เปิดชื่อ 13 อบจ. จ่อรับโอน รพ.สต.ปี 65 แค่ภารกิจ-สถานที่ แต่? ไร้ชื่อบุคลากรสาธารณสุข “สมัครใจ” ประสงค์ถ่ายโอนตาม พบส่วนใหญ่แจ้งขอยกเลิก-เกษียณ-อยู่ในช่วงช่วยราชการ-อยากกลับบ้านเกิด แถมเพิ่มเงื่อนไขขอถ่ายโอนปีหน้า ส่วนประเด็นงบ ยันถ่ายโอน 3,366 แห่ง ตามมติ ก.ก.ถ. พ่วงแผนแก้ปมจัดสรรงบ ให้ อบจ.แปรญัติงบปี 66 เพิ่ม 2,854 แห่ง หรือของบกลางปี 66 หรือให้ สธ. จ้างบุคลากรช่วยราชการไปพลางก่อน อย่างน้อย 1 ปี
วันนี้ (24 พ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีหนังสือแจ้ง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย รวมถึงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 49 แห่ง
เพื่อแจ้งความคืบหน้า ต่อการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่ อบจ.
โดยย้ำถึงให้คงการถ่ายโอน รพ.สต. จำนวน 3,384 แห่ง บุคลากร จำนวน 12,000 คน ให้แก่ อบจ. เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอน
ล่าสุด เตรียมรายงาน ก.ก.ถ. ชุดใหญ่ ปลายเดือนนี้ ภายหลังมีการขอปรับโครงสร้างกรอบอัตรากำลังบุคลากร และเรื่อง รายงานปัญหาในการถ่ายโอน
กรณี อบจ. 13 แห่ง ได้แก่ อบจ.กาฬสินธุ์ อบจ.ขอนแก่น อบจ.ชัยภูมิ อบจ.นครศรีธรรมราช อบจ.เพชรบูรณ์ อบจ.แพร่ อบจ.มหาสารคาม อบจ.ร้อยเอ็ด อบจ.ลำพูน อบจ.สกลนคร อบจ.สุพรรณบุรี อบจ.หนองบัวลำภู และ อบจ.อำนาจเจริญ
มีหนังสือขอให้ “ยกเลิกการถ่ายโอนไปสังกัด อปท. จำนวน 108 คน และเกษียณราชการ 6 คน กรณีขอช่วยราชการ 96 คน และ กรณีขอถ่ายโอนอย่างมีเงื่อนไข 33 คน โดยจะขอถ่ายโอนในปี 2566”
โดยเหตุผลที่ไม่สมัครใจ เช่น เป็นข้าราชการที่จะเกษียณ ในปี พ.ศ. 2565 / เป็นข้าราชการที่ไม่ได้ถ่ายโอนมาจากจังหวัดเนื่องจากอยู่ต่างจังหวัด คาดหวังว่า กระทรวงสาธารณสุข จะขอปรับไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดบ้านเกิด
“ให้ อบจ.ทั้ง 13 แห่ง ได้รับการถ่ายโอน รพ.สต. แต่ไม่มีบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข “สมัครใจ” ถ่ายโอนมายัง อบจ. โดยให้อบจ. ทั้ง 13 แห่ง รับโอน รพ.สต. ที่ไม่มีบุคลากรประสงค์จะถ่ายโอน”
ขณะที่ ผู้แทนอนุกรรมการ และฝ่ายเลขานุการ (สปน.) จะลงพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ เพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหากรณีนี้ร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ยืนยันจะมีการถ่ายโอน รพ.สต. 3,366 แห่ง ให้กับ อบจ. 49 แห่ง ตามมติ ก.ก.ถ.
