xs
xsm
sm
md
lg

วทน.รุ่น 1 เสนอแนะปรับปรุงกฎหมายไทย ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วทน.รุ่น 1 เสนอแนะปรับปรุงกฎหมายไทย ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพิจารณาคดีอาญา และปล่อยตัวชั่วคราว ย้ำเพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้และเคารพสิทธิเสรีภาพบุคคล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2565 นายอนุพร อรุณรัตน์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ ในฐานะผู้เข้าอบรมหลักสูตร “การบริหารเชิงนิติศาสตร์ระดับสูง” (วทน.) รุ่นที่ 1 วิทยาลัยทนายความ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมนำเสนอผลงานวิชาการเกี่ยวกับปัญหาและข้อเสนอเกี่ยวกับกฎหมายไทย

โดยนายอนุพร และกลุ่มเสนอแนะในประเด็นปัญหาเรื่องสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ซึ่งหลักการประกันที่สำคัญนั้น ต้องการให้เกิดความแน่ใจว่า ในวันพิจารณาคดีอาญา จำเลยจะต้องปรากฏตัวให้เห็นต่อหน้าโจทก์และพยาน แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป โดยเฉพาะต่างประเทศในทวีปยุโรป อเมริกาในคดีอาญาบางคดีและบางกระบวนพิจารณา จำเลยไม่ต้องยืน หรือ อยู่ในสถานที่เดียวกันกับโจทก์และพยาน ไม่จำเป็น ต้องไปเจอกันที่ศาล โดยใช้ระบบการพิจารณาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ ซึ่งในคดีแพ่งได้พิจารณาด้วยใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลสูง 70- 80% และในคดีอาญาก็มีจำนวนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นการเสนอให้ใช้เทคโนโลยีมาเป็นช่องทางในการพิจารณาคดีแพ่งและคดีอาญา จึงถือเป็นการพัฒนาระบบพิจารณาคดีอาญาให้ทันสมัย ทันต่อสถานการณ์โลกปัจจุบัน

จึงมีการเสนอให้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการยุติธรรม โดยย้ำว่า ต้องโปร่งใส และตรวจสอบได้ เนื่องจากปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสารด้วยระบบ 5G อุปกรณ์ IOT เพื่อให้อุปกรณ์ต่างๆ เชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างสู่โลกอินเตอร์เน็ต การยืนยันตัวตนด้วย Smart Device Cyber Security เทคโนโลยี Big Data Blockchain ล้วนแล้วเป็นการขับเคลื่อนของเทคโนโลยี

กระบวนการยุติธรรม จึงตอบรับกับกระแสความเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการที่ประชาชนจะเข้าถึงความยุติธรรมได้สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น
ศาลยุติธรรม เป็นองค์กรรัฐที่มีหน้าที่ใช้อำนาจตุลาการอย่างอิสระภายใต้หลักนิติธรรม ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจึงพร้อมอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนทุกคน อย่างเสมอภาคและทั่วถึง และได้มีการกำหนดกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนและพัฒนางานตามภารกิจด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้กับการให้บริการประชาชนในการดำเนินงานนั้น ได้มีการเชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีของกระบวนการยุติธรรมทั่วประเทศ รวมถึงหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอื่น ๆ ผ่านระบบต่าง ๆ 

ส่วนข้อเสนอแนะการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน เพื่อให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีความสะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงง่าย ได้แก่
* การสื่อสารทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference)
* การเชื่อมโยงและการแลกเปลี่ยนข้อมูลในกระบวนการยุติธรรม สำหรับเป็นข้อมูลสารสนเทศสนับสนุนการพิจารณาความแพ่งฯ
* การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) เพื่อความสะดวกของคู่ความและประชาชน
* การสื่อสารประชาสัมพันธ์ พร้อมช่องทางการมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง

ส่วนเรื่อง การปล่อยตัวชั่วคราว คือ การประกันตัวผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญาในระหว่างถูกดำเนินคดี โดยไม่ต้องถูกควบคุมหรือขัง ได้รับอิสรภาพไปชั่วระยะเวลาหนึ่งระหว่างที่มีการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวน หรือไต่สวนมูลฟ้อง หรือการพิจารณาคดีของศาล โดยอาจปล่อยโดยวิธีไม่มีประกันหรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันก็ได้ อันเป็นการรักษาความสมบูรณ์ของกระบวนการยุติธรรม

