xs
xsm
sm
md
lg

พรรคเศรษฐกิจไทย เรียงหน้าอภิปรายงบฯ ปี 66 เหน็บกระจุกอยู่แค่ส่วนกลาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พรรคเศรษฐกิจไทย เรียงหน้าอภิปรายงบฯ ปี 66 เหน็บจัดงบฯ แบบ copy and paste กระจุกอยู่แค่ส่วนกลาง ไม่กระจายภูมิภาค สร้างปัญหาเหลื่อมล้ำ แนะประเทศจะมีความมั่นคั่ง ยั่งยืน ก็ต้องมาจากฐานราก ต้องแก้ปัญหาปากท้องชาวบ้านและพี่น้องเกษตรกร ด้าน “บุญสิงห์” ย้ำ พรรคเศรษฐกิจไทยติเพื่อก่อ ขู่หากรัฐบาลไม่ฟัง ก็ต้องติดตามตอนต่อไป เพราะจะคอยจับตาตรวจสอบการใช้งบปี 66 อย่างใกล้ชิด

วันที่ 2 มิ.ย. 65 เมื่อเวลา 18.00 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงินงบประมาณ 3.18 ล้านล้านบาท นายสะถิระ เผือกประพันธ์ ส.ส.ชลบุรี พรรคเศรษฐกิจไทย กล่าวอภิปรายว่า ก่อนอื่นขอฝากท่านประธานไปถึงนายกฯ ว่า การอภิปรายร่างงบประมาณรายจ่ายทุกๆ ปีของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ใช่หาเสียง เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ คือ ภาษีของพี่น้องประชาชน ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนได้ไปลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนไปเจอเหตุการณ์จริงไม่ใช่ตัวอักษร ไม่ใช่ตัวเลข จึงขอฝากท่านประธานไปถึงนายกฯให้เข้าใจว่าผู้แทนราษฎรเราจึงมาทำหน้าที่เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

สำหรับงบประมาณรายจ่ายปี 2566 ซึ่งเราคาดการณ์กันว่า เป็นปีแห่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ซึ่งตนเองขอเรียกว่า เป็นการจัดงบฯแบบ copy and paste เพราะเหมือนเอาตัวหนังสือปีก่อนมาวางใส่อีกปีนึง ตัวเลขก็จะเกือบเท่าๆ กัน ดังนั้น ตนเองไม่ลงลึกตัวเลข ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายปี 2566 ซึ่งคาดการณ์ว่า เป็นปีแห่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำประเทศ เหมือนเป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรในการบริหารงบฯ ขณะที่หนี้สาธารณะพุ่งสูงมาก กู้เพิ่มไม่ไหวแล้ว จะฟื้นฟูประเทศอย่างไร ต้องจัดความสำคัญของยุทธศาสตร์ ขณะที่รายได้หลักฟื้นประเทศด้านหนึ่ง คือ รายได้ท่องเที่ยว จะทำอย่างไรให้ได้ตามเป้า 3.3 ล้านล้านบาท ตามที่กระทรวงท่องเที่ยวฯตั้งเอาไว้ นี่คือ สิ่งที่นายกฯจะต้องคิดบริหารงบประมาณให้ได้

นายสะถิระ กล่าวต่อว่า วันนี้ราคาข้าวของแพงทั้งแผ่นดิน ถ้าได้รายได้วันละ 200 ไข่ไก่ใบละ 10 บาท ประชาชนจะอยู่ไม่ได้ ท่านนายกฯเปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัว นี่คือ หน้าที่ของท่าน ระบบการเงินของประเทศวันนี้ อยู่ในสถานการณ์ที่แย่ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น กระทบครอบครัวผู้มีรายได้น้อยกว่า 40-50% ของประเทศ อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.5 ตั้งแต่ปี 2563

“การคลังของประเทศ หนี้สาธารณะมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจนอกระบบของไทยคิดเป็นร้อยละ 41.9 ของจีดีพี แต่จำนวนผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2562 มีเพียง 4 ล้านคน มีผู้ยื่นแบบเสียภาษี 11 ล้านคน แรงงาน 39 ล้านคน สิ่งที่ผมพูดไป ขอฝากไปถึงทีมเศรษฐกิจของท่านนายกรัฐมนตรีด้วยว่าคิดอย่างไรอยู่”

