xs
xsm
sm
md
lg

สภาถกงบปี 66 วันแรก รบ.คาดเงินเฟ้ออยู่กรอบเป้าหมาย หนี้สาธารณะสิ้น มี.ค. 60.6 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาถก กม.งบฯ ปี 66 วันแรก รบ.คาดเงินเฟ้ออยู่กรอบเป้าหมาย แจง หนี้สาธารณะ สิ้น มี.ค. 60.6 เปอร์เซ็นต์ ชี้ ภาคธุรกิจ-ครัวเรือนบางกลุ่ม การเงินเปราะบาง เผย เงินสำรองระหว่างประเทศแข็งแกร่ง พร้อมกันงบ 9.59 หมื่นล้าน เผื่อฉุกเฉินจำเป็น-แก้โควิด

วันนี้ (31 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.45 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 1 รับหลักการ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมคณะรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงหลักการของร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 66 ว่า การดำเนินนโยบายการคลังในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2.49 ล้านล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 6.95 แสนล้านบาท รวมเป็นรายรับ จำนวน 3.18 ล้านล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย สำหรับฐานะการคลัง หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 มีจำนวน 9.95 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 70 โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาล ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรงและการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล มีจำนวน 9.47 ล้านล้านบาท

ฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เมษายน 2565 มีจำนวน 3.98 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับ
ที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนฐานะและนโยบายการเงิน การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมายังคงผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้มีความต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกินกรอบเป้าหมายจากราคาพลังงานและราคาอาหารที่ปรับสูงขึ้นมาก และจะปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงต้นปี 2566 จากราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่าจะไม่ปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นในปี 2565 รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่จะบรรเทาลง ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย

“สำหรับด้านระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีความเปราะบางขึ้นในบางกลุ่มจากปัญหาค่าครองชีพและต้นทุนที่มีการปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และมีภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง คณะกรรมการนโยบายการเงินจึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.50 ในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2565 เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมยังคงผ่อนคลาย และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ส่วนฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 22 เมษายน 2564 มีจำนวน 2.33 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 3.15 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง” นายกฯ ระบุ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า การจัดทำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว รัฐบาลได้ดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2.39 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 75.26 รายจ่ายลงทุน จำนวน 6.95 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21.82 และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 1 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.14 ทั้งนี้รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 7 พันล้านบาท ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายในกรอบวินัยการเงินการคลัง

อย่างไรก็ตาม งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำแนกตามยุทธศาสตร์ได้ 6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 2.96 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.3 ของวงเงินงบประมาณ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3.96 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.4 ของวงเงินงบประมาณ ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 5.49 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.2 ของวงเงินงบประมาณ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ จำนวน 7.59 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.9 ของวงเงินงบประมาณ ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ จำนวน 1.22 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.9 ของวงเงินงบประมาณ ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 6.58 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.7 ของวงเงินงบประมาณ และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 4.02 แสน ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.6 ของวงเงินงบประมาณ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า รายจ่ายงบกลางเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 9.59 หมื่นล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง ภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ และการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ










กำลังโหลดความคิดเห็น