ทั้งนี้ ผู้ต้องหาหรือจำเลยสัญญาว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือศาล โดยจะมาตามนัดหรือหมายเรียกของศาล ซึ่งหากผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับประกันตัว หรือปล่อยชั่วคราวผิดสัญญาแล้ว ผู้ต้องหาหรือจำเลยหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ก็อาจจะถูกปรับตามสัญญาประกัน หรืออาจถูกริบหลักประกัน สำหรับสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในการขอปล่อยชั่วคราว ระบุว่า หลักประกันความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล มาตรา 28 วรรคหนึ่ง 'บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย' มาตรา 29 วรรคสอง 'ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดและก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่า บุคคลใดได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้น เสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้'

จากผลการศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติของกฎหมาย กระบวนการและวิธีการต่างๆ ของประเทศไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้ว พบปัญหาเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่ง รวมถึงปัญหาการใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงานหรือศาลในการปล่อยชั่วคราว จึงเสนอมาตรการควบคุมทางกฎหมายหรือเงื่อนไขต่างๆ ที่เหมาะสมกับลักษณะและสภาพความผิดแต่ละประเภทของผู้ต้องหาหรือจำเลยแต่ละคน และมีรายละเอียดชัดเจนเพียงพอ ได้แก่
* การกำหนดให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีเสรีภาพในที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลหรือการรับรองของบุคคลที่ปกครองดูแล
* การให้อยู่ภายในพื้นที่ที่กำหนด หรือการอยู่ภายในพื้นที่เขตอำนาจ หรือการเข้าออกจากที่พักอาศัยตามเวลาที่กำหนดไว้โดย โดยให้เจ้าพนักงานหรือศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
* หากมีความจำเป็นต้องออกนอกพื้นที่จะต้องได้รับอนุญาตและใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มาควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้
* กำหนดให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยสาบานตนตามลัทธิทางศาสนา หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือว่าจะมาศาลตามกำหนดนัด
* กำหนดให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานหรือศาลตามเวลาที่กำหนด หรือการห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร
* ห้ามผู้ต้องหาหรือจำเลยติดต่อสื่อสารหรือเข้าไปในเขตที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายหรือพยาน
* ห้ามติดต่อสื่อสารหรือคบค้าสมาคมกับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่กระทำความผิดร่วมกัน
* ห้ามคบค้าสมาคมกับบุคคลบางกลุ่มที่กำหนด
* ห้ามครอบครอง มีไว้ หรือพกพาซึ่งอาวุธร้ายแรงที่อาจใช้ในการก่ออันตรายได้
* มาตรการอื่นๆ เพื่อที่จะควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยมิให้หลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และไปก่ออันตรายแก่สังคม

นอกจากนี้ นายอนุพร มองว่าการลิดรอนสิทธิเสรีภาพระหว่างการพิจารณาคดี ถือเป็นเรื่องที่รุนแรง ความยากลำบากทางเศรษฐกิจและจิตใจ และขัดขวางความสามารถในการปกป้องตนเอง สนับสนุนการปล่อยชั่วคราวเพื่อการกำกับดูแลในชุมชน ควรมีหน่วยงานให้บริการก่อนการพิจารณาคดีเพื่อรวบรวมเสนอข้อมูลที่จำเป็นนำเสนอการประเมินความเสี่ยง มีโครงการให้ได้งานที่จำเป็น การรักษาพยาบาลสุขภาพจิตหรือสุขภาพอื่นๆ เป็นเงื่อนไขเชิงบวกให้แก่ผู้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และให้พิจารณาการปล่อยตัวเป็นหลัก การคุมขังเป็นข้อยกเว้น

โดยการอบรมหลักสูตรดังกล่าว เป็นโอกาสที่ดีสำหรับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ทนายความ ตุลาการศาล ไปจนถึงราชทัณฑ์ และบุคลากรด้านภาครัฐ องค์กรอิสระ ภาคธุรกิจและภาคเอกชน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์และความคิดเห็นการบริหารเชิงนิติศาสตร์พัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย สร้างนิติทัศนะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ด้านกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายสูงสุดในรัฐธรรมนูญ และเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน.






กำลังโหลดความคิดเห็น