๊กตอบโต้บทความ นายบรรยง พงษ์พานิช ว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ ฟ 35/2550 เป็นการใช้หลักรัฐศาสตร์มากกว่าหลักนิติศาสตร์ โดยมีความตอนหนึ่งว่า “ถ้าการแปรรูปไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายจริงๆ ศาลก็ต้องสั่งยกคำร้องของผู้ฟ้องคดี การที่ศาลปกครองไม่สั่งเพิกถอนการแปรรูป ปตท.ทั้งที่แปรรูปผิดกฎหมายต่างหากที่เป็นการใช้หลักรัฐศาสตร์มากกว่าหลักนิติศาสตร์มาตัดสิน”
ต่อมาดิฉันได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2559 คอลัมน์ผีเสื้อกระพือปีก เรื่องรัฐบาลต้องกำกับให้มีการบังคับคดีคืนท่อก๊าซให้ครบถ้วนตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) โดยมีความตอนหนึ่งว่า “การที่ศาลปกครองสูงสุดได้รับข้อมูลอันเป็นเท็จ และให้การรับรองว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2551 นั้นจึงเป็นเรื่องที่ทำให้รัฐเสียหาย และเสียประโยชน์” โดยดิฉันได้นำมติของ คตง.เมื่อ 10 พ.ค. 2559 มาอ้างอิง
ปตท.ได้นำบทความทั้ง 2 บท มาฟ้องศาลปกครองในข้อหาว่าดิฉันละเมิดอำนาจศาล ต่อมามีหมายเรียกดิฉัน และ อาจารย์ศรีราชา วงศารยางกูร อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ไปให้ถ้อยคำในคดีละเมิดอำนาจศาล โดยมี นายวิษณุ วรัญญู เป็นตุลาการเจ้าของคดี
ดิฉันได้ทำหนังสือคัดค้านตุลาการเจ้าของคดีละเมิดอำนาจศาลและองค์คณะเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 ต่อมาศาลปกครองได้ตั้งองค์คณะมาพิจารณาคำคัดค้านของดิฉัน แต่มีคำสั่งยกคำร้องของดิฉันเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2559 โดยอ้างว่า ยังไม่มีคดีละเมิดอำนาจศาล หากมีคดีละเมิดอำนาจศาล ประธานศาลปกครองสูงสุดจะเป็นผู้จ่ายสำนวนให้แก่องค์คณะเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป และยังไม่อาจคาดเดาว่าประธานศาลปกครองสูงสุดจะจ่ายสำนวนคดีให้องค์คณะใดเป็นผู้พิจารณา จึงไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นที่ดิฉันร้องคัดค้านตุลาการเจ้าของคดี มีคำสั่งยกคำร้องของดิฉัน
ต่อมาในวันที่ 22 ธ.ค 2559 ตุลาการ วิษณุ วรัญญู และองค์คณะได้มีหมายเรียกดิฉัน อาจารย์ ศรีราชา วงศารยางกูร (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2) และ นายดนัย เอกมหาสวัสดิ์ (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3) มาให้ถ้อยคำ
หลังจากนั้น มีคำพิพากษาว่า ดิฉัน อาจารย์ศรีราชา และ นายดนัย ละเมิดอำนาจศาล และให้ลงโทษตักเตือน
ดิฉันจึงทำเรื่องอุทธรณ์ขอความเป็นธรรมไปที่ศาลปกครองสูงสุด ว่า การพิจารณาลงโทษดิฉันในคดีละเมิดอำนาจศาลดังกล่าว น่าจะไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา เพราะดิฉันได้ร้องคัดค้านตุลาการเจ้าของคดี และศาลปกครองฯ ได้ยกคำร้องดิฉันอ้างว่ายังไม่มีคดีละเมิดอำนาจศาลจึงไม่พิจารณาคำคัดค้านตุลาการผู้พิจารณาคดี ต่อมาตุลาการที่ดิฉันร้องคัดค้านกลับเป็นผู้พิจารณาพิพากษาลงโทษดิฉันเสียเองในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลแม้จะเป็นโทษสถานเบาก็ตาม
ดิฉันได้อุทธรณ์ขอความเป็นธรรมกรณีถูกพิพากษาลงโทษในคดีละเมิดอำนาจศาล ต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้รับคำร้องอุทธรณ์ของดิฉัน ลงวันที่ 27 มีนาคม 2560 ที่ขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งชี้ขาดคดีละเมิดอำนาจศาลใหม่ในส่วนที่ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 (รสนา โตสิตระกูล)