ด้าน นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก พรรคเศรษฐกิจไทย ตั้งข้อสังเกตการจัดสรรงบกระทรวงสาธารณสุข ว่า มีการกระจุกตัวอยู่ส่วนกลางจำนวนมาก มีการจัดสรร 1.1 หมื่นล้านบาทเศษ เพิ่มจากปีที่แล้ว ต้องน่าเห็นใจเพราะสองปีที่ผ่านมาทำงานหนักมาก เนื่องจากสถานการณ์โควิด แต่รัฐบาลก็กู้มาให้ใช้เป็นส่วนใหญ่ จากที่ดูการบริหารของ สปสช.ช่วงโควิดระบาดหนัก มีการเปิดสายด่วน 1330 ให้มีการลงทะเบียนผู้ติดเชื้อ แต่มีปัญหาประชาชนไม่สามารถเข้าถึงจำนวนมาก

ยกตัวอย่างตนที่ประสบการณ์โดยตรง เพราะติดเชื้อและแจ้งสายด่วนไป แต่ก็เงียบหายจนรักษาหายไปแล้วถึงได้ติดต่อมา และยังมี ส.ส.หลายคนติดเชื้อ แต่ต้องรักษาเอง ไม่มีสปสช.มาช่วยเหลือ หรือแม้จะลงทะเบียนได้คลินิกที่ทำเอ็มโอยูกับ สปสช.ติดต่อมาบางแห่งก็ไม่มีอุปกรณ์ บางแห่งไม่มียาฟาวิพิราเวียร์ ตนได้ยินว่ารายจ่ายค่ารักษาต่อหัวที่ สปสช.จ่าย 15,000 บาทต่อหัว แต่เห็นของที่มารักษาไม่น่าจะถึง ขอให้ผู้บริหารสอบถามหากจริงต้องทบทวนการจัดงบส่วนนี้ ขณะที่พื้นที่ จ.ตาก มีการบริหารจัดการราบรื่นมาก โดย อสม. ดังนั้น การทำงบประมาณควรให้ความสำคัญกับหน่วยงานภูมิภาคมาก ให้มีการบริหารงบกันเองไม่ใช่ให้ส่วนกลางสั่งการลงไป

นายภาคภูมิ ยังอภิปรายถึงการจัดงบกรมส่งเสริมท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทย ที่ได้รับงบ 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการกระจายอำนาจตั้งเป้าอยู่ที่ 35% แต่ที่ผ่านมาไม่เคยถึง ปีนี้อยู่ที่ 29.6% การกระจายอำนาจยังไม่สมบูรณ์และยังเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะงบอุดหนุนเฉพาะกิจหมวดที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างจำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท ให้กับเทศบาลและ อบต.ทั้งประเทศ ทุกปีจะมี อปท.จำนวนมากไม่ได้รับเงินส่วนนี้เลย โดยเฉพาะที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่า เพราะไม่สามารถขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าได้ทันหรือใช้เวลาพิจารณาล่าช้า ได้งบมาก็ตกต้องส่งคืนกรม ทำให้เสียโอกาสไม่มีการพัฒนาพื้นที่ ที่ส่วนใหญ่ยากจนและเป็นกลุ่มชาติพันธุ์

ตนอยากให้ผู้บริหารระดับสูงของมหาดไทยช่วยคนเหล่านี้โดยตั้งข้อยกเว้น หรือกรณีพิเศษ เพื่อให้ อปท.สามารถรับการจัดสรรงบอุดหนุนจากกรมได้ หรือเป็นตัวประสานกับหนวยงานต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกกฎเกณฑ์ ทำข้อตกลงร่วมกัน เชื่อว่าจะลดความเหลื่อมล้ำและรับงบประมาณได้อย่างดีขึ้น

ขณะที่ นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น พรรคเศรษฐกิจไทย กล่าวอภิปรายว่า งบประมาณในการอภิปรายอยู่นี้มีส่วนที่น่าจะสนับสนุนและท้วงติงหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ที่ยังเป็นปัญหาไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง หรือน้ำท่วม การจัดสรรงบประมาณยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากประเทศเป็นเกษตรกรรม จำเป็นต้องใช้น้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะภาคอีสาน

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า งบประมาณ 54,121.9 ล้านบาท ตนขอเสนอแนะว่า รัฐบาลต้องเพิ่มงบประมาณให้หน่วยงานหลักอีก 100% ตลอดเวลา 10 ปี โดยแบ่งให้กับ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และแบ่งพื้นที่รับผิดชอบอย่างมีเป้าหมายคงามสำเร็จ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำในเชิงยุทธศาสตร์ได้ ส่วนสวัสดิการผู้สูงอายุ ในเรื่องเบี้ยยังชีพ และบำนาญประชาชน นั้นขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขเบี้ยยังชีพ เป็นบำนาญประชาชนถ้วนหน้าคนละ 3,000 บาท และรับรอง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญแห่งชาติ พ.ศ....จะเป็นการสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับผู้สูงอายุทั่วประเทศจากรัฐบาลเป็นคุณูปการแก่คน 12 ล้านคน

นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย กล่าวอภิปรายว่า ประเทศไทยจะต้องอยู่ได้ด้วยฐานพีระมิด โดยประเทศจะมีความมั่นคั่ง ยั่งยืน ก็ต้องมาจากฐานราก ปัญหาความยากจนมีจะแก้ปัญหาอย่างไร วันนี้ค่าใช้จ่ายสูง แต่รายได้ต่ำ รัฐบาลต้องมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้ต้นทุนการผลิตมีราคาที่ต่ำลง รวมไปถึงราคาพืชผลทางการเกษตรต้องสูงขึ้น ราคาปุ๋ยเคมีที่ราคาเกือบ 2000 บาท เกษตรกรจะอยู่กันอย่างไร หนี้สินก็เพิ่มพูนเพราะต้องขาดทุนทุกปี ตอนนี้ยังมีปัญหาราคาน้ำมันแพงขึ้นมาอีก

นายจีรเดช กล่าวต่อว่า รัฐบาลจะต้องตั้งราคาในการประกันราคาไว้ หากราคาตกต่ำก็จะยังสามารถช่วยเกษตรกรได้ และเป็นการประกันรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร ถ้าอยากให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า เกษตรกรต้องมาก่อน อย่างเช่น ลำไย มีเกษตรกรกว่า 2 แสนครัวเรือนทางภาคเหนือที่ปลูก แต่กลับไม่มี พ.ร.บ.ลำไยเกิดขึ้น เพื่อประกันรายได้ที่แน่นอน รัฐบาลต้องเพิ่มพืชเศรษฐกิจให้มากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ลำไย หอมแดง ลิ้นจี่

“งบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ได้รับการจัดการงบประมาณอยู่ประมาณ 120,000 ล้านบาท ถือเป็นกระทรวงที่มีบทบาทสำคัญกับเกษตรกรทั่วประเทศ แต่ในส่วนของงบประมาณเศรษฐกิจฐานรากน้อยเกินไปหรือไม่ ส่วนกระทรวงพาณิชย์ก็ต้องเข้ามาดูแลการกระจายสินค้าให้มากกว่านี้ วันนี้ตนยังมองไม่เห็นว่าอนาคตข้างหน้าของเกษตรกรจะเป็นอย่างไร งบประมาณต้องจัดการให้มากกว่านี้ ถึงจะเข้ามาพลิกวิกฤตให้กับเกษตรกรและประเทศไทยได้”

นายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร พรรคเศรษฐกิจไทย กล่าวอภิปรายว่า งบประมาณปี 2566 เป็นความหวังของประชาชนจริงหรือไม่ จะสามารถดูแลได้ทั่วถึงหรือไม่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่จะต้องสามารถดูแลให้พวกเขามีความสุขทั่วทั้งแผ่นดินได้จริงหรือไม่ ทั้งนี้ ตนต้องขอขอบคุณ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ลงพื้นที่มาดูแลปัญหาดินในพื้นที่จังหวัดพิจิตร เป็นอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรไทย

“ส่วนสำคัญของประเทศ ก็คือ เกษตรกรชาวไทยที่จะเป็นผู้สร้างเศรษฐกิจไทย ถือเป็นฐานรากที่ต้องอาศัยเกษตรกรเท่านั้น จึงจำเป็นที่รัฐบาลต้องให้การดูแล รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณลงไปให้สหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศ รวมไปถึง ธ.ก.ส.ทำไมถึงไม่จัดการงบประมาณให้มากกว่านี้ ให้หน่วยงานเหล่านี้ได้เข้าไปดูแลเกษตรกร”