ส่วนกรณี สำนักงบประมาณ เตรียมจัดสรรงบอุดหนุน ที่ ครม.เห็นชอบ จำนวน 1,476.8 ล้านบาท ในส่วนของ 512 รพ.สต. ที่ถ่ายโอนให้แก่ อบจ. บุคลากร 2,860 ตำแหน่ง และมี รพ.สต. ที่สำนักงบประมาณ ยังไม่ได้จัดสรรอีก 2,854 แห่ง ให้อบจ. เสนอขอแปรญัตติเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
หาก อบจ. เสนอขอแปรญัตติเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ หรือได้รับการจัดสรรงบประมาณ ไม่ครบถ้วนให้ดำเนินการ ให้ อบจ. เสนอของบกลางปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 หรืองบประมาณอื่นใด รวมถึงให้ สธ. ดำเนินการให้บุคลากรสามารถช่วยราชการไปพลางก่อน อย่างน้อย 1 ปี
ขณะที่การถ่ายโอน รพ.สต. ให้ อบจ. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้ฝ่ายเลขานุการ แจ้ง อบจ. ที่มีความประสงค์จะขอรับถ่ายโอน รพ.สต. ดำเนินการตามขั้นตอนและกรอบระยะเวลาการประเมินความพร้อม ตามแนวทางการดำเนินการที่ประกาศ ก.ก.ถ. กำหนด
กรณี อบจ. ที่ผ่านการประเมินความพร้อมแล้ว สามารถยื่นขอรับถ่ายโอน รพ.สต. เพิ่มเติมได้ ตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศ ก.ก.ถ. กำหนด โดยไม่ต้องประเมินความพร้อมอีก แต่หากมีผลการประเมินความพร้อมระดับดีมากและต้องการยื่นขอรับถ่ายโอน รพ.สต. มากกว่าหลักเกณฑ์ ที่ประกาศ ก.ก.ถ. กำหนด จะต้องแจ้งยื่นประเมินความพร้อมขอรับถ่ายโอน รพ.สต. ใหม่
ส่วน โครงสร้างบุคลากรของ สอน. และ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนให้กับ อปท. ทุกรูปแบบ มีกรอบอัตรากำลังรูปแบบเดียวกัน ตามที่ สธ. เสนอ ให้ สธ. พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และการประเมินความพร้อม อปท. ในการจัดการด้านสาธารณสุข เพื่อถ่ายโอนภารกิจให้แก่เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลต่อไป
ในรายงานยังมีมติ อ.ก.พ. กระทรวงสาธารณสุข ที่พิจารณาดำเนินการด้านบริหารงานบุคคลกรณีการถ่ายโอน โดยอนุมัติให้ “ยุบ สอน. และ รพ.สต.” ที่ถ่ายโอนให้แก่ อบจ. ตามมติคณะรัฐมนต 15 มี.ค. 2565 จำนวน 512 แห่ง และอนุมัติถ่ายโอนบุคลากร 3,642 คน
อนุมัติหลักการถ่ายโอนบุคลากรที่มีความประสงค์ไปยัง อบจ. ที่เหลือจำนวน 2,854 แห่ง บุคลากร 17,430 คน ตามมติคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอน ด้านสาธารณสุขให้แก่อปท. โดยให้ดำเนินการในขั้นนิติบัญญัติ (รัฐสภา) หรือขั้นปรับเปลี่ยนงบประมาณ (แปรญัตติเพิ่ม-ลด)
ยังเตรียม เสนอ ก.ถ.ถ. เพื่อพิจารณา บุคลากรที่มีความประสงค์ถ่ายโอน แต่ขอเปลี่ยนความประสงค์ไม่ประสงค์ ไม่ถ่ายโอนไปยัง อบจ. เนื่องจากกระบวนการถ่ายโอนบุคลากรยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ
รวมทั้ง การจ้างงานประเภทที่ไม่ได้จ้างด้วยเงินงบประมาณ ก.ก.ถ. จะพิจารณาแนวทางการจ้างงานกรณีพิเศษสำหรับบุคลากรดังกล่าว เพื่อให้เกิดการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง