ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จำคุก 1 เดือน “ไบรท์-ชินวัตร” ละเมิดอำนาจ บุกป่วนปราศรัยหน้าบันไดศาลอาญา เมื่อปี 64 โดยให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน
ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (2 มิ.ย.) ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีละเมิดอำนาจศาล ลศ7/2564 (กรณีชุมนุมหน้าศาล) ที่ ผอ.สำนักอำนวยการประจำศาลอาญา ตั้งเรื่องกล่าวหาว่า นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือ ไบรท์ อายุ 28 ปี แกนนำกลุ่มราษฎรนนทบุรี ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแห่ง มาตรา 31(1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา มาตรา 15
กรณีสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 เม.ย.2564 นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง ผู้ถูกกล่าวในคดีนี้ ได้มีการร่วมชุมนุมและกล่าวถ้อยคำปราศรัยด่าว่าศาลอย่างรุนแรงที่ด้านหน้าบันไดอาคารศาลอาญา และประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล และกระทำการฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลอาญา ว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ. 2564
ซึ่งในการไต่สวนนั้น นายชินวัตร ผู้ถูกกล่าวยอมรับว่าได้เข้าร่วมชุมนุมจริง และกล่าวคำปราศรัยที่อยู่บริเวณทางขึ้นบันไดด้านหน้าศาลอาญาจริง
ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31(1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 จำคุก 4 เดือน
ภายหลังญาติได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เงินสดจำนวน 1 หมื่นบาท ขอปล่อยชั่วคราว ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์
ทั้งนี้ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาประการแรกว่า การกระทำของผู้ถูกกล่วหาเกิดนอกห้องพิจารณา มิได้เกิดต่อหน้าศาล การกระทำดังกล่าวไม่ได้ขัดขวางกระบวนพิจารณาใด ๆ และการปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์สถาบันศาลมิได้ร้ายแรงถึงขั้นทำลายความเป็นอิสระของตุลาการ ทั้งยังเป็นการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต เพียงแต่เป็นถ้อยคำที่ไม่สุภาพและไม่เหมาะสมเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาโกรธที่ไม่มีผู้ใดมารับหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ซึ่งไม่เป็นความผิดตามช้อกล่าวหานั้น เห็นว่า การกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา31 (1) มี 2 ประการได้แก่ การขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาล ตามมาตรา 30 อันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาลประการหนึ่ง กับการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลซึ่งเป็นความผิดโดยสภาพ ตามมาตรา 30 อีกประการหนึ่ง การที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวคำปราศรัยโจมตีการทำงานของศาลและผู้พิพากษาหน้าบันไดทางขึ้นศาลอาญาจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลอาญาว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ.2564 และเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลแล้ว
แม้การปราศรัยดังกล่าวจะมิได้ทำลายความเป็นอิสระของตุลาการและเป็นเพียงถ้อยคำที่ไม่สุภาพและไม่เหมาะสมก็ตาม แต่ถ้อยคำที่ผู้ถูกกล่าวหาปราศรัยนั้น มีการใส่ความ ก้าวร้าว หยาบคาย ดูหมิ่น เหยียดหยาม ข่มขู่แสดงความอาฆาตต่อศาลและผู้พิพากษาโดยปราศจากหลักฐานถือเป็นเรื่องร้ายแรงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือต่อศาลยุติธรรมและผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ในการพิจารณาคดี การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลแล้ว อุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาต่อไปว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ใด้ถูกดำเนินคดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางคดีหมายเลขดำที่ ฝ2/2564 ข้อหาร่วมกันพยายามข่มขืนใจเจ้าพนักงาน ดูหมิ่นศาล ผู้ถูกกล่าวหาจึงอาจถูกลงโทษช้ำอีกจากการกระทำครั้งเดียวกันนั้น เห็นว่าความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาลซึ่งกฎหมายให้ศาลมีอำนาจพิเศษในการลงโทษโดยไม่ต้องมีผู้ใดร้องขอหรือเป็นโจทก์ฟ้อง ส่วนคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกฟ้องที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ข้อหาร่วมกันพยายามข่มขืนใจเจ้าพนักงาน ดูหมิ่นศาล นั้น เป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกับคดีละเมิดอำนาจศาล ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตามกฎหมาย อุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาต่อไปว่า ในชั้นไต่สวน ผู้ถูกกล่าวหาประสงค์จะนำสืบพยานปากนางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ แต่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งงดไต่สวนพยานปากดังกล่าวโดยไม่ได้ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ จึงขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีนี้ใหม่นั้น
เห็นว่าบทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาข้อเท็จจริง ได้โดยใช้ดุลพินิจ เมื่อเห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความชัดเจนพอที่จะวินิจฉัยชี้ขาดได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ศาลย่อมวินิจฉัยขี้ขาดไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ เมื่อผู้ถูกกล่าวหาเบิกความรับว่าเป็นบุคคลที่ร่วมชุมนุม และร่วมปราศรัยด้วยเครื่องขยายเสียงโดยใช้คำพูดตามที่ปรากฎในแผ่นซีดีบันทึกภาพ แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะโต้แย้งว่า แผ่นชีดีดังกล่าวไม่ได้บันทึกเหตุการณ์ชุมนุมตั้งแต่ต้นจนเลิกจึงขาดข้อเท็จจริงบางส่วนไป ซึ่งเหตุการณ์ที่ขาดหายไปนั้นเป็นเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหา กับพวกต้องการยื่นหนังสือต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายพริษฐ์กับพวก หากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาหรือตัวแทนมารับหนังสือดังกล่าวก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายรวมทั้งการปราศรัยของผู้ถูกกล่าวหานั้น
เห็นว่า แม้มีเหตุการณ์ตามที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างจริงก็ไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกล่าวหาพ้นผิดในการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงได้ อุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ตามที่ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์ว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาถึง 4 เดือน เป็นการลงโทษที่หนักเกินไปนั้น เห็นว่า เหตุที่ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิด เนื่องจากต้องการเรียกร้องให้ศาลอนุญาตให้จำเลยอื่นที่กระทำความผิดร่วมกับผู้ถูกกล่าวหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเท่านั้น ประกอบกับที่
ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาเป็นเวลา 4 เดือน นั้นหนักเกินไปศาลอุทธรณ์เห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่การกระทำความผิด
อุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาฟังขึ้นบางส่วน พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาเป็นเวลา 1 เดือน โดยให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น