ศาลปกครองฯ วินิจฉัยว่า การที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งลงวันที่ 5 สิงหาคม 2559 ยกคำคัดค้านตุลาการของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นกรณีที่มีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม อันเป็นเหตุทำให้ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษา หรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีใหม่ตามมาตรา 75 (วรรคหนึ่ง) (3) โดยเหตุว่า หากวินิจฉัยว่ามีเหตุแห่งการคัดค้านตุลาการจริง ตุลาการ องค์คณะที่ถูกคัดค้านย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาคำร้องขอให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 (น.ส รสนา โตสิตระกูล) ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลต่อไปได้แม้จะเป็นการลงโทษตามมาตรา 64 วรรคหนึ่ง (1) หรือ (2)
ดังนั้น ศาลปกครองสูงสุดจึงรับคำร้องของดิฉันในการพิจารณาคดีที่ดิฉันถูก ปตท.กล่าวหาว่าละเมิดอำนาจศาล และผลจากการพิจารณา ศาลได้ยกคำร้องของผู้กล่าวหา (ปตท.) ลงวันที่ 29 เม.ย. 2559 และ 27 พ.ค. 2559 ในส่วนที่ให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
โดยองค์คณะชุดใหม่ของศาลปกครองตัดสินว่าข้อความในบทความทั้ง 2 บทความนั้น ศาลปกครองมีความเห็นว่า แม้ถ้อยคำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 อาจมีลักษณะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีของศาลว่าใช้หลักรัฐศาสตร์มากกว่าหลักนิติศาสตร์มาตัดสินอันอาจมีส่วนทำให้ผู้อ่านสื่อบางคนเข้าใจว่าศาลมิได้พิจารณาพิพากษาคดี ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายและอาจมีลักษณะเป็นการตำหนิหรือกล่าวหาว่าการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลเป็นไปโดยไม่รอบคอบ รับฟังข้อมูลเท็จและให้การรับรองการกระทำที่ไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหายก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีของศาลแล้วเห็นว่า การทำหน้าที่ดังกล่าวของศาลย่อมมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่ไม่เห็นด้วย การเปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์จึงเป็นเรื่องจำเป็น เพียงแต่การวิพากษ์วิจารณ์นั้นจะต้องเป็นไปตามหลักวิชาการมิใช่การวิพากษ์วิจารณ์ที่มาจากอารมณ์ความรู้สึกของผู้วิพากษ์วิจารณ์ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นอาจเข้าข่ายการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
“เมื่อพิเคราะห์ถ้อยคำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 (น.ส.รสนา โตสิตระกูล ) แล้วเห็นว่าถ้อยคำของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวย่อมเกิดจากเจตนาและความปรารถนาดีต่อประเทศชาติในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ที่ต้องการให้ศาลทำหน้าที่พิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน อันเป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 วิพากษ์วิจารณ์ไปตามที่รับรู้ข้อมูลมา…แต่ถ้อยคำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ดังกล่าว ยังไม่มีลักษณะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่มาจากอารมณ์ความรู้สึกเพียงอย่างเดียวอันอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล” จึงพิพากษายกคำร้องของผู้กล่าวหา (ปตท.) ที่ให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 (รสนา โตสิตระกูล) ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล














กำลังโหลดความคิดเห็น