จากนั้น นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคเศรษฐกิจไทย อภิปรายถึงการจัดสรรคงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2566 ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ว่า มีจำนวน 3.25 แสนล้านบาท ลดลง 4.5 พันล้านบาท ว่า ไม่ควรจะลดลงเพราะเป็นกระทรวงหลักของประเทศ และควรจะเพิ่มมากกว่า ตนอยากถามว่า เวลานี้อนาคตของชาติสมบูณ์หรือยัง รัฐบาลจะจัดการศึกษาอย่างไรเพื่อยกระดับนักเรียนและประชาชน ซึ่งเราจะต้องเปลี่ยนห้องเรียนให้ทันต่อโลก และควรเปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นของประชาชน โดยคณะกรรมการสถานศึกษาควรจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้

นายเกษม กล่าวว่า ตนอยากเห็นหน้าตาของเด็กในอนาคตว่าเป็นอย่างไร อย่างเหตุการณ์เด็กนักเรียนกระโดดตึกเสียชีวิตในโรงเรียนที่โคราช ต้องเข้าไปดูว่าปัญหาคืออะไร เป็นเพราะระบบโรงเรียนดูแลสมบูรณ์หรือไม่ ขอฝากรัฐมนตรีเข้าไปดูว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ที่สำคัญ ต้องปลูกฝังให้เด็กมีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีความกตัญญู ไม่กระด้างกระเดื่อง เป็นเด็กเก่งอย่างไทย

“ทำไมการศึกษาไทยจึงล้มเหลว เพราะเรามีนิติบุคคลที่จอมปลอม ถึงเวลาต้องช่วยกันแก้ปัญหา พ.ร.บ.การศึกษาให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล แต่ไม่เคยกระจายอำนาจลงไป มีการทำสารพัดโครงการ จนครูไม่มีเวลาสอน ตรงนี้ต้องพิจารณาทบทวนด้วย”

สุดท้าย นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจไทย ลุกขึ้นอภิปรายว่า การอภิปรายของพรรคเศรษฐกิจไทยวันนี้ ถือเป็นการติเพื่อก่อ แต่ถ้ารัฐบาลไม่ฟังก็จะต้องติดตามตอนที่สองและสามต่อไป ทั้งนี้ จะเห็นว่า งบของการปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เคยขยับ เมื่อไหร่รัฐบาลจะออกจากับดักร้อยละ 29 เป็น 30 เสียที ประชาชนเขารออยู่ที่จะได้รับการกระจายอำนาจ ประเทศที่เขาเจริญแล้วงบไปถึงร้อยละ 70 แล้ว

อย่างไรก็ตาม งบบางเรื่องก็เป็นเรื่องดี อย่างเช่น งบสร้างสะพานข้ามเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปหลายจังหวัด ที่ประชาชนเรียกร้องมาอย่างยาวนาน และล่าสุดต้องขอบคุณ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่ลงพื้นที่ไปดู และล่าสุด ก็พบว่า ได้มีการตั้งบฯออกแบบสะพานข้ามเขื่อนสิริกิติ์แล้ว อย่างนี้เรียกว่าเป็นการพัฒนาบ้านเมืองแบบมืออาชีพ

“พรรคเศรษฐกิจไทยจะติดตาม ตรวจสอบงบประมาณปี 66 อย่างเต็มที่ เราจะเอาแว่นขยายไปส่องงบแต่ละตัว เราไม่อยากเห็นการใช้งบประมาณประเทศที่ฟุ่มเฟือย ไม่ประหยัด ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมือง การใช้งบที่ไม่คุ้มค่า เกินความจำเป็น ไม่ใช่ตั้งไปแล้วใช้ไม่ได้หรือไม่ได้ใช้ งบกระจุก ไม่กระจาย หรือมีเงินทอนอะไรบ้าง อย่าไปยัดเยียดโครงการที่ประชาชนเขาไม่ต้องการ อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่า เราก็มองว่าปี 66 มีความจำเป็นต้องมีงบประมาณใข้ เพราะประเทศต้องมีการพัฒนา แต่เราจะติดตามตรวจสอบสอบอย่างเข้มงวดแน่นอน” นายบุญสิงห์ กล่าวย้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดการอภิปรายงบประมาณปี 2566 ของ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทยนั้น ทางด้าน ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และรักษาการเลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย ได้นั่งฟังและให้กำลังใจ ส.ส.ที่อภิปรายจนเสร็จสิ้นตามลำดับ


กำลังโหลดความคิดเห็น