โฆษก กมธ.งบฯ 66 แถลงผลประชุม แนะ ก.คลัง เปิดเผยความเสี่ยงเงินคลังต่อ ปชช. ชี้ กรมบัญชีกลาง ควรทำแผนป้องกันงบบำนาญฯ หวั่นพุ่งเกิน 10% ของเงินแผ่นดิน
วันนี้ (9 มิ.ย.) ที่รัฐสภา นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม.พรรค พปชร. และ นายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2566 แถลงผลการประชุม กมธ.งบประมาณ
นางกรณิศ กล่าวว่า ในการพิจารณาเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. กมธ. ได้ใช้เวลาในการพิจารณางบประมาณมาแล้วทั้งหมด 10 ชั่วโมง ซึ่งมีหน่วยงานที่ผ่านการพิจารณาไปแล้ว รวม 1 กระทรวง 4 หน่วยงาน 1 กองทุน และงบกลาง 7 รายการ ได้พิจารณางบประมาณในภาพรวมของ กระทรวงการคลังงบประมาณทั้งสิ้น 285,230,406,000 บาท และได้พิจารณางบประมาณของ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง จำนวน 4 หน่วยงาน 1 กองทุน และงบกลาง 7 รายการ งบประมาณทั้งสิ้น 534,503,541,900 บาท ดังนี้ 1. สํานักงานปลัดกระทรวงการคลัง จํานวน 1,269,034,300 บาท กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม (งบประมาณ ทั้งสิน 35,514,624,900 บาท) 2. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จํานวน 929,749,300 บาท 3. กรมธนารักษ์ จํานวน 3,789,359,700 บาท และ 4. กรมบัญชีกลาง จํานวน 1,530,773,700 บาท
นายเขตรัฐ กล่าวว่า โดยในการพิจารณางบประมาณของกระทรวงการคลังในภาพรวม มี กมธ.บางคนให้ข้อเสนอแนะ ว่า จากมาตรการของกระทรวงการคลัง ซึ่งมีการให้หน่วยงานต่างๆ สำรองงบประมาณจ่ายไปก่อนได้ หากมีเหตุจำเป็นทางการคลัง ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่สามารถ ทำได้ตามความใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 28 ที่ มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ โดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินการนั้น แต่ให้กระทำได้เฉพาะกรณี เช่น เป็นหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายที่อยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของหน่วยงานของรัฐนั้น หรือเพื่อฟื้นฟูหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ หรือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย หรือการก่อวินาศกรรม แต่การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้มีการเปิดเผยสู่สาธารณะ เพราะไม่มีกฎหมายบังคับ ให้ต้องเปิดเผย ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณจึงขอให้กระทรวงการคลังมีนโยบายในการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงทางการคลังในส่วนนี้จากข้อเสนอแนะของ กมธ. ดังกล่าว ผู้แทนของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ชี้แจงว่า จะรับข้อเสนอแนะไปพิจารณาแนวทางในการเผยแพร่ข้อมูลให้สอดคล้องตามกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้าน นายสัณหพจน์ กล่าวว่า ส่วนในการพิจารณางบประมาณ ของกรมธนารักษ์ งบประมาณทั้งสิ้น 3,789,159,700 บาท ในที่ประชุมได้มีการหารือกันเกี่ยวกับการผลิตเหรียญกษาปณ์ในอนาคต ซึ่งมี กมธ. บางคนสอบถามว่า จากข้อมูลในเอกสารงบประมาณ พบว่า กรมธนารักษ์ ได้ปรับลดการผลิต เหรียญกษาปณ์ลงทุกปี โดยในปี 2565 มีการผลิต 2,700 ล้านเหรียญ ปี 2566 ลดลงเหลือ 1,970 ล้านเหรียญ ส่วนปี 2567 จะมีการผลิตลดลงเหลือ 1,890 ล้านเหรียญ ปี 2568 จะลดลง เหลือ 1,810 ล้านเหรียญ และ ปี 2569 ลดลงเหลือ 1,740 ล้านเหรียญ ทั้งนี้ จะเห็นว่า หน่วยงานมีการผลิตเหรียญลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรรมาธิการ ได้ชื่นชมหน่วยงานในกรณีดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมของหน่วยงาน เพื่อเข้าสู่สังคมไร้เงินตรา ซึ่งในอนาคตการใช้ธนบัตรซึ่งเป็นกระดาษหรือ เหรียญกษาปณ์จะลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะประชาชนนิยมใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งกันมากขึ้น
นายสัณหพจน์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหน่วยงานจะมีการลดการผลิตเหรียญลงอย่างต่อเนื่อง แต่กลับพบว่า หน่วยงานมีโครงการพัฒนาโรงกษาปณ์ 4.0 จึงขอความชัดเจนในประเด็นดังกล่าว ผู้แทนของกรมธนารักษ์ ได้ชี้แจงว่า โรงกษาปณ์ 4.0 เป็นโครงการที่พัฒนากระบวนการ ผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมทั้งงานรับจ้างจัดทำเหรียญชนิดอื่นๆ การจัดทำเหรียญที่ระลึก และการจัดทำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นต้น เพื่อชดเชยรายได้จากการผลิตเหรียญทั่วไป ซึ่งหน่วยงานมีแผนการผลิตลดลง โดยการพัฒนาโรงงาน 4.0 ใช้เงินนอกงบประมาณ ซึ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียนที่มีวัตถุประสงค์เป็นการเฉพาะ ไม่ได้ขอรับจัดสรรงบประมาณ แต่อย่างใด
นายสัณหพจน์ กล่าวว่า ส่วนในการพิจารณางบประมาณ ของกรมบัญชีกลาง งบประมาณทั้งสิ้น 1,530,773,700 บาท ที่ประชุมได้มีการหารือกันเกี่ยวกับงบกลางในส่วนของงบประมาณเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญของข้าราชการในส่วนของเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างต่อเนื่องในทุกปี ทั้งนี้ มี กมธ. ให้ข้อสังเกตว่า ในปี 2554 รายจ่ายรายการเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ใช้งบประมาณไม่ถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ถึงร้อยละ 5 ของรายจ่ายทั้งหมด ของประเทศ แต่งบประมาณรายการนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันเป็นรายการที่มีค่าใช้จ่าย เกินกว่าร้อยละ 10 ของงบประมาณทั้งหมดของประเทศ ด้วยเหตุนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการจัดทำงบประมาณในอนาคต หน่วยงานจึงควรมีแผนในการรองรับงบประมาณในส่วนนี้ซึ่งจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอาจต้องเตรียมสำรองงบประมาณเอาไว้ล่วงหน้า หรือมีแผนการบริหารงบประมาณเพื่อไม่ให้งบประมาณรายการนี้ เกินกว่าร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายรวมของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ผู้แทนของกรมบัญชีกลาง ได้ชี้แจงว่า จำนวนผู้รับบำนาญมีทั้งสิ้น 811,272 คน ซึ่งเป็นข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย. 2565 โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้มีการตั้งงบประมาณ ในส่วนนี้ จำนวน 352,700 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 322,790 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายจ่ายที่สะสมเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะผู้รับบำนาญมีอายุที่ยืนยาวขึ้น ทั้งนี้ คาดว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 400,000 ล้านบาท